มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM)

613 5 ก.ค. 2566

 

มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM)

สหภาพยุโรปจะจัดเก็บภาษี CBAM เพื่อให้สินค้าที่นำเข้ามาในสหภาพยุโรปต้องถูกคิดรวมต้นทุนที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในกระบวนการผลิตด้วย เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตในสหภาพยุโรปและเพื่อกระตุ้นให้ประเทศอื่นๆ สนใจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น โดยสหภาพยุโรปเป็นประเทศแรกที่จัดเก็บภาษีก๊าซเรือนกระจกก่อนข้ามพรมแดนสำหรับสินค้านำเข้า (carbon border adjustment mechanism) หรือ CBAM ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่สหภาพยุโรปใช้มาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสร้างตลาดแลกเปลี่ยนก๊าซเรือนกระจกขึ้นในปี 2005 (Emission Trading System : ETS) ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าภายในอียูสูงขึ้น ผู้ผลิตบางส่วนจึงย้ายฐานการผลิตออกไปนอกสหภาพยุโรปแล้วส่งสินค้ากลับเข้ามา

ทั้งนี้ สถานการณ์ของ CBAM ปัจจุบันที่ประชุมระหว่างรัฐสภายุโรป คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป และคณะกรรมาธิการยุโรป มีข้อสรุปให้ขยายขอบเขตการบังคับใช้มาตรการ CBAM จากเดิมมีผลบังคับใช้กับสินค้านำเข้า 5 รายการ ปรับเพิ่มเป็น 7 รายการ ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า ไฮโดรเจน
และสินค้าปลายน้ำ (downstream) บางรายการ อาทิ น็อตและสกรูที่ทำจากเหล็กและเหล็กกล้า ทั้งนี้ รัฐสภายุโรปและคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป มอบหมายให้คณะกรรมาธิการยุโรปดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองภายใต้มาตรการ CBAM โดยกำหนดเป้าหมายให้เริ่มมีผลบังคับใช้ในบางข้อบท ในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ซึ่งจะมีผลให้ผู้นำเข้าสินค้าทั้ง 7 รายการต้องจัดทำรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม (indirect emissions) และจะมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบในวันที่
1 มกราคม 2569 ผู้นำเข้าสินค้าต้องซื้อและส่งมอบใบรับรอง CBAM และอาจมีการเพิ่มรายการสินค้านำเข้าภายใต้มาตรการ CBAM มากขึ้น ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับมาตรการ CBAM ได้แก่

     1) การเข้าร่วมหารือกับผู้เชี่ยวชาญองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) เพื่อแสดงข้อห่วงกังวลถึงความสอดคล้องของมาตรการ CBAM กับหลักเกณฑ์ภายใต้ความตกลงของ WTO เนื่องจากมีความเสี่ยงว่ามาตรการ CBAM จะเป็นมาตรการที่เข้าข่ายการเลือกปฏิบัติของสหภาพยุโรป เนื่องจากกลุ่มประเทศกลุ่มประเทศสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (The European Free Trade Association: EFTA) จะได้รับการยกเว้นสำหรับมาตรการ CBAM และประเทศที่มีมาตรการกลไกราคาคาร์บอน (Carbon prizing) จะได้ประโยชน์ทดแทน นอกจากนี้ สหภาพยุโรปจะเป็นผู้พิจารณารายงานการนำเข้าสินค้าของผู้ประกอบการ โดยหากพิจารณาแล้วเห็นว่าข้อมูลในรายงานดังกล่าวไม่น่าเชื่อถือ สหภาพยุโรปจะพิจารณาจากข้อมูลภายในกลุ่มสหภาพยุโรป ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคทางการค้าได้ ทั้งนี้ ประเทศสมาชิก WTO อาทิ สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐอินเดีย ประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และประเทศไทย อยู่ระหว่างการหารือเพื่อเตรียมยื่นหนังสือต่อ WTO เกี่ยวกับความเห็นต่อการบังคับใช้มาตรการ CBAM ของสหภาพยุโรป

     2) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับมาตรการ CBAM อาทิ การจัดตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) มีดำเนินการร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการภาคเอกชน