อนุสัญญามินามาตะว่าด้วยการจัดการสารปรอท (Minamata)

1571 17 มี.ค. 2566

อนุสัญญามินามาตะว่าด้วยสารปรอท (The Minamata Convention on Mercury) มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากการปลดปล่อยสารปรอทและสารประกอบปรอทจากกิจกรรมของมนุษย์สู่อากาศ แหล่งน้ำ และดิน โดยประกอบด้วย 35 ข้อบท และ 5 ภาคผนวก มีสาระมุ่งเน้นการจัดการเพื่อควบคุมและลดการใช้สารปรอท และการปลดปล่อยสารปรอทจาก(1) แหล่งอุปทานสารปรอทและการค้า (2) ผลิตภัณฑ์ที่มีสารปรอทเป็นส่วนประกอบ (3) กระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมที่มีการใช้สารปรอท (4) การทำเหมืองแร่ทองคำขนาดเล็กที่มีการใช้สารปรอท (5) การปลดปล่อยสารปรอทสู่อากาศ (6) การปลดปล่อยสารปรอทสู่แหล่งน้ำ และดิน (7) การเก็บกักสารปรอท (8) กากของเสียปรอท และ (9) พื้นที่ที่ปนเปื้อนสารปรอท นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นในประเด็นการเสริมสร้างความตระหนัก การศึกษาวิจัย การติดตามตรวจสอบ การแลกเปลี่ยนข้อมูล และการให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุน ด้านเทคนิควิชาการ และด้านเทคโนโลยี

อนุสัญญามินามาตะฯ ได้มีการรับรอง (adoption) และเปิดให้มีการลงนาม (signing) ในอนุสัญญามินามาตะฯ ในการประชุม Conference of Plenipotentiaries on the Minamata Convention on Mercury ระหว่างวันที่ 10 – 11 ตุลาคม 2556 ณ เมือง Kumamoto/Minamata ประเทศญี่ปุ่น โดยประเทศไทย ภาคยานุวัติเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2560 ปัจจุบันประเทศสมาชิกเป็นภาคีอนุสัญญาฯ จำนวน 143 ประเทศ (ข้อมูล ณ กรกฎาคม 2566)

 

