อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (CBD)

6561 17 มี.ค. 2566

อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity: CBD) เป็นข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศที่มีเจตนารมณ์ในการสร้างความร่วมมือในด้านการอนุรักษ์ และการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพให้เกิดความยั่งยืนและเป็นธรรม นับเป็นเป็นอนุสัญญาหลักที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ และมีบทบัญญัติที่ครอบคลุมกว้างขวางทั้งในแง่พื้นที่ที่ใช้บังคับและในแง่เนื้อหาสาระเกี่ยวกับการอนุรักษ์และจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนและการแบ่งปันประโยชน์อย่างเท่าเทียมและยุติธรรมในการเข้าถึงและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติระหว่างรัฐภาคีโดยเนื้อหาของอนุสัญญาฯ เป็นกรอบนโยบายให้แต่ละประเทศภาคีจัดทำนโยบาย มาตรการ และแผนการดำเนินงานอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพภายในประเทศของตนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้และเหมาะสม

 

อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2536 โดยประเทศไทยลงนามในอนุสัญญาฯ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2535 และให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2546 และอนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้ต่อประเทศไทยเมื่อวันที่ 29มกราคม พ.ศ. 2547 ปัจจุบันอนุสัญญาฯ นี้มีประเทศภาคีสมาชิกจำนวน 196 ประเทศทั้งหมด โดยประเทศไทยเข้าเป็นภาคีลำดับที่ 196(ข้อมูล ณ กรกฎาคม 2566)

 

พันธกรณีที่ต้องดำเนินการ

- จัดทำกลยุทธ์แนวทางและแผนปฏิบัติการระดับชาติเพื่ออนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้และเหมาะสมผสานการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนเข้ากับแผนงานของหน่วยงานและภาคกิจกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องให้มากที่สุด (มาตรา 6)

 

- จำแนกระบุและติดตามตรวจสอบองค์ประกอบความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศที่สำคัญต่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน จำแนกระบุและติดตามตรวจสอบกระบวนการ และประเภทของกิจกรรมซึ่งมีหรือมีแนวโน้มว่าจะมีผลกระทบต่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน (มาตรา 7)

 

- อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ โดยจัดตั้งระบบพื้นที่คุ้มครองหรือพื้นที่ภายใต้มาตรการพิเศษและกำหนดมาตรการเฉพาะด้านควบคุมดูแลและจัดการองค์ประกอบที่สำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ ควบคุมดูแลและจัดการกิจกรรมที่อาจเป็นภัยต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ฟื้นคืนสภาพและฟื้นคืนระบบนิเวศที่เสื่อมโทรมและชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม และกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่น จัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์และการปลดปล่อยสิ่งมีชีวิตที่ผ่านการดัดแปลงทางพันธุกรรมสงวนรักษาและดำรงไว้ซึ่งความรู้และขนบประเพณีของชุมชนพื้นเมืองและท้องถิ่น (มาตรา 8)

 

- อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนอกถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ โดยวางมาตรการบำรุงและฟื้นฟูชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์และนำกลับคืนสู่ถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติเดิม (มาตรา 9)

 

- ใช้ประโยชน์องค์ประกอบของความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน โดยจัดทำมาตรการแผนระดับชาติเพื่ออนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน สนับสนุนชุมชนท้องถิ่นให้จัดทำและปฏิบัติตามมาตรการแก้ไขฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมโทรม และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาวิธีการใช้ประโยชน์ทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืน (มาตรา 10)

 

- ดำเนินมาตรการเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน โดยใช้มาตรการที่เหมาะสมทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นแรงจูงใจ จัดวางโครงการส่งเสริมการศึกษา การสร้างความตระหนัก การวิจัย การฝึกอบรม และนำกระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมการมีส่วนร่วมของสาธารณชนมาใช้กับโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ (มาตรา 11, 12 และ 14)

 

- ร่วมมือกับประเทศภาคีอื่นในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารความหลากหลายทางชีวภาพและส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการและวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน (มาตรา 17, 18)

 

- แบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างยุติธรรมและเท่าเทียม โดยพิจารณาเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยต่อการเข้าถึงและการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ยุติธรรม (มาตรา 15, 16)

 

- สนับสนุนทางการเงินและแรงจูงใจสำหรับการอนุวัตอนุสัญญาฯ ในระดับชาติตามสมรรถนะ (มาตรา 20)

 

- จัดทำและเสนอรายงานเกี่ยวกับการอนุวัติอนุสัญญาฯ ต่อสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ (มาตรา 26)

 

คณะกรรมการ/อนุกรรมการอนุสัญญาฯ ของไทย

โดยดำเนินงานผ่านคณะกรรมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ ที่ประกอบด้วยคณะอนุกรรมการ 6 คณะ ได้แก่

