APEC คืออะไร?

1010 22 มี.ค. 2566

ความเป็นมา

          เป็นการรวมตัวระหว่างเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในภูมิภาค ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2532 (ค.ศ. 1989) โดยมีเป้าหมายหลักคือ การส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุน รวมถึงความร่วมมือในด้านมิติสังคมและการพัฒนาด้านอื่น ๆ อาทิ ความร่วมมือด้านการเกษตรการส่งเสริมบทบาทสตรีในเศษฐกิจ การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และการพัฒนาด้านสาธารณสุข เพื่อนำไปสู่การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมยั่งยืน และมั่นคงของประชาชนในภูมิภาค

 

      
      เอเปคมีสมาชิกรวม 21 เขตเศรษฐกิจ  ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ฮ่องกง นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทย จีนไทเป ชิลี เม็กซิโก ปาปัวนิวกินี เปรู รัสเซีย และเวียดนาม
 
      เป้าหมายการดำเนินงาน  ในปัจจุบัน “วิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ. 2040 (APEC Putrajaya Vision 2040)” ซึ่งเป็นเอกสารกำหนดทิศทางของเอเปคในอีก 20 ปีและ “แผนปฏิบัติการเอาทีอารอ (Aotearoa Plan of Actions)” ซึ่งเป็นแผนปฏิบัติการเพื่อนำวิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ. 2040 ไปปฏิบัติให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม
 
      หลักการของเอเปค  คือ เป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นทางเศรษฐกิจที่สมาชิกเอเปคสนใจ โดยการดำเนินงานยึดหลักฉันทามติ ความเท่าเทียมกัน และผลประโยชน์ร่วมกันของสมาชิก และในการดำเนินการใด ๆ ต้องคำนึงถึงความแตกต่างของระบบเศรษฐกิจ สังคม และระดับการพัฒนาของแต่ละเขตเศรษฐกิจ โดยไม่มีข้อผูกพันทางกฎหมาย
 
      วัตถุประสงค์ที่สำคัญของเอเปค  คือ การพัฒนาและส่งเสริมระบบการค้า สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลก ด้วยการลดอุปสรรคและอำนวยความสะดวกทางด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิก โดยให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (General Agreement on Tariffs and Trade: GATT) ขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) นอกจากนี้ยังส่งเสริมความร่วมมือทางด้านการเงินการคลังในการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจ