อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES)

6938 17 มี.ค. 2566

อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (Convention on International Trade on Endangered Species of Wild Fauna and Flora: CITES) หรือ อนุสัญญาไซเตส (CITES) จัดทำขึ้นเพื่อการคุ้มครองสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์โดยใช้ระบบควบคุมการค้าระหว่างประเทศ ทั้งในรูปของการส่งออกและนำเข้าสัตว์ป่า พืชป่า และผลิตภัณฑ์ รวมถึงการนำเข้ามาจากทะเล

อนุสัญญาไซเตส (CITES) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2518 โดยประเทศไทยลงนามในอนุสัญญาฯ ในปี พ.ศ. 2518 และให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2526 โดยที่มีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 90 วันหลังจากลงนามแล้ว ส่งผลให้อนุสัญญาฯ มีผลใช้บังคับต่อประเทศไทยเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2526ปัจจุบันมีประเทศที่เป็นภาคีอนุสัญญาฯ จำนวน 184 ประเทศ (สถานะ ณ กรกฎาคม 2566) โดยประเทศไทยเข้าเป็นภาคีลำดับที่ 80

 

พันธกิจที่ต้องดำเนินการ

1. กำหนดมาตรการที่ต้องใช้บังคับตามข้อกำหนดของอนุสัญญาฯ และห้ามทำการค้าตัวอย่างพันธุ์สัตว์ และพืชที่เป็นการละเมิดอนุสัญญาฯ รวมทั้งการกำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน โดยสมาชิกต้องมีมาตรการในการบังคับใช้อนุสัญญาฯ (CITES) มิให้มีการค้าสัตว์ป่า พืชป่าที่ผิดระเบียบอนุสัญญาฯ ต้องมีมาตรการลงโทษผู้ค้า ริบของกลาง และส่งของกลางกลับแหล่งกำเนิด กรณีทราบแหล่งกำเนิด

 

2. ตั้งด่านตรวจสัตว์ป่า พืชป่าระหว่างประเทศ เพื่อควบคุมและตรวจสอบการค้าสัตว์ป่า พืชป่ากำหนดให้มีด่านสำหรับนำออก และต้องระมัดระวังการขนถ่ายตัวอย่างพันธุ์เพื่อให้เกิดความอยู่รอดมากที่สุด

 

3. ต้องจัดทำรายงานเสนอต่อสำนักเลขาธิการไซเตส ได้แก่

3.1 รายงานประจำปี เกี่ยวกับข้อมูลนำ เข้า-ส่งออก และนำ ส่งต่อไปซึ่งชนิดพืชและสัตว์ตามอนุสัญญาฯและ

3.2 รายงานประจำ 2 ปี เกี่ยวกับระเบียบข้อบังคับ และมาตรการที่ปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ เพื่อเสนอในการประชุม กรรมาธิการทุกๆ 2 ปี ( Conference of the Party )

 

4. แต่งตั้งคณะทำงาน 2 ฝ่าย ได้แก่

4.1 คณะทำงานฝ่ายปฏิบัติการ (Management Authority ) เป็นผู้รับผิดชอบปฏิบัติงานและติดต่อ ประสานงานกับสำนักเลขาธิการไซเตส เพื่อพิจารณาข้อกำหนดแบ่งเจ้าหน้าที่ด้านพืชและสัตว์ มีอำนาจใน การออกใบอนุญาตไซเตส จัดทำรายงานตามอนุสัญญาฯ จัดทำและเผยแพร่ข่าวสาร ประสานงานและจัด ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เจ้าหน้าที่ศุลกากร และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งนี้ ประเทศไทยมี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมประมง และกรมวิชาการเกษตร ร่วมกันเป็น CITES Management Authority มีหน้าที่กำกับดูแลชนิดพันธุ์ในบัญชี CITES ในกลุ่ม สัตว์ป่า ปลาและสัตว์น้ำ และพืช ตามลำดับ

4.2 คณะทำงานฝ่ายวิชาการ (Scientific Authority ) เป็นผู้รับผิดชอบให้ข้อมูลที่ปรึกษาด้านวิชา การด้านพืช และสัตว์ แก่คณะทำงานฝ่ายปฏิบัติการ

 

5. ภาคีมีสิทธิเสนอข้อเสนอเพื่อเปลี่ยนแปลง/เลื่อนอันดับชนิดสัตว์และพืชในบัญชีหมายเลข 1, 2 และ 3 ต่อ สำนักเลขาธิการไซเตส และจะมีการพิจารณาลงมติอนุมัติในการประชุมที่จะจัดขึ้นทุก 2 ปี (Conference of the Party)

* สำหรับชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ CITES ควบคุม จะระบุไว้ในบัญชีหมายเลข 1,2,3 (Appendix I, II, II) ของอนุสัญญาฯ ได้กำหนดหลักการไว้ว่า

ชนิดพันธุ์ในบัญชีหมายเลข 1 เป็นชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ ห้ามค้าโดยเด็ดขาด เนื่องจากใกล้จะสูญพันธุ์ ยกเว้นเพื่อการศึกษา วิจัยและเพาะพันธุ์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องได้รับความยินยอมจากประเทศที่จะนำเข้าเสียก่อน ประเทศส่งออกจึงจะออกใบอนุญาตส่งออกให้ได้ โดยจะต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของชนิดพันธุ์นั้นๆด้วย

ชนิดพันธุ์ในบัญชีหมายเลข 2 เป็นชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ยังไม่ถึงกับใกล้จะสูญพันธุ์ จึงยังอนุญาตให้ค้าได้ แต่ต้องมีการควบคุมไม่ให้เกิดความเสียหาย หรือลดปริมาณลงอย่างรวดเร็วจนถึงจุดใกล้จะสูญพันธุ์ โดยประเทศที่จะส่งออกต้องออกหนังสืออนุญาตให้ส่งออกและรับรองว่าการส่งออกแต่ละครั้งจะไม่กระทบกระเทือนต่อการดำรงอยู่ของชนิดพันธุ์นั้นๆในธรรมชาติ

ชนิดพันธุ์ในบัญชีหมายเลข 3 เป็นชนิดพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายของประเทศใดประเทศหนึ่งแล้ว ขอความร่วมมือประเทศภาคีให้ช่วยดูแลการนำเข้า คือจะต้องมีหนังสือรับรองการส่งออกจากประเทศถิ่นกำเนิด

 

ความก้าวหน้าการดำเนินการของประเทศไทย

1. จัดตั้งคณะทำงานฝ่ายปฏิบัติการและคณะทำงานฝ่ายวิทยาการ เพื่อควบคุมการค้าสัตว์ป่าระหว่างประเทศประกอบด้วย (1) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รับผิดชอบด้านสัตว์ป่า (2) กรมประมง รับผิดชอบด้านปลาและสัตว์น้ำ และ (3) กรมวิชาการเกษตร รับผิดชอบด้านพืช

2. มีการตราและปรับปรุงกฎหมาย เพื่อให้มีมาตรการในการควบคุมการครอบครอง การค้า การนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่าน ซึ่งสัตว์ป่า ซากสัตว์ป่า และผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น ได้แก่ พระราชบัญญัติงาช้าง พ.ศ. 2558 เพื่อควบคุมการครอบครองและการค้างาช้างที่ได้มาจากสัตว์พาหนะ (ช้างบ้าน) เพื่อมิให้ที่ผิดกฎหมาย (งาช้างแอฟริกา และงาช้างป่า) เข้ามาปะปนกับงาช้างบ้าน ในระบบการค้างาช้างบ้านภายในประเทศ และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562

3. จัดตั้งด่านตรวจสัตว์ป่า ด่านตรวจสัตว์น้ำ และด่านตรวจพืช ครอบคลุมทางผ่านทั่วประเทศ เพื่อควบคุมและตรวจสอบทางการค้า รวมถึงการเฝ้าระวังและป้องกันการลักลอบสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมายร่วมกับเจ้าหน้าที่ศุลกากร ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และชุมชนตามแนวชายแดนด้วย

4. ได้ปรับปรุงกฎหมายภายใต้ พรบ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ที่เกี่ยวกับสัตว์ป่าตามอนุสัญญาไซเตส เพื่อกำหนดให้เป็น “สัตว์ป่าควบคุม” ให้มีการแจ้งครอบครอง ขออนุญาตเพาะพันธ์ และขออนุญาตค้าภายในประเทศของสัตว์บางชนิดตามอนุสัญญาไซเตส เพื่อให้มีมาตรฐานการดูแลและจัดสวัสดิภาพ รวมถึงเป็นการสนับสนุนให้มีการเพาะพันธุ์และการค้าภายในประเทศอย่างเป็นระบบมากขึ้น ได้แก่ ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าควบคุม พ.ศ. 2565 และประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์ป่าควบคุมที่ต้องแจ้งการครอบครอง พ.ศ. 2565