พันธกรณีที่ประเทศไทยต้องดำเนินการ 

  • ไม่ให้แต่ละภาคีอนุญาตให้มีการทำเหมืองแร่ปรอทปฐมภูมิ ที่ยังมิได้มีการดำเนินการภายในอาณาเขตประเทศตน ณ วันที่อนุสัญญานี้มีผลใช้บังคับสำหรับประเทศตน พร้อมทั้งระบุคลังปรอทหรือสารประกอบปรอท และแหล่งอุปทานปรอท ที่ก่อให้เกิดการสะสมของปรอทหรือสารประกอบปรอท ได้แก่ เมอร์คิวรี่ (I) คลอไรด์ เมอร์คิวรี่ (II) ออกไซด์ เมอร์คิวรี่ (II)  ซัลเฟต เมอร์คิวรี่ (II) ไนเตรต ซินนาบาร์ เมอร์คิวรี่ ซัลไฟด์ (ข้อบทที่ 3)
  • กำหนดให้มีการลดใช้ (Phase down)และยกเลิก (Phase out) การผลิตและการนำเข้าส่งออกของผลิตภัณฑ์ที่เติมปรอทในปริมาณที่เกินกว่าที่อนุสัญญามินามาตะฯ กำหนด (ข้อบทที่ 4)
  • ไม่ให้แต่ละภาคีอนุญาตให้มีการใช้ปรอทในกระบวนการผลิตตามที่ระบุไว้ในส่วนที่ 1 ของภาคผนวก บี หลังจากวันที่กำหนดให้มีการเลิก เว้นแต่กรณีที่ภาคีได้ขึ้นทะเบียนขอยกเว้น ตามข้อบทที่ 6 ทั้งนี้ภาคีต้องดำเนินมาตรการจำกัดการใช้ปรอทหรือสารประกอบปรอทในกระบวนการตามที่ระบุไว้ในส่วนที่ 2 ของภาคผนวก บี
  • ภาคีอาจขึ้นทะเบียนการยกเว้นหนึ่งรายการหรือมากกว่า จากวันที่กำหนดให้มีการเลิกตามภาคผนวก เอ และภาคผนวก บี เรียกว่า “การยกเว้น” โดยแจ้งต่อสำนักเลขาธิการเป็นลายลักษณ์อักษร (ข้อบทที่ 6)
  • หากภาคีพิจารณาแล้วเห็นว่ามีการทำเหมืองแร่ทองคำพื้นบ้านและขนาดเล็กภายในประเทศในระดับมากกว่าระดับที่ไม่มีนัยสำคัญ (More than insignificant)จะต้องมีการจัดทำและปฏบัติตามแผนจัดการระดับชาติเพื่อลดการใช้ปรอทในการทำเหมืองแร่ทองคำพื้นบ้านและขนาดเล็ก (ข้อบทที่ 7)
  • จัดทำแผนการระดับชาติ เพื่อควบคุมการปลดปล่อยปรอทสู่อากาศจากแหล่งกำเนิดให้ครอบคลุมการปลดกล่อยไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 คือ โรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงโรงงานอุตสาหกรรมที่ถ่านหิน กระบวนการถลุงแร่ และอบแร่ ที่ใช้ในกระบวนการผลิตโลหะที่ไม่ใช่เหล็ก (ตะกั่ว สังกะสี ทองแดง และอุตสาหกรรมผลิตทองคำ) เตาเผาขยะ และโรงงานปูนซีเมนต์ (ข้อบทที่ 8)
  • จัดทำแผนจัดการ เพื่อควบคุมการปล่อยปรอทสู่น้ำหรือดินจากแหล่งกำเนิด มีการปล่อยอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งได้จากการจัดทำทำเนียบการปล่อยปรอทสู่น้ำหรือดินโดยแต่ละภาคี (ข้อบทที่ 9)
  • ภาคีต้องให้ความร่วมมือ เพื่อพัฒนาศักยภาพสำหรับการเก็บกักปรอทที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และจะต้องใช้มาตรการเพื่อให้มั่นใจว่าการเก็บกักปรอทสำหรับการใช้ที่ได้รับอนุญาตภายใต้อนุสัญญามินามาตะฯ จะต้องเป้นการเก็บกักอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในลักษณะชั่วคราวเท่านั้น (ข้อบทที่ 10)
  • การจัดการของเสียปรอทอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงแนวทางที่มีการพัฒนาภายใต้อนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของเสียอันตรายและการกำจัด หรือบทบัญญัติแห่งกฎหมายภายในประเทศ (ข้อบทที่ 11)
  • ความพยายามพัฒนากลยุทธ์การจัดการพื้นที่ปนเปื้อนปรอทที่เหมาะสม เพื่อการระบุและการประเมินพื้นที่ปนเปื้อนปรอท และที่ประชุมรัฐภาคีต้องรับรองแนวทางเกี่ยวกับหลักการพื้นที่ปนเปื้อน ซึ่งครอบคลุมถึงการระบุพื้นที่ปนเปื้อน การมีส่วนร่วมของประชาชน และการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม (ข้อบทที่ 12)
  • คณะอนุกรรมการด้านการจัดการสารปรอทภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นประธานอนุกรรมการ และมีองค์ประกอบเป็นผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสิ้น 19 หน่วยงาน และผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน

 

ความก้าวหน้าการดำเนินการของประเทศไทย

1. มีกลไกหลักในการควบคุมการผลิต นำเข้า ส่งออกผลิตภัณฑ์ที่เติมปรอท หรือกระบวนการผลิตที่มีการใช้ปรอทหรือสารประกอบปรอท การดำเนินมาตรการเพื่อควบคุมการปลดปล่อยปรอทสู่อากาศ น้ำ และดิน จากแหล่งกำเนิดที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการกักเก็บปรอท การจัดการของเสียปรอท พื้นที่ปนเปื้อนปรอท อย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผ่านการกำหนดมาตรการทางด้านกฎหมายเพื่อรองรับพันธกรณีของอนุสัญญามินามาตะฯ ดังนี้

1) กำหนดห้ามผลิต นำเข้า และส่งออกในยาฆ่าเชื้อที่มีปรอท Mercurochrome หรือ Merbromine และ Thimerosalอยู่ในยาใส่แผลสด ภายใต้พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 (โดย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา)

2) ห้ามนำเข้าและส่งออกเครื่องมือวัดที่มีปรอท (บาโรมิเตอร์ ไฮโกรมิเตอร์ มาโนมิเตอร์เทอร์โมมิเตอร์ เฉพาะที่ใช้ในทางวิทยาศาสตร์) ภายใต้พระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 (โดย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมการค้าต่างประเทศ)

3) พิจารณากำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเป็นมาตรฐานแบบบังคับ ได้แก่ (1) สวิตซ์ไฟฟ้าและรีเลย์ (2) หลอดไอปรอทความดันสูง (HPMV) สำหรับการส่องสว่างทั่วไป และ (3) หลอด Cold-Cathode Fluorescent Lamps (CCFL) และหลอด External ElectrodeFluorescent Lamp (EEFL) ในจอภาพอิเล็กทรอนิกส์ (โดย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และกรมการค้าต่างประเทศ)

4) พิจารณาปรับปรุงประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 3865 (พ.ศ. 2551) เรื่อง กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมบริภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่อาจมีสารอันตราย: การจำกัดการใช้สารอันตรายบางชนิด มอก. 2368-2551 ได้แก่ (1) หลอดฟลูออเรสเซนต์ชนิดคอมแพกต์ให้มีปรอทไม่เกิน 5 มิลลิกรัม/หลอด (2) หลอดที่ใช้สารเรืองแสงแบบแถบ 3 สี (Tri-band phosphor) น้อยกว่า 60 วัตต์และมีปรอทบรรจุมากกว่า 5 มิลลิกรัมต่อหลอด และ (3) หลอด Halophosphate phosphor น้อยกว่าหรือเท่ากับ 40 วัตต์ และมีปรอทบรรจุมากกว่า 10 มิลลิกรัมต่อหลอด เป็นมาตรฐานแบบบังคับ (โดย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และกรมการค้าต่างประเทศ)

5) ดำเนินงานตามมาตรการที่จะต้องดำเนินการโดยภาคีในการลดการใช้อะมัลกัมตั้งแต่สองมาตรการหรือมากกว่าตามที่ระบุไว้ในข้อบทที่ 4 ส่วนที่ 2 (โดยกรมอนามัยทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์)

6) ปรับปรุง (ร่าง) ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ห้ามตั้งหรือขยายโรงงานที่ใช้ปรอทหรือสารประกอบปรอทในกระบวนการผลิต และห้ามใช้ปรอทหรือสารประกอบปรอทในกระบวนการผลิต ตามความเห็นคณะทำงานด้านกฎหมายเพื่อรองรับพันธกรณีของอนุสัญญามินามาตะฯ ภายใต้อนุกรรมการอนุสัญญามินามาตะฯ (โดย กรมโรงงานอุตสาหกรรม)

7) พัฒนามาตรฐานการปลดปล่อยปรอทสู่อากาศจากแหล่งกำเนิดตามที่ระบุไว้ในภาคผนวก ดี (Annex D) ของอนุสัญญามินามาตะฯ ภายใต้คณะทำงานพัฒนามาตรฐานการปลดปล่อยปรอทสู่อากาศจากแหล่งกำเนิดในกำกับของอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (โดย กรมควบคุมมลพิษ)

8) ปรับปรุงทำเนียบการปลดปล่อยปรอทและจัดทำแผนการจัดการระดับชาติตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญามินามาตะฯ

9) จัดทำแนวทางการเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมจากปรอทในระหว่างกิจกรรมการรื้อถอนแท่นผลิตและอุปกรณ์ที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียมต่อกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (โดย กรมควบคุมมลพิษ)

2. เสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถของหน่วยงานภายในประเทศทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถดำเนินการจัดการปรอทได้อย่างมีประสิทธิภาพอาทิจัดฝึกอบรมและเสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากรสนับสนุนในการดําเนินงานตามพันธกรณีอนุสัญญามินามาตะฯ อย่างต่อเนื่อง

3. เผยแพร่ข้อมูลด้านเทคนิควิชาการที่เกี่ยวข้องฯ อาทิ คำแปลอนุสัญญามินามาตะฯ คู่มือแนวทางด้านเทคนิคที่ดีที่สุด (Best Available Techniques: BAT) และแนวการปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด (Best Environmental Practices: BEP) ในการจัดการสารปรอท เอกสารวิชาการในรูปแบบ Infographic ผ่านทางเว็บไซต์กรมควบคุมมลพิษและสื่อประชาสัมพันธ์

4. กระทรวงอุตสาหกรรม จัดทำ (ร่าง) ประกาศกระทรวงฯ เรื่อง ห้ามตั้งหรือขยายโรงงานที่ใช้ปรอทหรือสารประกอบปรอทในกระบวนการผลิตและห้ามใช้ปรอท และสารประกอบปรอทในกระบวนการผลิต โดยได้รับความเห็นชอบในหลักการแล้ว

3. จัดทำข้อมูลแหล่งกำเนิดประเภทโรงไฟฟ้าถ่านหิน เหล็ก และหม้อน้ำอุตสาหกรรมที่ใช้ถ่านหินกระบวนการถลุงแร่ และอบแร่ที่ใช้ในกระบวนการผลิตโลหะที่ไม่ใช่เหล็กตามข้อบทที่ 8 ของอนุสัญญามินามาตะฯ

4. จัดทำ (ร่าง) คู่มือแนวทางด้านเทคนิคที่ดีที่สุด (Best Available Techniques: BAT) และแนวทางการปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด (Best Environmental Practices: BEP) (สารปรอท) บทที่ 1 บททั่วไปฉบับภาษาไทยแล้วเสร็จ และแจ้งเวียนหน่วยงานที่มีการดำเนินงานตามพันธกรณี 14 หน่วยงานพิจารณา