อนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด (Basel)

5777 17 มี.ค. 2566

อนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด (Basel Convention on the Control of Transboundary Movements of Hazardous Wastes and their Disposal) หรืออนุสัญญาบาเซลฯ ก่อเกิดขึ้นจาก โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Environment Program : UNEP) ได้ร่วมกับผู้แทนจากประเทศต่างๆ จัดประชุมนานาชาติขึ้นในเดือนมีนาคม พ.ศ.2532 ณ นครบาเซลสมาพันธรัฐสวิส และกำหนดข้อตกลงระหว่างประเทศในการควบคุมการนำเข้า การส่งออกการนำผ่านการจัดการของเสียอันตรายให้มีความปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อม และการป้องกันการขนส่งที่ผิดกฎหมาย เรียกว่าอนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด (Basel Convention on the Control of Transboundary Movements of Hazardous Wastes and their Disposal) และได้เปิดให้ประเทศต่างๆ ลงนามเข้าร่วมเป็นภาคีตั้งแต่ วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2532 และ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ จำนวน 191 ประเทศ (ข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม 2566) ในส่วนของประเทศไทยได้ให้สัตยาบัน เป็นภาคีอนุสัญญาบาเซลฯ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 และมีผลบังคับใช้กับประเทศไทยตั้งแต่ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541 โดยมีวัตถุประสงค์ของอนุสัญญา ได้แก่

- ลดการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายให้เหลือน้อยที่สุด โดยการจัดการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

- บำบัดและกำจัดของเสียอันตรายใกล้กับแหล่งกำเนิดมากเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยการจัดการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

- ลดการก่อกำเนิดของเสียอันตรายทั้งในเชิงปริมาณและความอันตราย

 

พันธกรณีที่ประเทศไทยต้องดำเนินการ 

  • ภาคีซึ่งใช้สิทธิของตนในการห้ามการนำเข้าของเสียอันตรายหรือของเสียอื่นเพื่อการกำจัด ต้องแจ้งภาคีอื่นให้ทราบ
  • ภาคีต้องห้ามหรือต้องไม่อนุญาตให้มีการส่งออกของเสียอันตรายและของเสียอื่นไปยังภาคีซึ่งได้ห้ามการนำเข้าของเสียดังกล่าว หรือหากรัฐผู้นำเข้าไม่ยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรต่อการนำเข้านั้นเป็นการเฉพาะ
  • ภาคีต้องเป็นฝ่ายดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายหรือการจัดการของเสียอันตรายด้วยวิธีการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  • ภาคีต้องไม่อนุญาตให้มีการส่งออกหรือนำเข้าของเสียอันตรายจากประเทศที่มิได้เป็นภาคีสมาชิก
  • ภาคีจะไม่อนุญาตให้มีการส่งออกหรือเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายหรือของเสียอื่นไปทิ้งหรือกำจัดในพื้นที่ใต้เส้นละติจูด 60 องศาใต้ ไม่ว่าของเสียดังกล่าวจะมีการเคลื่อนย้ายข้ามแดนหรือไม่
  • ภาคีแต่ละฝ่ายต้องห้ามบุคคลขนส่ง หรือ กำจัดของเสียอันตราย หรือ ของเสียอื่น เว้นแต่บุคคลดังกล่าวจะได้รับมอบอำนาจหรือได้รับอนุญาตให้ปฏิบัติการดังกล่าวนั้น กำหนดให้ของเสียอื่นที่มีการเคลื่อนย้ายข้ามแดนได้รับการบรรจุหีบห่อติดฉลาก และขนส่งโดยสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ และมาตรฐานระหว่างประเทศที่ได้รับการยอมรับและรับรอง กำหนดให้จัดทำเอกสารการเคลื่อนย้ายแนบไปกับของเสียอันตรายและของเสียอื่นตั้งแต่จุดที่เริ่มต้นเคลื่อนย้ายข้ามแดนจนถึงจุดที่มีการกำจัด

·ภาคีกำหนดให้ของเสียอันตรายหรือของเสียอื่นซึ่งถูกส่งออกไป ได้รับการจัดการโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในรัฐผู้นำเข้าหรือที่อื่นใด

