FTA คืออะไร?

4216 6 มิ.ย. 2566

 

ที่มา: https://www.rannthai.com/

 

FTA หรือ เขตการค้าเสรี (Free Trade Area : FTA) การรวมกลุ่มเศรษฐกิจโดยมีเป้าหมายเพื่อลดภาษีศุลกากรระหว่างกันภายในกลุ่มลง ให้เหลือน้อยที่สุด หรือเป็น 0 % และใช้อัตราภาษีปกติที่สูงกว่ากับประเทศนอกกลุ่ม การทำเขตการค้าเสรีในอดีตมุ่งในด้านการเปิดเสรีด้านสินค้า (goods) โดยการลดภาษีและอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษีเป็นหลัก แต่เขตการค้าเสรีในระยะหลังๆ นั้น รวมไปถึงการเปิดเสรีด้านบริการ (services) และการลงทุนด้วย นอกจากนี้การทำความตกลงฯ กับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหภาพยุโรป หรือ สหรัฐฯ ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเหล่านี้จะผนวกเงื่อนไขทางสังคมและการรักษาสภาวะแวดล้อมเช่นการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้ใช้แรงงาน และการควบคุมมลภาวะเข้าไว้ในข้อตกลงด้วย

 

เขตการค้าเสรีที่สำคัญของไทย

เขตการค้าเสรีที่มีมูลค่าสูงในทางการค้า ได้แก่ เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) เขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ไทย-ญี่ปุ่น อาเซียน-เกาหลี เป็นต้น

 

                             ที่มา: https://asiapowerwatch.com/

 

ประโยชน์และผลกระทบของการทำ FTA 
ในภาพรวมแล้วการทำ FTA มีทั้งผลดีและผลกระทบ แต่คู่เจรจาได้พยายามศึกษารวบรวมข้อมูล และเจรจาเพื่อให้ต่างฝ่ายต่างพอใจ ได้รับผลประโยชน์มากที่สุด หรือได้รับผลกระทบน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม สภาพแวดล้อมเฉพาะ และสภาพแวดล้อมทั่วไปของคู่เจรจาจะแตกต่างกันไปในแต่ละ FTA หากจะวิเคราะห์แต่ละด้านของแต่ละ FTA จะมีบางกลุ่มอุตสาหกรรม บางกลุ่มสินค้าได้ประโยชน์ บางกลุ่มสินค้าไม่ได้รับผลกระทบ สำหรับกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบ การเจรจาก็สามารถ
ยืดเวลาในการลดหรือยกเว้นภาษีออกไปจนกว่าภาคการผลิตจะสามารถปรับตัวได้ หรือภาครัฐจะเข้ามาช่วยเหลือ เยียวยา ชดเชยผลกระทบเหล่านั้นในภาพรวม
การทำ FTA น่าจะมีประโยชน์ดังนี้

     1. ลดอุปสรรคทางการค้าทั้งที่เป็นอุปสรรคทางภาษี และที่มิใช่ภาษี

     2. เพิ่มมูลค่าในทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิก

     3.เพิ่มโอกาสการส่งออก ได้ตลาดใหม่ และขยายตลาดเดิม

     4. เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

     5. สร้างอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจ การเมือง

     6. ให้ความร่วมมือทางด้านศุลกากร การแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อมูลการลักลอบ หลีกเลี่ยง และสินค้าอันตราย สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์

     7. พัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจ และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

     8. ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอื่น ๆ และเทคโนโลยีการผลิต

     9. สร้างความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น

 

                                                                                                                                 ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
                                                                                                                                         กรมศุลกากร