Basel

353 5 ก.ค. 2566

อนุสัญญาบาเซลอนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนและการกำจัดของของเสียอันตราย
(Basel Convention on the Control of Transboundary Movements of Hazardous Wastes and Their Disposal) 

 

 

อนุสัญญาบาเซลฯ เป็นมาตรการด้านกฎหมายระหว่างประเทศในการควบคุมการเคลื่อนย้ายของเสีย และเป็นเครื่องมือหรือกลไกการพัฒนาให้เกิดการจัดการของเสียอันตรายในระดับสากล มีเป้าหมายหลักสำคัญ 3 ประการ ได้แก่

1) การลดการเกิดของเสียอันตรายและการส่งเสริมการจัดการของเสียอันตรายอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไม่ว่าสถานที่บำบัดกำจัดจะอยู่ทีใดก็ตาม

2) การจำกัดการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายยกเว้นเมื่อการเคลื่อนย้ายนั้น เป็นไปตามหลักการของการจัดการของเสียอันตรายอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

3) ระบบกฎหมายที่ใช้กับกรณีที่การเคลื่อนย้ายข้ามแดนเมื่อได้รับอนุญาตให้มีการเคลื่อนย้าย 

 

โดยอนุสัญญาบาเซล มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้าในเรื่องการลักลอบนำเข้าขยะและขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องขยะพลาสติกและขยะอันตราย โดยมีการดำเนินการต่าง ๆ คือ การจัดตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกหรือขยะอิเล็กทรอนิกส์เพื่อดูแลเรื่องขยะพลาสติก และขยะอันตราย รวมถึงการห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวน 428 รายการ ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องกำหนดให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2563 ประกาศ ณ วันที่ 11 สิงหาคม 2563 และประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องกำหนดให้ขยะเทศบาลเป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้าและห้ามนำผ่านราชอาณาจักร พ.ศ. 2562 ประกาศ ณ วันที่ 29 พฤษภาคม 2562 รวมถึงมีเป้าหมายที่จะใช้พลาสติกจากการรีไซเคิลภายในประเทศ ร้อยละ 100 สำหรับนำมาใช้ในอุตสาหกรรมรีไซเคิลซึ่งสอดคล้องกับ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 - 2573 ในการรีไซเคิลพลาสติกในประเทศร้อยละ 100 

 

สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันส่งมอบตราสารการยอมรับข้อแก้ไขอนุสัญญาบาเซลฯ (Ban Amendment) ให้สํานักงานกฎหมาย (Office ofLegal Affairs) ของสหประชาชาติเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 และมีผลบังคับใช้กับประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2566 (อนุสัญญาบาเซลฯ <คลิก>)