 

1) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ

2) คณะอนุกรรมการข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ

3) คณะอนุกรรมการกฎหมายความหลากหลายทางชีวภาพ

4) คณะอนุกรรมการบูรณาการการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ

5) คณะอนุกรรมการวิชาการความหลากหลายทางชีวภาพ

6) คณะอนุกรรมการความหลากหลายทางชีวภาพด้านการประสานท่าทีเจรจาและความร่วมมือระหว่างประเทศ

 

การดำเนินการของประเทศไทย

1. ได้จัดทำ (1) นโยบาย มาตรการ และแผนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นกรอบและทิศทางการดำเนินงานในภาพรวมของประเทศ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2541-2545) ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2546 - 2550) ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2551 - 2555) (2) แผนแม่บทบูรณาการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2558 -2564 และ (3) แผนปฏิบัติการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2560 – 2564

 

2. อยู่ระหว่างการจัดทำแผน ปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพระดับประเทศ (National Biodiversity Strategies and Action Plans: NBSAPs) เพื่อเสนอต่อสำนักเลขาธิการอนุสัญญาฯ รวมทั้งจัดทำเป้าหมายระดับชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (National Targets) ฉบับใหม่ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระยะยาว (Long-term Strategy) ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาภายใต้โครงการ Global Biodiversity Framework Early Action Support (GBF EAS Project) และโครงการ Climate Coastal and Marine Biodiversity (CCMB)

 

3. จัดทำ (ร่าง) พระราชบัญญัติความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. ... โดยมีลักษณะของกฎหมายกลางที่ครอบคลุมการส่งเสริมและสนับสนุนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน การแบ่งปันผลประโยชน์อย่างยุติธรรมและเท่าเทียม การป้องกันและลดผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งจากชนิดพันธุ์ต่างถิ่นและสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ตลอดจนการป้องกัน เยียวยา หรือแก้ไขในกรณีที่เกิดผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและพิธีสารภายใต้อนุสัญญาฯ ทั้งสามฉบับ รวมถึงข้อตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องและสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ

 

4. บูรณาการความหลากหลายทางชีวภาพในภาคส่วนต่างๆ เช่นภาคเกษตร ภาคประมง ภาคการท่องเที่ยว ภาคการผลิตและการแปรรูป และโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น ปัจจุบันประเทศไทยได้เริ่มดำเนินงานในเรื่องการบูรณาการความหลากหลายทางชีวภาพในภาคการเกษตร ซึ่งมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการศึกษารวบรวมแนวทางการบูรณาการความหลากหลายทางชีวภาพในภาคการเกษตร และตัวชี้วัดความหลากหลายทางชีวภาพในภาคเกษตรเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้กับประเทศต่างๆ

 

5. เพิ่มประสิทธิภาพและขยายเชื่อมต่อเครือข่ายคลังข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย จัดทำระบบคลังข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย หรือ Thailand Biodiversity Information Facility (TH-BIF) ทำหน้าที่เป็น “ศูนย์กลางข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ” ตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2561 - 2562 เพื่อเชื่อมต่อเครือข่ายคลังข้อมูล และข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยในระบบคลังข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และปรับปรุงระบบให้มีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐาน และมีความสมบูรณ์ในการให้บริการข้อมูลและครอบคลุมความต้องการการใช้งานโดยมีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิจัย นักวิชาการในพื้นที่ทั่วประเทศที่สามารถเข้าถึงเครือข่ายอินเตอร์เน็ต

 

6. การขับเคลื่อนงานด้านวิทยาศาสตร์ - นโยบายด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และบริการจากระบบนิเวศ ผ่านการดำเนินโครงการประเมินระบบนิเวศระดับชาติ (National Ecosystem Assessment: NEAs) มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะและความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมินมูลค่าที่เกิดจากการบริการของระบบนิเวศในระดับประเทศ  เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการกำหนดนโยบายด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ โดยมีประเทศเข้าร่วมโครงการรวม 12 ประเทศ อาทิ สาธารณรัฐโคลอมเบีย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เกรเนดา ราชอาณาจักรกัมพูชา และประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนจาก UNEP-WCMC และแผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับสากล (IKI)

 

7. การประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ สมัยที่ 15 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ช่วงที่ 2 ระหว่างวันที่ 7 - 19 ธันวาคม 2565 ณ นครมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ได้มีการรับรอง (Adopt) กรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework) และขอให้ภาคีเลือกหรือจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายและเป้าประสงค์ของกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลฯ เพื่อใช้จัดทำเป้าหมายชาติและแผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศภายใต้กรอบงานดังกล่าว เพื่อนำเสนอในการประชุม CBD COP 16 ซึ่งจะจัดขึ้นช่วงปลายปี พ.ศ. 2567 ณ สาธารณรัฐทูร์เคีย