ประเภทโครงการที่ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก

642 8 มิ.ย. 2566

ประเภทโครงการที่ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก 

 

​1. โครงการขนาดใหญ่ (Full-Sized Project: FSP)

               เป็นโครงการที่มีขนาดใหญ่ในวงเงินงบประมาณมากกว่า 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งต้องเป็นโครงการที่มีความสอดคล้องกับแผนการสนับสนุนของ GEF และเป็นโครงการที่มีความสำคัญระดับต้นของประเทศ โดยอาจเป็นโครงการระดับประเทศหรือระดับภูมิภาคที่มีหลายประเทศเข้าร่วมดำเนินโครงการ ทั้งนี้ GEF Council จะเป็นผู้พิจารณาอนุมัติข้อเสนอโครงการ (Project Identification Form: PIF) และภายหลังจากเอกสารโครงการได้รับการอนุมัติจาก GEF Council แล้ว หน่วยงานเจ้าของโครงการร่วมกับ GEF Agency จะต้องร่วมกันจัดเอกสารโครงการฉบับสมบูรณ์ (Full Project Document: FPD) และจัดส่งให้ GEF Secretariat ภายใน 12 เดือน เพื่อให้ GEF CEO พิจารณาอนุมัติภายใน 18 เดือน

2. โครงการขนาดกลาง (Medium-Sized Project: FSP)

               เป็นโครงการที่ขอรับการสนับสนุนจาก GEF ในวงเงินไม่เกิน 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะต้องเป็นโครงการที่มีลำดับความสำคัญของประเทศ

โดยเปิดโอกาสให้โครงการหลากหลายสาขามีกระบวนการพิจารณาที่รวดเร็วกว่าโครงการขนาดใหญ่ โดย GEF CEO ได้รับมอบอำนาจในการอนุมัติข้อเสนอโครงการ (Project Identification Form: PIF) และภายหลังจากเอกสารโครงการได้รับการอนุมัติจาก GEF CEO แล้ว หน่วยงานเจ้าของโครงการร่วมกับ GEF Agency จะต้องร่วมกันจัดเอกสารโครงการฉบับสมบูรณ์ (Full Project Document: FPD) และจัดส่งให้ GEF Secretariat ภายใน 8 เดือน เพื่อให้ GEF CEO พิจารณาอนุมัติภายใน 12 เดือน

3. โครงการขนาดเล็กโดยชุมชน (Small Grant Programme: SGP)

               โครงการขนาดเล็กโดยชุมชนของ GEF (GEF Small Grants Programme: GEF SGP) เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับการสาธิตแนววิถีของชุมชน

สร้างศักยภาพและการเรียนรู้ให้ชุมชนรวมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โครงการ เพื่อให้เห็นการมีส่วนร่วมของชุมชนในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยมีคณะทำงาน

ภายใต้ UNDP (Central Program Management Team) ณ นครนิวยอร์ก ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและสนับสนุนด้านวิชาการ และมีสำนักงานบริการโครงการ

แห่งสหประชาชาติ (United Nations Office for Project Services) ณ นครนิวยอร์ก เป็นองค์กรบริหารและจัดสรรงบประมาณในการดำเนินโครงการตามแผนสนับสนุนโครงการขนาดเล็กของ GEF

               โครงการขนาดเล็กของ GEF ดำเนินการโดยใช้วิธีการกระจายความรับผิดชอบ (Decentralization) ผ่านคณะกรรมการกำกับแผนงานระดับชาติ (National Steering Committee) และผู้ประสานงานระดับประเทศ (National Coordinator) ซึ่ง GEF กำหนดให้สำนักงาน UNDP ประจำประเทศนั้นๆ (UNDP Country Office) ให้การสนับสนุนด้านการประสานงานและการบริหารจัดการโครงการ

4. โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศในการอนุวัติตามพันธกรณีอนุสัญญาที่เกี่ยวข้อง (Enabling Activities)

               GEF ให้การสนับสนุนแก่ประเทศสมาชิกในการจัดเตรียมแผนยุทธศาสตร์ แผนงาน และการทำรายงาน เพื่อให้ประเทศสมาชิกสามารถอนุวัติตามพันธกรณีของอนุสัญญาระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อมได้ กิจกรรมเสริมสร้างขีดความสามารถในการอนุวัติตามพันธกรณีด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศที่ GEF ให้การสนับสนุน ประกอบด้วย อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (CBD) อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) อนุสัญญาสต็อกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (POPs) และอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท (Minamata) และอนุสัญญาสหประชาชาติ

ว่าด้วยการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย (UNCCD)