อนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (POPs)

1250 17 มี.ค. 2566

(Stockholm Convention on Persistent Organic Pollutants: POPs)

อนุสัญญาสต็อกโฮล์มว่าด้วยมลพิษตกค้างยาวนาน (Stockholm Convention on Persistent Organic Pollutants: POPs) หรือ อนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ เป็นอนุสัญญาระหว่างประเทศ ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อคุ้มครองสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (สาร POPs) โดยการลดและเลิกการผลิต การใช้ และการปล่อยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (สาร POPs) ซึ่งเป็นสารประกอบอินทรีย์ซึ่งถูกย่อยสลายได้ยาก มีคุณสมบัติเป็นพิษ สะสมในสิ่งมีชีวิต ตกค้างยาวนานและสามารถเคลื่อนย้ายได้ไกลในสิ่งแวดล้อม

อนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ ได้เปิดให้มีการลงนาม (signing) ครั้งแรก ณ กรุงสตอกโฮล์ม ราชอาณาจักรสวีเดน เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2544และได้เปิดให้มีการลงนามที่สำนักงานใหญ่ สหประชาชาติ นครนิวยอร์กประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่วันที่ 24พฤษภาคม 2544ถึง 22พฤษภาคม 2545 โดยมีประเทศที่ร่วมลงนาม 152ประเทศ และอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ ได้มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 17พฤษภาคม 2547 ในส่วนของประเทศไทยได้ร่วมลงนามในอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2545 และได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ เมื่อวันที่ 31มกราคม 2548 ซึ่งอนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้กับประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2548ปัจจุบันประเทศสมาชิกที่เป็นภาคีอนุสัญญาฯ จำนวน 186 ประเทศ (ข้อมูล ณ กรกฎาคม 2566)

 

พันธกรณีที่ประเทศไทยต้องดำเนินการ 

  • ดำเนินมาตรการทางกฎหมายและการบริหารที่จำเป็นเพื่อเลิกการผลิตและการใช้สาร POPs ตามรายชื่อในภาคผนวกเอและจำกัดการผลิตและการใช้สาร POPs ตามรายชื่อในภาคผนวกบีตามเงื่อนไขข้อกำหนดและบทบัญญัติต่างๆของภาคผนวกดังกล่าว รวมทั้งควบคุมการนำเข้า/ส่งออกสาร POPs เอ และบี ตามวัตถุประสงค์ที่อนุญาต (ข้อบทที่ 3)
  • ภาคีที่ประสงค์จะใช้เงื่อนไขข้อยกเว้นพิเศษ (specific exemption) สำหรับสาร POPs ที่อยู่ในภาคผนวก เอ หรือวัตถุประสงค์ที่ยอมรับได้ (acceptable purpose) เฉพาะบางการใช้งานที่จำเป็นสำหรับสาร POPs ที่อยู่ในภาคผนวก บี จะต้องดำเนินการแจ้งสำนักเลขาธิการอนุสัญญาฯ อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อขอขึ้นทะเบียนยกเว้นพิเศษ โดยใช้แบบฟอร์มที่สำนักเลขาธิการอนุสัญญาฯ พัฒนาขึ้น (ข้อบทที่ 4)
  • ลดการปลดปล่อยสาร POPs ประเภทปลดปล่อยโดยไม่จงใจ ตามรายชื่อในภาคผนวกซี โดยส่งเสริมการใช้สารทดแทน แนวทางด้านเทคนิคที่ดีที่สุด (Best Available Techniques: BAT) และแนวการปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด (Best Environmental Practices: BEP) โดยพิจารณาดำเนินการภายใต้ศักยภาพและขีดความสามารถของตน (ข้อบทที่ 5)
  • ดูแลจัดการคลังเก็บสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (stockpiles) ของสาร POPs ไม่ให้ส่งผลต่อสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อมรวมทั้งดูแลจัดการของเสียที่เกิดจากสาร POPs และพื้นที่ปนเปื้อนอย่างเหมาะสม (ข้อบทที่ 6)
  • พัฒนาและดำเนินการตามแผนจัดการระดับชาติเพื่อการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ และจัดส่งให้ที่ประชุมรัฐภาคี ภายใน 2ปี หลังจากอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯมีผลบังคับใช้ในประเทศตนรวมทั้งพิจารณาทบทวนและปรับปรุงแผนจัดการระดับชาติฯ ให้ทันสมัยตามที่เหมาะสม (ข้อบทที่ 7)
  • อำนวยความสะดวกหรือดำเนินการในการแลกเปลี่ยนข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับสาร POPs รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ประสานงานระดับชาติสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูล (ข้อบทที่ 9)
  • เผยแพร่ข้อมูลและการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับสาร POPs แก่ผู้กำหนดนโยบายและสาธารณชน การกำหนดแผนและแนวปฏิบัติในการประชาสัมพันธ์ให้สตรี เด็ก และผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาทราบเรื่องสาร POPs และภัยอันตรายต่อสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อมรวมทั้งการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาและฝึกอบรมที่เกี่ยวข้อง (ข้อบทที่ 10)

