ความตกลงพหุภาคีระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม (Multilateral Environmental Agreements: MEAs)

1548 17 ก.ค. 2566

ปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ปัญหาบางอย่างมีผลกระทบเฉพาะที่และจำกัดอยู่ในท้องถิ่น และในประเทศเท่านั้น แต่ปัญหาหลายด้านมีผลกระทบในบริเวณกว้างที่ไม่จำกัดอาณาเขตเพียงประเทศใดประเทศหนึ่ง จึงเกิดเป็นปัญหาข้ามประเทศ เนื่องจากระบบนิเวศของโลกมีความเชื่อมโยงกัน เมื่อเกิดปัญหาขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องกัน โดยเฉพาะปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษทางทะเล นอกจากนี้ระบบโลกาภิวัตน์ทำให้มีการค้าขายและการคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศได้ ทำให้เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติประเภทต่างๆเกิดการลักลอบค้าสิ่งมีชีวิตระหว่างประเทศอย่างผิดกฎหมาย การลักลอบนำเข้าสารพิษข้ามแดน ฯลฯ และที่ผ่านมาประเทศไทยได้ดำเนินความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีมาอย่างต่อเนื่อง

ข้อตกลงพหุภาคีด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสามารถแบ่งกลุ่มหลักตามสภาพปัญหาและลักษณะของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง ข้อตกลงดังกล่าวมีทั้งที่มีผลบังคับทางกฎหมาย ได้แก่ อนุสัญญา พิธีสาร ข้อตกลง และที่ไม่มีผลบังคับทางกฎหมายแต่เป็นเพียงคำมั่นสัญญาทางการเมืองที่มีการรับรองโดยรัฐบาล ได้แก่ ปฏิญญา แผนต่างๆ โดยในแต่ละกลุ่มประกอบด้วยความร่วมมือหลักที่สำคัญ ดังนี้

 


กลุ่มที่ 1 ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ประกอบด้วย 

  • อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity: CBD)
  • พิธีสารคาร์ตาเฮน่าว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ (Cartagena Protocol on Biosafety)
  • พิธีสารเสริมนาโงยา-กัวลาลัมเปอร์ ว่าด้วยการรับผิดและชดใช้ตามพิธีสารคาร์ตาเฮน่าว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ(The Nagoya – Kuala Lumpur Supplementary Protocol on Liability and Redress to the Cartagena Protocol on Biosafety)
  • พิธีสารนาโงยาว่าด้วยการเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรม และการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการใช้ประโยชน์ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม (The Nagoya Protocol on Access to Genetic Resources and the Fair and Equitable Sharing of Benefits Arising from their Utilization to the Convention on Biological Diversity)
  • อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์(Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora: CITES)
  • อนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำหรืออนุสัญญาแรมซาร์(Ramsar Convention on Wetlands)
  • อนุสัญญาเกี่ยวกับการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของโลก(Convention Concerning the Protection of the World Cultural and Natural Heritage: WHC)
  • อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย (United Nations Convention to Combat Desertification: UNCCD)
  • สนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยทรัพยากรพันธุกรรมพืชเพื่ออาหารและการเกษตร (International Treaty on Plant Genetic Resources for Food and Agriculture: ITPGR)

ท่านสามารถคลิกดูรายละเอียดเพิ่มเติม  กลุ่มทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ (mnre.go.th)


 

กลุ่มที่ 2 สารเคมี ประกอบด้วย

  • อนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายและการกำจัดของเสียอันตรายข้ามแดน(Basel Convention on the Control of Transboundary Movements of Hazardous Waste and their Disposal: BASEL)
  • อนุสัญญารอตเตอร์ดัมว่าด้วยกระบวนการแจ้งข้อมูลสารเคมีล่วงหน้าสำหรับสารเคมีอันตรายและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์บางชนิดในการค้าระหว่างประเทศ (Rotterdam Convention on the Prior Informed Consent Procedure for Certain Hazardous Chemicals and Pesticides in International Trade: PIC)
  • อนุสัญญากรุงสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (Stockholm Convention on Persistent Organic Pollutants: POPs)
  • อนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท (Minamata Convention on Mercury)

ท่านสามารถคลิกดูรายละเอียดเพิ่มเติม กลุ่มสารเคมี (mnre.go.th)


 

กลุ่มที่ 3 ภูมิอากาศ ประกอบด้วย

  • พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol)
  • ความตกลงปารีส (Paris Agreement)
  • อนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยการคุ้มครองบรรยากาศชั้นโอโซน (Vienna Convention for the Protection of the Ozone Layer)
  • พิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน (Montreal Protocol on Substance that Deplete the Ozone Layer)

ท่านสามารถคลิกดูรายละเอียดเพิ่มเติม กลุ่มภูมิอากาศ (mnre.go.th)


 

กลุ่มที่ 4 ทะเลและชายฝั่ง ประกอบด้วย

  • อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea: UNCLOS)
  • อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันมลภาวะจากเรือ (International Convention on the Prevention of Pollution from Ships: MARPOL)
  • อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการเตรียมการ การปฏิบัติการและความร่วมมือในการป้องกันและขจัดมลพิษน้ำมัน (International Convention on Oil Pollution Preparedness, Response and Cooperation: OPRC)
  • อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันมลภาวะทางทะเลเนื่องจากการทิ้งวัสดุเหลือใช้และวัสดุอย่างอื่น พ.ศ. ๒๕๑๕ (Convention on the Prevention of Marine Pollution by Dumping of Wastes and Other Matter, 1972)
  • อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความรับผิดทางแพ่งสำหรับความเสียหายจากภาวะมลพิษจากน้ำมัน พ.ศ. ๒๕๓๕ (International Convention on Civil Liability for Oil Pollution Damage, 1992)

ท่านสามารถคลิกดูรายละเอียดเพิ่มเติม กลุ่มทะเลและชายฝั่ง (mnre.go.th)

 


 

คำจำกัดความที่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงพหุภาคี และขั้นตอนการเข้าเป็นประเทศภาคี

 

ข้อตกลง (Agreement) หมายถึง ข้อตกลงระหว่างประเทศมี 2 ลักษณะ คือ ข้อตกลงที่มีลักษณะเป็นข้อผูกพันตามกฎหมายและไม่เป็นข้อผูกพันตามกฎหมาย

อนุสัญญา (Convention) หมายถึง หนังสือสัญญาทำกันระหว่างหลายประเทศที่มาประชุมกัน และจัดวางบทบัญญัติเป็นกฎเกณฑ์ของกฎหมายขึ้น

พิธีสาร (Protocol) หมายถึง ข้อตกลงระหว่างประเทศอย่างหนึ่ง โดยมากเป็นพิธีสารต่อท้ายสนธิสัญญาหรืออนุสัญญา หรือพิธีสารแก้ไขเพิ่มเติมสนธิสัญญาหรืออนุสัญญานั้น

ปฏิญญา (Declaration) หมายถึง ข้อตกลงระหว่างประเทศ หรือ ปฏิญญาฝ่ายเดียว ซึ่งก่อสิทธิและหน้าที่ให้แก่ประเทศอื่น หรือ ปฏิญญาซึ่งรัฐหนึ่งแถลงให้รัฐอื่นทราบความเห็นและเจตนาของตนในเรื่องบางเรื่อง (สถาบันการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, ๒๕๔๓)

การลงนามรับรอง (Signing) การลงนามรับรองในอนุสัญญาฯ นานาชาติถือว่าเป็นเพียงการแสดงความสนใจที่จะแสดงบทบาทในประชาคมโลกเท่านั้น ไม่ใช่การเข้าเป็นภาคี ส่วนการเข้าเป็นภาคีเป็นการแจ้งอย่างเป็นทางการว่ามีนโยบายและพร้อมจะร่วมมือกับนานาชาติในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง

การให้สัตยาบัน (Ratification) หมายถึง การมอบสัตยาบันสาร หรือหนังสือแสดงความยินยอมที่จะผูกพันตามข้อตกลงหลังจากลงนามในข้อตกลงแล้ว

สัตยาบันสาร (Instrument of Ratification) หมายถึง หนังสือแสดงความยินยอมที่จะผูกพันตามข้อตกลงหลังจากลงนามในข้อตกลงแล้ว

ภาคยานุวัติ (Accession) หมายถึง การให้คำยินยอมที่จะผูกพันตามข้อตกลงในภายหลังโดยที่มิได้ให้มีการลงนามในข้อตกลงในขั้นต้น

 

การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา พิธีสาร และข้อตกลง จึงอาจทำได้โดยการให้สัตยาบัน (Ratification) และภาคยานุวัติ (Accession) สามารถกล่าวได้ว่าการให้สัตยาบันเป็นการเข้าเป็นภาคีโดยมีส่วนร่วมตั้งแต่การเจรจาเพื่อยกร่างอนุสัญญา พิธีสาร หรือข้อตกลงแล้วลงนามรับรองไว้ และเมื่อมีการเตรียมการทุกอย่างพร้อมที่จะปฏิบัติตามข้อผูกพันจึงให้สัตยาบัน ในกรณีของประเทศไทยมีตัวอย่างเช่น พิธีสารเกียวโต ส่วนการภาคยานุวัตินั้นเป็นการเข้าเป็นภาคีโดยไม่มีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น แต่อาจมีความสนใจและเล็งเห็นถึงประโยชน์ในการเข้าเป็นภาคีภายหลังจากการลงนามรับรองหมดเขตไปแล้ว เช่น กรณีที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นประเทศภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย (UNCCD) โดยการภาคยานุวัติ เป็นต้น

กรรมสารสุดท้าย (Final Act) หมายถึง คำแถลงหรือคำสรุปอย่างเป็นทางการจากเรื่องราวการประชุม คำแถลงนี้จะระบุสนธิสัญญาและอนุสัญญาที่ได้มีการลงนามกันอันเป็นผลจากการประชุมและในบางกรณีจะผนวกความเห็นหรือข้อเสนอแนะหรือความปรารถนาจากที่ประชุมไว้ด้วย ผู้แทนที่มีอำนาจเต็มเท่านั้นจะเป็นผู้ลงนามในกรรมสารสุดท้ายในตอนสุดท้ายของการประชุม

 

ในกรณีของประเทศไทย การทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศนั้น  ตามระบุในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐มาตรา ๑๗๘ ที่ว่า: พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพสัญญาสงบศึกและสัญญาอื่นกับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทย มีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศหรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญาและหนังสือสัญญาอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจสังคมหรือการค้าหรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวางต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาในการนี้รัฐสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องหากรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าวให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบหนังสือสัญญาอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจสังคมหรือการค้าหรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวางตามวรรคสองได้แก่หนังสือสัญญาเกี่ยวกับการค้าเสรีเขตศุลกากรร่วมหรือการให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติหรือทำให้ประเทศต้องสูญเสียสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมดหรือบางส่วนหรือหนังสือสัญญาอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติให้มีกฎหมายกำหนดวิธีการที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและได้รับการเยียวยาที่จำเป็นอันเกิดจากผลกระทบของการทำหนังสือสัญญาตามวรรคสามด้วยเมื่อมีปัญหาว่าหนังสือสัญญาใดเป็นกรณีตามวรรคสองหรือวรรคสามหรือไม่คณะรัฐมนตรีจะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ได้ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับคำขอ

 

นอกจากนี้อนุสัญญา พิธีสาร และข้อตกลงจะมีผลบังคับเมื่อเงื่อนไขที่ระบุไว้ครบถ้วน เช่น ต้องมีจำนวนประเทศภาคีมากกว่าจำนวนที่กำหนด เป็นต้น