·ภาคีต้องดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพื่อประกันว่าการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและของเสียอื่นจะได้รับอนุญาตเฉพาะเมื่อรัฐผู้ส่งออกไม่มีความสามารถในการกำจัดของเสียอันตรายอย่างเหมาะสม ของเสียอันตรายที่เป็นปัญหาต้องการใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมการนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ในรัฐผู้นำเข้า

 

คณะกรรมการ/ คณะอนุกรรมการ อนุสัญญาบาเซลฯ ของไทย

มีการจัดตั้งกลไกลการปฏิบัติงานตามอนุสัญญาบาเซลฯ โดยได้จัดตั้งคณะกรรมการวัตถุอันตรายเป็นคณะกรรมการภายใต้พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535  มีอำนาจหน้าที่ให้ความเห็น และคำแนะนำแก่หน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายโดยมี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานกรรมการ พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาและนำเสนอข้อคิดเห็นและหลักเกณฑ์ในการควบคุมวัตถุอันตราย จำนวน 3 คณะ คือ คณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองความเป็นอันตรายของวัตถุอันตราย คณะอนุกรรมการพิจารณาร่างกฎกระทรวง ประกาศกระทรวงออกภายใต้พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และคณะอนุกรรมการพิจารณาการขนส่งวัตถุอันตราย

นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการอนุสัญญาบาเซล ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นประธานคณะอนุกรรมการ ฯ และประกอบด้วยผู้แทนส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน มีอำนาจหน้าที่ ในการพิจารณากำหนดระบบกลไก และมาตรการ ทางด้านกฎหมายและวิชาการเพื่ออนุวัติตามอนุสัญญาบาเซลและเสนอแนะในเชิงนโยบายเกี่ยวกับการอนุญาตการเคลื่อนย้ายของเสียอันตราย และกากของเสียอื่น ๆ เข้ามาและออกไปนอกราชอาณาจักร

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินงานในประเด็นต่างๆ อาทิ คณะทำงานศึกษาการให้สัตยาบันต่อข้อแก้ไขการห้ามส่งออกของอนุสัญญาบาเซลของประเทศไทย และคณะทำงานปรับปรุงบัญชีรายชื่อและกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร และรหัสสถิติสำหรับของเสียอันตรายที่ควรควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ความก้าวหน้าการดำเนินการของประเทศไทย

1. การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาบาเซลฯ สมัยที่ 15 ระหว่างวันที่ 6 – 17 มิถุนายน 2565 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส มีมติข้อตัดสินใจที่สำคัญเกี่ยวกับการดำเนินงานตามอนุสัญญาฯ ได้แก่

1.1 การรับรองการแก้ไขภาคผนวก 2 ภาคผนวก 8 และภาคผนวก 9 ของอนุสัญญาบาเซลฯ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับของเสียประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Electrical and electronic waste) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป โดยการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นอันตรายหรือไม่ก็ตาม รัฐผู้ส่งออก รัฐผู้นำเข้าและรัฐที่นำผ่านแดน จะต้องดำเนินการตามกระบวนการแจ้งความยินยอมล่วงหน้า (Prior Informed Consent Procedure) ตามข้อบทที่ 6 ของอนุสัญญาฯ

1.2 การรับรองแนวทางด้านเทคนิควิชาการ ได้แก่ (1) แนวทางด้านเทคนิควิชาการเกี่ยวกับการจัดการของเสียที่ประกอบด้วย มี หรือปนเปื้อนด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (Persistent Organic Pollutants: POPs) อย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (2) แนวทางด้านเทคนิคเกี่ยวกับการจัดการของเสียที่ประกอบด้วย มี หรือปนเปื้อนด้วยปรอทหรือสารประกอบปรอท อย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
(3) แนวทางด้านเทคนิคเกี่ยวกับการเผาของเสียอันตรายและของเสียอื่นที่ครอบคลุมการดำเนินการกำจัดด้วยวิธีการเผาบนดิน (D10) และการใช้เป็นเชื้อเพลิง (นอกเหนือจากการเผาในเตาโดยตรง) หรือวิธีการอื่นที่ให้พลังงาน (R1) และ (4) แนวทางด้านเทคนิควิชาการเกี่ยวกับการกำจัดของเสียอันตรายและของเสียอื่นด้วยการฝังกลบอย่างถูกหลักวิศวกรรมโดยเฉพาะเจาะจง (D5)