·   การพัฒนากลไกต่างๆ อาทิ ทำเนียบการปล่อยสารมลพิษและการเคลื่อนย้ายสำหรับการรวบรวมและกระจายข้อสนเทศเกี่ยวกับการประเมินปริมาณประจำปีของสารเคมีตามรายชื่อในภาคผนวกเอบีหรือซีซึ่งถูกปล่อยหรือกำจัด (ข้อบทที่ 10 วรรค 5)

·       ส่งเสริมสนับสนุนด้านการวิจัยพัฒนาในประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับสาร POPs รวมทั้งในประเด็นสารทดแทน การติดตามตรวจสอบสาร POPs และการเสริมสร้างขีดความสามารถที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการลดผลกระทบจากสาร POPs (ข้อบทที่ 11)

·  จัดส่งรายงานของประเทศ (national report) ให้ที่ประชุมรัฐภาคีเกี่ยวกับมาตรการที่ภาคีได้ดำเนินการตามพันธกรณีของอนุสัญญาฯ (ข้อบทที่ 15)

·     ดำเนินกิจกรรมการติดตามตรวจสอบสาร POPs ตามความเหมาะสม และตามขีดความสามารถของตน รวมทั้งการประสานและร่วมมือในระดับภูมิภาคและระดับโลก เพื่อสนับสนุนการประเมินความมีประสิทธิผลของอนุสัญญาฯ (ข้อบทที่ 16)

 

คณะกรรมการ/ คณะอนุกรรมการ อนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ ของไทย

กลไกการดำเนินงานและการประสานงานภายในประเทศ มีคณะอนุกรรมการอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ทำหน้าที่พิจารณารายละเอียดของอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ และกำหนดท่าทีของประเทศในการเข้าร่วมการประชุมรัฐภาคี การประชุมคณะกรรมการพิจารณาทบทวนสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการอนุวัติตามอนุสัญญาฯ รวมทั้งการให้ความเห็นและความร่วมมือกับสำนักเลขาธิการของอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ รวมทั้งสนับสนุนและให้ความเห็นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานตามแผนจัดการระดับชาติเพื่อการปฏิบัติตามอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ

 

ความก้าวหน้าการดำเนินการของประเทศไทย

1. ดำเนินมาตรการทางกฎหมายและการบริหารที่จำเป็นเพื่อลดและเลิกการผลิตและการใช้สาร POPs ตามรายชื่อในภาคผนวกเอ (Annex A) และจำกัดการผลิตและการใช้สาร POPs ตามรายชื่อในภาคผนวก บี (Annex B) โดยประกาศควบคุมสาร POPs เป็นวัตถุอันตราย ภายใต้ พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 แล้ว จำนวน 23 ชนิด และอยู่ระหว่างดำเนินการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตราย จำนวน 4 ชนิด

2. การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ สมัยที่ 10 มีมติข้อตัดสินใจที่สำคัญเกี่ยวกับการดำเนินงานตามอนุสัญญาฯ ได้แก่

2.1 เห็นชอบให้บรรจุรายชื่อสาร Perfluorohexane sulfonic acid (PFHxS), its salts and PFHxS-related compounds ภายใต้ภาคผนวก เอ ของอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ โดยไม่มีข้อยกเว้นพิเศษ (Specific exemptions) ซึ่งภาคีสมาชิกจะต้องดำเนินมาตรการในการห้ามการผลิต การใช้ การนำเข้า และการส่งออกสารดังกล่าว

2.2 เห็นชอบให้ยกเลิกข้อยกเว้นพิเศษสำหรับการผลิตและการใช้สาร Hexabromocyclododecane สาร Pentachlorophenol และสาร Technical endosulfan and its related isomer และให้ประเทศภาคีดำเนินการยกเลิกการใช้สาร Polychlorinated biphenyl (PCBs) ในอุปกรณ์ ภายในปี 2568 และมีการจัดการของเสียที่ปนเปื้อนสาร PCBs อย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายในปี 2571

3. ดำเนินการควบคุมสารเคมีที่ได้รับความเห็นชอบจากการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ ให้เป็นวัตถุอันตรายภายใต้พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 คือ สาร Perfluorooctanoic acid (PFOA), its salts and PFOA-related compounds

4. จัดส่งแผนจัดการระดับชาติเพื่อการปฏิบัติตามอนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนานฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 – 2570 ให้แก่สำนักเลขาธิการอนุสัญญาฯ เพื่อดำเนินการเผยแพร่ต่อไป