อนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะในการเป็นถิ่นที่อยู่ของนกน้ำอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (The Convention on Wetlands of International Importance, especially as Waterfowl Habitat) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า อนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) ซึ่งตั้งชื่อตามสถานที่จัดประชุมเพื่อให้มีการรับรองอนุสัญญาฉบับนี้ คือ ที่นครแรมซาร์ประเทศอิหร่านอนุสัญญาแรมซาร์มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2518 โดยประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาลำดับที่ 110 โดยการให้ภาคยานุวัติเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2541 ปัจจุบันอนุสัญญาฯ นี้มีประเทศภาคีสมาชิกจำนวน 172 ประเทศทั้งหมด (ข้อมูล ณ กรกฎาคม 2566)พันธกรณีที่ต้องดำเนินการ
คณะกรรมการ/คณะอนุกรรมการ อนุสัญญาฯ ของไทย คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในการประชุมครั้งที่ 4/2560 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 มีมติเห็นชอบให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ เพื่อให้มีความเหมาะสม ครอบคลุมหน่วยงานสำคัญที่เกี่ยวข้อง สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุปัน และเพื่อให้มีการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีอำนาจหน้าที่ (1) พิจารณาให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อการดำเนินงานของประเทศด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างชาญฉลาดและยั่งยืน ที่สอดคล้องกับพันธกรณีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ ข้อมติของสมัชชาภาคีคืออนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ และความตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง (2) เสนอกฎระเบียบ นโยบายและแผนแห่งชาติ รวมทั้งมาตรการและแนวทางการอนุรักษ์คุ้มครอง ฟื้นฟู และบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศไทย (3) สนับสนุน กำกับ ดูแล และติดตามตรวจสอบการดำเนินงานในพื้นที่ชุ่มน้ำให้เป็นไปตามพันธกรณีของอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ ความตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกฎระเบียบ นโยบายและแผนแห่งชาติ มาตรการ และแนวทางการอนุรักษ์ คุ้มครอง ฟื้นฟู และบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศไทย (4) พิจารณาและให้ความคิดเห็นต่อประเด็นและท่าทีการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ การประชุมคณะกรรมการทบทวนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการประชุมอื่นๆ ภายใต้อนุสัญญาฯ รวมทั้งพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อการจัดการทำรายงานแห่งชาติ (National report) (5) สนับสนุนความร่วมมือ หรือความเป็นพันธมิตร กับหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งจากภายในและต่างประเทศ
ความก้าวหน้าการดำเนินงานของไทย ประเทศไทยเสนอพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับประเทศเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (แรมซาร์ไซด์) ซึ่งในปัจจุบัน ประเทศไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ จำนวน 15 แห่ง โดยพื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่าง ได้ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 ซึ่งเป็นลำดับที่ 15 ของประเทศไทย และเป็นลำดับที่ 2420 ของทะเบียนรายนามพื้นที่ชุ่มน้ำที่มี นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทยได้เสนอรายงานแห่งชาติ (National Report) ซึ่งเป็นผลการดำเนินงานด้านพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศไทย ต่อสำนักเลขาธิการอนุสัญญาฯ เพื่อใช้ในการวิเคราะห์และจัดทำแนวทาง และเป้าหมายการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างยั่งยืนในระดับสากลต่อไป |