1.3 เห็นชอบให้มีการปรับปรุงแนวทางด้านเทคนิควิชาการต่าง ๆ ได้แก่ (1) แนวทางด้านเทคนิควิชาการการเกี่ยวกับการจัดการขยะพลาสติกอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (2) แนวทางด้านเทคนิควิชาการเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้ว (3) แนวทางด้านเทคนิควิชาการเกี่ยวกับการจัดการของเสียที่เป็นแบตเตอรี่ตะกั่ว-กรดและแบตเตอรี่อื่นอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (4) แนวทางด้านเทคนิควิชาการเกี่ยวกับการจัดการยางรถยนต์
ที่ใช้แล้ว และของเสียประเภทยางนอกชนิดอัดลม (waste pneumatic tyres) อย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ (5) แนวทางด้านเทคนิควิชาการเกี่ยวกับสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน โดยให้มีการเพิ่มเติมสาร Perfluorohexane sulfonic acid (PFHxS), its salts and PFHxS-related compounds ที่ได้รับการรับรองจากการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ สมัยที่ 10 ให้บรรจุภายใต้ภาคผนวก เอ ของอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ

2. ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันในข้อแก้ไขอนุสัญญาบาเซล (Ban Amendment) ที่มีสาระสำคัญเพื่อห้ามประเทศที่เป็นสมาชิกตามภาคผนวก VII ของอนุสัญญาบาเซลฯ ได้แก่ ประเทศในกลุ่มองค์กรความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Cooperation and Development: OECD) ประชาคมยุโรป และลิกเตนสไตน์ ส่งออกของเสียอันตรายไปยังประเทศอื่น ๆ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2562 และ กรมควบคุมมลพิษในฐานะหน่วยประสานงานกลางอนุสัญญาบาเซลฯ ได้ดำเนินการพิจารณาการให้การรับรอง Ban Amendment ของประเทศไทย โดยมีการได้วิเคราะห์ผลกระทบและรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบธุรกิจรีไซเคิล พบว่าการรับรอง Ban Amendment ของประเทศไทยจะส่งผลให้ไม่สามารถนำเข้าเศษพลาสติกที่เป็นของเสียอันตรายจากประเทศในภาคผนวก VII ซึ่งอาจจะกระทบต่อต้นทุนธุรกิจรีไซเคิล แต่จะช่วยสนับสนุนให้มีการใช้วัตถุดิบภายในประเทศมากขึ้น พัฒนาระบบการรวบรวมและการจัดการของเสียในประเทศรวมถึงเทคโนโลยีการรีไซเคิลของไทย อีกทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในการแสดงจุดยืนที่ชัดเจนด้าน การปกป้องสิ่งแวดล้อม และลดความเสี่ยงด้านสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อมจากการจัดการของเสียอันตรายที่นำเข้า โดยกระทรวงการต่างประเทศของไทยได้ส่งมอบตราสารการยอมรับข้อแก้ไขอนุสัญญาบาเซลฯ ให้สำนักงานกฎหมาย (Office of Legal Affairs) ของสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 และ มีผลบังคับใช้กับประเทศไทย ตั้งแต่ วันที่ 7 มิถุนายน 2566

3.. ประเทศไทยได้นำแนวทางด้านเทคนิควิชาการสำหรับจัดการของเสียต่างๆ ที่ได้รับการรับรองตามมติข้อตัดสินใจในการประชุมรัฐภาคีฯ หรือการประชุมระหว่างประเทศมาประยุกต์ใช้ภายในประเทศ เพื่อให้ครอบคลุมการจัดการของเสียอันตรายตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง รวมทั้งการจัดทำแนวทางด้านเทคนิควิชาการฯ เป็นภาษาไทย และเผยแพร่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบนการศึกษา และประชาชนทั่วไปได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อไป