ภูมิหลัง |
องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เป็นองค์การชํานาญพิเศษที่ใหญ่ที่สุดองค์กรหนึ่งของสหประชาชาติ จัดตั้งขึ้นตามมติของสหประชาชาติในปี พ.ศ. 2488 เพื่อเป็นองค์กรที่มีบทบาทนำในด้านอาหาร เกษตร ป่าไม้ และประมง โดยประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ 49 ของ FAO เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2490 ปัจจุบัน มีสมาชิก 190 ประเทศทั่วโลก |
วัตถุประสงค์ |
เพื่อพัฒนามาตรฐานอาหารและสารอาหาร รวบรวม วิเคราะห์ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านโภชนาการ อาหาร การเกษตร ป่าไม้และประมง ให้ประเทศต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการกำหนดนโยบายการเกษตร |
กลไกการทำงานของ FAO |
การพัฒนาและการดําเนินงานความร่วมมือด้านการประมงของประเทศสมาชิกอยู่ภายใต้คณะกรรมการด้านการประมง (Committee on Fisheries) ซึ่งจะมีการประชุมในทุก 2 ปี เพื่อหารือกรอบความร่วมมือ แผนงาน และงบประมาณที่ประเทศสมาชิกมีความสนใจร่วมกัน และเห็นว่ามีความจําเป็นที่จะต้องดําเนินการเพื่อการพัฒนาการประมงที่ยั่งยืนของโลก ภายใต้คณะกรรมการด้านการประมง ยังมีคณะกรรมการย่อย (Sub-Committee) อีก 2 คณะ คือ คณะกรรมการด้านการค้าสินค้าสัตว์น้ำ และคณะกรรมการด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ |
บทบาทของไทย |
FAO ได้จัดทำกรอบความร่วมมือกับประเทศไทย (Country Programming Framework: CPF) เพื่อจัดสรรงบประมาณในการจัดทำโครงการด้านวิชาการตามความต้องการของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้เสนอขอ รวมถึงโครงการระดับประเทศ ภูมิภาค หรือนานาชาติ ที่ FAO เห็นว่ามีความเกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์กับประเทศไทย FAO จะมีการเชิญให้ประเทศไทยเข้าร่วมด้วย |