การดำเนินงานของไทยภายใต้กรอบความร่วมมือ IPEF
ภาพรวมกรอบความร่วมมือ IPEF
- เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบถ้อยแถลงว่าด้วยกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก เพื่อความเจริญรุ่งเรือง (Statement on Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity) เพื่อแสดงเจตนารมณ์ของไทยที่จะเข้าร่วมกับสหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆ ที่จะเจรจาจัดทำกรอบความร่วมมือ IPEF ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือพหุภาคีเพื่อยกระดับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน เสริมสร้างความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนในการรับมือกับประเด็นท้าทายต่าง ๆ อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจดิจิทัล และการเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) โดยไม่ถือเป็นกรอบความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA)
- นายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้ร่วมเปิดตัว (launch) การดำเนินงานเรื่องดังกล่าว ผ่านระบบประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นด้วย
- มีประเทศที่เข้าร่วมกรอบความร่วมมือ IPEF รวม 14 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย สหรัฐฯเวียดนาม และฟิจิ
- กรอบความร่วมมือ IPEF ประกอบด้วย 4 เสาความร่วมมือหลัก (Pillars) ได้แก่
(1) การค้า (Trade) โดยมีประเด็นที่เกี่ยวกับด้านสิ่งแวดล้อม คือ การส่งเสริมการค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
(2) ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) โดยมีประเด็นที่เกี่ยวกับด้านสิ่งแวดล้อม คือ ทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นแหล่งวัตถุดิบของห่วงโซ่อุปทาน
(3) เศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Clean Economy) โดยมีประเด็นข้อเสนอความร่วมมือ 3 ประเด็น ได้แก่
3.1) Incentives for Clean Energy and Security
3.2) Industrial, Urban and Rural Decabonization
3.3) Methane Emission Reduction and Carbon Removal
(4) เศรษฐกิจที่เป็นธรรม (Fair Economy)
- ความคาดหวังหรือผลลัพธ์ของการเข้าร่วมกรอบความร่วมมือ IPEF คือ ความร่วมมือพหุภาคีด้านเศรษฐกิจและการค้าในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การเสริมสร้างขีดความสามารถ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดี กิจกรรม/โครงการความร่วมมือ และการสนับสนุนด้านการเงิน โดยจะไม่มีประเด็นเกี่ยวข้องกับการกีดกันทางการค้า
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- กระทรวงการต่างประเทศได้มอบหมายให้อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ ทำหน้าที่ Overall Lead การเจรจาภายใต้กรอบ IPEF
- หน่วยงานที่ทำหน้าที่ผู้เจรจาหลัก (Pillar Lead Negotiators) และหน่วยงานสนับสนุน ในแต่ละเสาความร่วมมือ (Pillars) มีดังนี้
1) การค้า: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก โดยมีหน่วยงานสนับสนุน ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทำหน้าที่หน่วยงานเจรจาหลักข้อบทย่อยสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีการเจรจาหารือในประเด็นการส่งเสริมการค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
2) ห่วงโซ่อุปทาน: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก โดยมีหน่วยงานสนับสนุน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศ และ ทส. ซึ่งเกี่ยวข้องในประเด็นทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นแหล่งวัตถุดิบในห่วงโซ่อุปทาน
3) เศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม: สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก โดยปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มอบหมาย เลขาธิการ สผ. ผู้เจรจาหลัก มีหน่วยงานสนับสนุน ได้แก่ กระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการต่างประเทศ
4) เศรษฐกิจที่เป็นธรรม: สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก โดยมีหน่วยงานสนับสนุน ได้แก่ สำนักงานป้องกันและปรามปรามการฟอกเงิน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงานกฤษฎีกา และกระทรวงการต่างประเทศ
- กระทรวงการต่างประเทศ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด - แปซิฟิก (Indo - Pacific Economic Framework: IPEF) ซึ่งมีรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน ผู้แทนหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการเจรจาในแต่ละเสาความร่วมมือเป็นรองประธาน และหน่วยงานสนับสนุนจากกระทรวงต่าง ๆ ร่วมเป็นคณะกรรมการ
ขั้นตอนการดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือ IPEF
1) การแสดงเจตนารมณ์การเข้าร่วมกรอบความร่วมมือ IPEF โดยนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้ร่วมเปิดตัว (launch) การดำเนินงานเรื่องดังกล่าว ผ่านระบบประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2565
2) การหารือขอบเขตความร่วมมือ IPEF ผ่านการจัดทำร่างเอกสารกรอบความร่วมมือและร่างถ้อยแถลงระดับรัฐมนตรีภายใต้ 4 เสาความร่วมมือหลัก ซึ่งสหรัฐอเมริกาขอให้แต่ละประเทศหุ้นส่วนพิจารณากำหนดผู้เจรจาหลักในภาพรวม (Overall Lead) และผู้เจรจาหลักสำหรับแต่ละเสาความร่วมมือ (Pillar Lead Negotiators) เพื่อหารือในรายละเอียดร่วมกับประเทศหุ้นส่วนต่อไป ซึ่งจะใช้ระยะเวลาประมาณ 12 – 18 เดือน
3) การประกาศเปิดการเจรจากรอบความร่วมมือภายใต้ 4 เสาความร่วมมืออย่างเป็นทางการ
- โดยมีการเปิดเจรจาครั้งที่ 1 เมื่อปี 2565 ณ เครือรัฐออสเตรเลีย
- ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนมีนาคม 2566 ณ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย
- ครั้งที่ 3 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์
- ครั้งที่ 4 เมื่อเดือนกรกฏาคม 2566 ณ สาธารณรัฐเกาหลี
4) การเปิดให้หุ้นส่วนพิจารณาแจ้งความสนใจเข้าร่วมเสาความร่วมมือภายใต้กรอบ IPEF อย่างเป็นทางการ