ความเป็นมาของความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทย กับ EFTA

1276 2 มิ.ย. 2566

 

 

 ความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป

 

ความเป็นมา

การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement : FTA) ไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association : EFTA) หรือ  EFTA (ประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศ คือ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์) ถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขยายโอกาสทางการค้า ทั้งสินค้าและบริการ
ของไทยและการลงทุนกับกลุ่มสมาชิก EFTA ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อสูง มีความโดดเด่นด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งสามารถสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และจะช่วยขจัดความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในโครงการให้สิทธิพิเศษทางภาษี (GSP) ของ EFTA ซึ่งปัจจุบัน ไทยยังคงได้รับสิทธิพิเศษดังกล่าวจากสวิตเซอร์แลนด์และนอร์เวย์

ไทยและ EFTA ได้เคยเจรจา FTA กันมาแล้วในอดีต เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อปี 2548 (17 ปีมาแล้ว) แต่การเจรจาได้หยุดไป จนกระทั่งปี 2562 ฝ่าย EFTA ได้ส่งหนังสือแจ้งความประสงค์
ในการฟื้นเจรจา FTA
กับไทยอีกครั้ง

 

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2565 ไทยกับ EFTA ได้เปิดการเจรจา ณ เมืองบอร์การ์เนส สาธารณรัฐไอซ์แลนด์ โดยคาดว่าการเจรจาจะแล้วเสร็จ ภายในปี 2567 โดยสถานะล่าสุด
ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจรจา FTA กับฝ่าย EFTA ในช่วงระหว่างวันที่ 28-30 มิถุนายน 2565 ณ กรุงเทพมหานคร แบ่งเป็นการเจรจา 16 หัวข้อ ได้แก่ (1) การค้าสินค้า
(2) กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าและความร่วมมือด้านศุลกากร (3) การอำนวยความสะดวกทางการค้า (4) มาตรการเยียวยาทางการค้า (5) มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช
(6) มาตรการอุปสรรคเทคนิคต่อการค้า 
(7) การค้าบริการ (8) การลงทุน (9) พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (10) ทรัพย์สินทางปัญญา (11) การแข่งขัน (12) การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ
(13) การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน (14) ความร่วมมือด้านเทคนิคและการเสริมสร้างศักยภาพ (15) ข้อบททั่วไป ข้อบทสุดท้ายและข้อบทเชิงสถาบัน และ (16) การระงับข้อพิพาท