อนุสัญญารอตเตอร์ดัมว่าด้วยกระบวนการแจ้งข้อมูลสารเคมีล่วงหน้าสำหรับสารเคมีอันตรายและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์บางชนิดในการค้าระหว่างประเทศ (PIC)

2989 17 มี.ค. 2566

อนุสัญญารอตเตอร์ดัมว่าด้วยกระบวนการแจ้งข้อมูลสารเคมีล่วงหน้าสำหรับสารเคมีอันตรายและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์บางชนิดในการค้าระหว่างประเทศ (Rotterdam Convention on the Prior Informed Consent Procedure for Certain Hazardous Chemicals and Pesticides in International Trade: PIC) หรืออนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ เป็นอนุสัญญาระหว่างประเทศในการควบคุมการนำเข้าและการส่งออกสารเคมีอันตรายต้องห้าม หรือจำกัดการใช้อย่างเข้มงวดและสูตรผสมของสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ที่เป็นอันตรายอย่างร้ายแรงอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ ได้เปิดให้มีการลงนามที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่วันที่ 12กันยายน 2541 ถึงวันที่ 10กันยายน 2542 โดยมีประเทศสมาชิก 165 ประเทศ (ข้อมูล ณ กรกฎาคม 2566) โดยประเทศไทยได้ให้ภาคยานุวัติต่ออนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 และมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547

 

พันธกรณีที่ประเทศไทยต้องดำเนินการ 

  • การแจ้งการใช้มาตรการด้านกฎระเบียบขั้นสุดท้ายสำหรับสารเคมีต้องห้ามหรือที่ถูกจำกัดการใช้อย่างเข้มงวดภายในประเทศ ต่อสำนักเลขาธิการอนุสัญญาฯ ภายใน90วัน หลังจากวันที่มาตรการด้านกฎระเบียบขั้นสุดท้ายมีผลบังคับใช้ (ข้อบทที่ 5)
  • การเสนอบัญชีรายชื่อสูตรผสมของสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ที่เป็นอันตรายอย่างร้ายแรง (ข้อบทที่ 6)
  • การแจ้งท่าทีการนำเข้า (ยินยอมให้นำเข้า ไม่ยินยอมให้นำเข้า หรือยินยอมให้นำเข้าแต่ต้องทำตามเงื่อนไข) สำหรับสารเคมีแต่ละชนิดในภาคผนวก 3 (Annex III) ของอนุสัญญาฯ โดยตัดสินใจบนพื้นฐานของมาตรการด้านกฎหมายและการบริหารจัดการ หรือแจ้งท่าทีชั่วคราว (การตัดสินใจชั่วคราว หรืออยู่ระหว่างการพิจารณา) ต่อสำนักเลขาธิการอนุสัญญาฯ (ข้อบทที่ 10.1 - 10.8) ภายในระยะเวลา 9 เดือน หลังจากสำนักเลขาธิการฯ แจ้งเวียนเอกสาร Decision Guidance Document (DGD)
  • หากเป็นกรณีที่ไม่ยินยอมนำเข้า ต้องประกันว่าจะไม่มีการนำเข้าสารเคมีชนิดนั้นจากทุกแหล่ง และจะต้องไม่มีการผลิตสารเคมีชนิดนั้นเพื่อใช้ภายในประเทศ (ข้อบทที่ 10.9)
  • การประกันว่าไม่ส่งออกสารเคมีไปยังภาคีผู้นำเข้าที่ไม่ได้แจ้งท่าที หรือแจ้งท่าทีชั่วคราว ที่ไม่ได้ระบุท่าทีการตัดสินใจ (ข้อบทที่ 11) 
  • ต้องแจ้งข้อมูลการส่งออกสารเคมีต้องห้าม หรือสารเคมีที่ถูกจำกัดการใช้อย่างเข้มงวดให้แก่ภาคีผู้นำเข้าก่อนการส่งออกครั้งแรกในทุกปีปฏิทิน และข้อมูลที่ต้องแจ้งพร้อมกับสารเคมีที่ส่งออก ได้แก่ รหัสระบบศุลกากรโดยจำเพาะขององค์การศุลกากรโลก การติดฉลากระบุความเสี่ยงหรืออันตรายต่อสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อม และเอกสารข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมี (ข้อบทที่ 12 และ 13)
  • ให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ เทคนิค เศรษฐกิจและกฎหมาย ซึ่งเกี่ยวข้องกับสารเคมีที่อยู่ในขอบเขตของอนุสัญญาฯ รวมทั้งข้อมูลด้านพิษวิทยา พิษวิทยาสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย การให้ข้อมูลเผยแพร่แก่หมู่สาธารณชนเกี่ยวกับมาตรการด้านกฎระเบียบในประเทศที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี ข้อมูลด้านการจัดการสารเคมีและอุบัติเหตุจากสารเคมี รวมถึงข้อมูลทางเลือกอื่นๆ ที่มีความปลอดภัยมากกว่า (ข้อบทที่ 14) 

 

คณะกรรมการ/ คณะอนุกรรมการ อนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ ของไทย

คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในคราวประชุม ครั้งที่ 8/2548 เมื่อวันที่ 18กรกฎาคม 2548 มีมติให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการอนุสัญญารอตเตอร์ดัมว่าด้วยกระบวนการแจ้งข้อมูลสารเคมีล่วงหน้าสำหรับสารเคมีอันตรายและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์บางชนิดในการค้าระหว่างประเทศขึ้น เพื่อให้การดำเนินงานตามพันธกรณีของอนุสัญญาฯ เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีหน่วยงานในประเทศที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานตามอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ มีดังนี้ หน่วยงานผู้มีอำนาจของรัฐ (Designated National Authorities: DNAs) ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลัก ประกอบด้วย 3 หน่วยงาน คือ

- กรมวิชาการเกษตร รับผิดชอบสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ (DNA P)

- กรมโรงงานอุตสาหกรรม รับผิดชอบสารเคมีทางอุตสาหกรรม (DNA C)

- กรมควบคุมมลพิษ รับผิดชอบสารเคมีอื่นๆ นอกเหนือจากสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ และทำหน้าที่เป็นหน่วยประสานงานในการปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญาฯ (Official Contact Point)ร่วมด้วย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมศุลกากร กรมองค์การระหว่างประเทศ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กรมการค้าต่างประเทศ กรมยุโรป กรมควบคุมโรค กรมอนามัย การท่าเรือแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธุรกิจเคมี

 

ความก้าวหน้าการดำเนินการของประเทศไทย

1. ประเทศไทยได้จัดทำรายงานการแจ้งส่งออก (Export Notification) สารเคมีต้องห้าม หรือที่ถูกจำกัดการใช้อย่างเข้มงวด (ประเภทสารเคมีทางอุตสาหกรรม และสารเคมีทางการเกษตร) ปี พ.ศ. 2564 ซึ่งส่งจากรัฐภาคีอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ มายังประเทศไทยแล้วเสร็จ และเผยแพร่ในเว็บไซต์กรมควบคุมมลพิษ

2. การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ สมัยที่10 เมื่อวันที่ 6 - 17 มิถุนายน 2565 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส มีสาระสำคัญ ได้แก่

2.1 การพิจารณาบรรจุรายชื่อสารเคมีเพิ่มเติมในภาคผนวก III ของอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯเพื่อบรรจุสารเคมีอุตสาหกรรม 2 รายการ คือ Decabromodiphenyl ether (deca BDE) และสาร Perfluorooctanoic acid (PFOA), its salts and PFOA-related compounds โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2565

2.2 นางพาลาภ สิงหเสนี ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะอนุกรรมการอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้แทนภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก เข้าร่วมในคณะกรรมการพิจารณาทบทวนสารเคมี (Chemical Review Committee: CRC) โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2565 – 2569

3. แจ้งใช้มาตรการด้านกฎระเบียบขั้นสุดท้ายสำหรับข้อมูลสารเคมีอุตสาหกรรมและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ที่ประเทศไทยประกาศเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 แก่สำนักเลขาธิการของอนุสัญญาฯ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2543 – ปัจจุบัน จำนวน 56 รายการ

4. แจ้งท่าทีการนำเข้า (Import Response) สำหรับสารเคมีที่อยู่ในกระบวนการ PIC ให้สำนักเลขาธิการอนุสัญญาฯ แล้ว จำนวน 52 รายการ ตามรายชื่อสารเคมีในภาคผนวก III ของอนุสัญญา

5. ตอบรับการแจ้งการส่งออกสารเคมี ตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ตามที่ประเทศภาคีผู้ส่งออกแจ้งการส่งออกครั้งแรกในทุกปีปฏิทิน

6. แลกเปลี่ยนข้อมูลโดยรายงานข้อมูลการดำเนินงานตามย่อหน้าที่ 2 ของข้อบทที่ 11 พันธกรณีเกี่ยวกับการส่งออกสารเคมี ซึ่งอยู่ในบัญชีรายชื่อสารเคมีในภาคผนวก III ข้อบทที่ 12 การแจ้งการส่งออก และข้อบทที่ 14 การแลกเปลี่ยนข้อมูลของอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ ประจำปี ให้สำนักเลขาธิการอนุสัญญาฯ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจัดทำรายงานสรุปสถานการณ์การแจ้งการส่งออกสารเคมีประจำปี เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะทางเว็บไซต์ของกรมควบคุมมลพิษ

7. ใช้มาตรการด้านกฎหมาย โดยประกาศให้สารเคมีอุตสาหกรรมและและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ ในภาคผนวก III ของอนุสัญญาฯ เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 หรือชนิดที่ 4 ตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 แล้ว จำนวน 51 รายการ จากชื่อสารเคมี จำนวน 52 รายการ และอยู่ระหว่างดำเนินการพิจารณากำหนดสารเคมีเป็นวัตถุอันตราย 1 รายการ

8. จัดอบรม/สัมนาเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานตามพันธกรณีของอนุสัญญาฯ ให้แก่ บุคลากรในหน่วยงานผู้มีอำนาจของรัฐ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าสารเคมี และสถาบันการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

9. จัดทำข้อมูลเอกสารเผยแพร่ และสื่อประชาสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานตามพันธกรณีของอนุสัญญาฯ เผยแพร่ในประเทศตามช่องทางต่างๆ อาทิ (1) คู่มืออนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ (2) Infographic เกี่ยวกับการดำเนินงานอนุสัญญาฯ และ (3) เอกสารในการประชุมสัมมนาที่เกี่ยวข้อง

10. แจ้งตอบข้อมูลความต้องการความช่วยเหลือทางเทคนิคตามแบบสอบถามเกี่ยวกับ Technical assistance needs assessment to implement the Rotterdam Convention ถึงสำนักเลขาธิการอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ อย่างต่อเนื่อง

11. เข้าร่วมการดำเนินงานเพิ่มประสิทธิภาพอนุสัญญา (Enhance the effectiveness of the Rotterdam Convention)

12. ดำเนินการควบคุมสารเคมีที่ได้รับความเห็นชอบจากการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ ให้เป็นวัตถุอันตรายภายใต้พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 คือ สาร Perfluorohexane sulfonic acid (PFHxS), its salts and PFHxS-related compounds