ความตกลงปารีส (Paris Agreement)

2343 17 มี.ค. 2566

ความตกลงปารีส (Paris Agreement) มีการรับรองในปี ค.ศ. 2015 (UNFCCC COP21) เพื่อเป็นกรอบการดำเนินงานในระยะหลังปี ค.ศ. 2020 มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมีเป้าหมาย คือ 1) ควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และพยายามไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส 2) เพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวต่อผลกระทบทางลบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สามารถสร้างความสามารถในการฟื้นตัวและส่งเสริมการพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำโดยไม่กระทบต่อการผลิตอาหาร และ 3) ทำให้การไหลเวียนของเงินทุนสอดคล้องกับการพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำและส่งเสริมในการฟื้นตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ประเทศไทยให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2559 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2559

 

พันธกิจที่ประเทศไทยต้องดำเนินการ

1. จัดทำ จัดส่งและรักษาการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions: NDC) ซึ่งเป็นข้อเสนอการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จัดส่งสำนักเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นไปตามที่แต่ละประเทศกำหนดเอง มีเนื้อหาครอบคลุมถึงการลดก๊าซเรือนกระจก การปรับตัว การเงิน การพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี การเสริมสร้างศักยภาพ และความโปร่งใส โดยดำเนินการจัดส่งทุก 5 ปี

2. จัดทำเป้าหมายและแผนการลดก๊าซเรือนกระจก รวมถึงต้องขับเคลื่อนให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายที่กำหนด

3. จัดทำบัญชีแสดงผลการดำเนินงานตามเป้าหมายและแผนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ โดยจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์และการจำกัดก๊าซเรือนกระจกโดยการดูดกลับ ซึ่งต้องอยู่บนหลักการที่กำหนด โดยเฉพาะต้องไม่เกิดการนับซ้ำตามแนวทางที่ได้ตกลงกัน

4. จัดส่งรายงานบัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย และต้องจัดส่งข้อมูลความก้าวหน้าในการดำเนินงานของประเทศตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ได้นำเสนอไว้

 

ความก้าวหน้าการดำเนินการของประเทศไทย

เมื่อความตกลงปารีสเข้าสู่การดำเนินงานอย่างเต็มรูปแบบในปี ค.ศ. 2021 พันธกรณีสำหรับประเทศสมาชิกจึงมีความเข้มข้นและท้าทายมากยิ่งขึ้น ประกอบกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประชาคมโลกจึงผลักดันให้ภาคีสมาชิกยกระดับเป้าหมายการดำเนินงานให้สอดคล้องตามเป้าหมายของความตกลงปารีส รวมทั้งประเทศไทยที่เล็งเห็นความสำคัญของประเด็นดังกล่าว จึงแสดงความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 พร้อมทั้งจะบรรลุเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC) ให้ได้ร้อยละ 40 จากกรณีปกติ ภายในปี ค.ศ. 2030 หากได้รับการสนับสนุนด้านการเงินและเทคโนโลยีที่เหมาะสมและเพียงพอ