อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ (WHC)

1503 17 มี.ค. 2566

อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ (Convention Concerning the Protection of the World Cultural and Natural Heritage: WHC) จัดตั้งขึ้นเพื่อ การคุ้มครองและอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติที่ทรงคุณค่าโดดเด่นของโลก ทั้งแหล่งที่มนุษย์สร้างขึ้นและแหล่งธรรมชาติ เพื่อเป็นมรดกตกทอดแก่คนรุ่นหลังอนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2518 โดยประเทศไทยมิได้ลงนามในพิธีสารฯ แต่เข้าภาคยานุวัติเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2530 และมีผลบังคับใช้กับประเทศไทยเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2530 ปัจจุบัน มีสมาชิกเป็นภาคีอนุสัญญา จำนวน 195 ประเทศ (ข้อมูล ณ กรกฎาคม 2566)

 

พันธกรณีที่ต้องดำเนินการ

เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศภาคีในการกำหนดมาตรการที่เหมาะสมทั้งด้านนโยบายและวางแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และจัดการมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติเพื่อสงวนรักษาคุ้มครองและส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อมวลมนุษยชาติให้คงอยู่ต่อไป

 

คณะกรรมการ/คณะอนุกรรมการอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกฯ ของไทย

ประเทศไทยมีคณะกรรมการที่กำกับดูแลและเกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกฯ ได้แก่

  1. คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก (มีรองนายกรัฐมนตรีตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธาน) มีหน้าที่พิจารณาเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติต่อคณะกรรมการมรดกโลกเพื่อบรรจุไว้ในบัญชีมรดกโลกรวมทั้งพิจารณาปรับปรุงแหล่งมรดกดังกล่าวให้เหมาะสมกับสถานการณ์ร่วมมือดำเนินตามมาตรการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติที่ได้รับการขึ้นบัญชีในบัญชีมรดกโลกกำกับและดูแลการปฏิบัติตามข้อบัญญัติการเข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติของโลก รวมทั้งจัดทำรายงานผลการดำเนินงานเพื่อเสนอที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญของยูเนสโกตามระยะเวลาที่กำหนด
  2. คณะอนุกรรมการมรดกโลกทางธรรมชาติ (มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธาน) เสนอแหล่งมรดกทางธรรมชาติ พิจารณาปรับปรุงเพิ่มเติม กำกับดูแลประสานงาน ยกร่างรายงาน และพิจารณาดำเนินการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมรดกโลกทางธรรมชาติ
  3. คณะอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรม (มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นประธาน)เสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมพิจารณาปรับปรุงเพิ่มเติม กำกับดูแลประสานงาน ยกร่างรายงานและพิจารณาดำเนินการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมรดกโลกทางวัฒนธรรม
  4. คณะอนุกรรมการมรดกโลกที่เกี่ยวข้องกับเขตแดน (มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน) เสนอความเห็นและท่าทีของไทยต่อคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกคณะอนุกรรมการมรดกโลกทางธรรมชาติและคณะอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องเรื่องเขตแดน

 

ความก้าวหน้าการดำเนินการของประเทศไทย

1. ประกาศใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินงานตามอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ พ.ศ. 2559 เพื่อเป็นกลไกการกำหนดนโยบายและดำเนินงานให้สอดคล้องกับอนุสัญญาดังกล่าว รวมทั้งการประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในการคุ้มครองและการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติของประเทศอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพให้คงไว้ซึ่งคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล

2. จัดตั้งคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกคณะอนุกรรมการและคณะทำงานเพื่อกำกับและเสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครอง ป้องกัน และอนุรักษ์มรดกโลกที่สอดคล้องตามพันธกรณีของอนุสัญญาฯ รวมทั้งกำหนดท่าทีของไทยต่อการดำเนินงานตามพันธกรณีของอนุสัญญาฯ

3. กำหนดแผนงาน มาตรการและกลไกในการคุ้มครองป้องกัน และอนุรักษ์ แหล่งมรดกโลกของราชอาณาจักร

4. สนับสนุนและส่งเสริมการนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ ในการนำเสนอเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก

5. จัดทำรายงานและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินงานในแหล่งมรดกโลก ตามข้อมติคณะกรรมการมรดกโลก หรือคำร้องขอของศูนย์มรดกโลกรวมทั้งจัดทำรายงานเพื่อรายงานสถานะและการดำเนินงานในพื้นที่แหล่งมรดกโลกของราชอาณาจักรไทยต่อศูนย์มรดกโลกอาทิ การจัดทำรายงานสถานภาพการอนุรักษ์กลุ่มดงพญาเย็น-เขาใหญ่ การจัดทำเอกสารบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative list) แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันเพื่อเสนอขึ้นทะเบียนเป็นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติและประสานความร่วมมือกับหน่วยงาน องค์กรระหว่างประเทศ ในการบริหารจัดการแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ และพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการนำเสนอเป็นมรดกโลก รวมทั้งจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติและพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการนำเสนอเป็นมรดกโลกของประเทศไทย ได้แก่ พื้นที่เมืองโบราณศรีเทพ และพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน

6. ปัจุจบันประเทศไทยมีแหล่งมรดกโลกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ รวมทั้งสิ้น 6 แหล่ง ได้แก่

 

(1) นครประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา Historic City of Ayutthaya ขึ้นทะเบียนมรดกโลกในปี ค.ศ. 1991 (พ.ศ. 2534)

(2) เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร Historic Town of Sukhothai and Associated Historic Towns ขึ้นทะเบียนมรดกโลกในปี ค.ศ.1991 (พ.ศ. 2534)

(3) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง Thungyai-Huai Kha Khaeng Wildlife Sanctuaries ขึ้นทะเบียนมรดกโลกในปี ค.ศ. 1991 (พ.ศ. 2534)

(4) แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง Ban Chiang Archaeological Site ขึ้นทะเบียนมรดกโลกในปี ค.ศ. 1992 (พ.ศ.2535)

(5) กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ Dong Phayayen-Khao Yai Forest Complex ขึ้นทะเบียนมรดกโลกในปี ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548)

(6) กลุ่มป่าแก่งกระจาน Kaeng Krachan Forest Complex ขึ้นทะเบียนมรดกโลกในปี ค.ศ.2021 (พ.ศ. 2564)

 

 

7. ศูนย์มรดกโลกได้บรรจุพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน (The Andaman Sea Nature Reserves of Thailand) ไว้ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) แล้วและได้จัดส่งร่างเอกสารนำเสนอ (Nomination Dossier) พื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน (รอบแรก) ให้ศูนย์มรดกโลกพิจารณา โดยอยู่ระหว่างดำเนินการปรับเเก้ไขเอกสารฯ ตามผลการตรวจประเมินรอบแรก เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการฯ เเละคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป