พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol)

11386 17 มี.ค. 2566

พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ป็นพิธีสารที่จัดตั้งขึ้นภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รัฐภาคีได้รับรองพิธีสารเกียวโต ในปี ค.ศ. 1997 (UNFCCC COP3) ซึ่งกำหนดกฎการดำเนินงานของพิธีสารเกียวโต (Rules for the Implementation) ใน 2 ระยะ คือ

- พันธกรณีระยะที่ 1 (Marrakesh Accord) ให้ประเทศพัฒนาแล้วจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ร้อยละ 5 ภายในปี ค.ศ. 2012 เมื่อเทียบกับปี 1990

- พันธกรณีระยะที่ 2 (Doha Amendment) ให้ประเทศพัฒนาแล้วจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ร้อยละ 18 ภายในปี ค.ศ. 2020 เมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 1990 ซึ่งเป็นภาคบังคับเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วเนื่องจากมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมากในขณะนั้น ส่วนประเทศกำลังพัฒนาไม่มีพันธกรณีในการลดก๊าซเรือนกระจกโดยตรง แต่ดำเนินการได้ตามความสมัครใจโดยการจัดส่งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ (Nationally Appropriate Mitigation Actions: NAMAs) รวมถึงได้กำหนดกลไกยืดหยุ่นให้ประเทศพัฒนาแล้วสามารถซื้อคาร์บอนเครดิตได้ ผ่านกลไก Clean Development Mechanism (CDM)

 

โดยได้กำหนดพันธกรณีที่มีข้อผูกพันทางกฎหมาย (Legal Binding) ของประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศภาคผนวกที่ 1 (AnnexI Countries) และไม่มีการกำหนดพันธกรณีใดๆ ให้กับประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศนอกภาคผนวกที่ 1 (Non-annexI Countries) ประกอบด้วย 28 มาตรา ซึ่งมีสาระสำคัญ ได้แก่

 

  • มาตรา 3 กำหนดชนิดก๊าซเรือนกระจกที่อยู่ภายใต้พิธีสารฯ 6 ชนิด คือ คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มีเทน (CH4) ไนตรัสออกไซด์ (N2O) ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs) เปอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PCFs) และซัลเฟอร์เฮกซาฟลูโอไรด์ (SF6) โดยการลดก๊าซเหล่านี้ให้คิดเทียบเป็นปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งนี้ มาตรา 3 ได้กำหนดพันธกรณีในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศภาคผนวกที่ 1 (Annex I Countries) ให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี พ.ศ. 2533 ประมาณร้อยละ 5 และจะต้องดำเนินการให้ได้ภายในช่วงปี พ.ศ. 2550 – 2555 โดยปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละประเทศจะแตกต่างกัน เช่น ร้อยละ 8 สำหรับกลุ่มประเทศประชาคมยุโรป และร้อยละ 10 สำหรับประเทศไอซ์แลนด์ เป็นต้นนอกจากนี้ มาตรา 3 ยังอนุญาตให้ประเทศในภาคผนวกที่ 1 สามารถนำปริมาณการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินและป่าไม้ (Land use, land use change, and forest: LULUCF) มาคิดคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิของแต่ละประเทศ เพื่อให้บรรลุตามพันธกรณีของพิธีสารฯ
  • มาตรา 6 การดำเนินโครงการร่วมกัน (Joint Implementation: JI) เป็นการดำเนินงานระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  • มาตรา 12 กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) ซึ่งเป็นการดำเนินโครงการร่วมกันระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  • มาตรา 17 การซื้อขายเครดิต (Emission Trading: ET) ในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระหว่างกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว
  • มาตรา 18 กำหนดให้มีขั้นตอนและกลไกในการตัดสินและดำเนินการลงโทษในกรณีที่ประเทศภาคีไม่ดำเนินการตามพันธกรณีที่กำหนดไว้ รวมทั้งให้มีการจัดทำรายการที่ระบุลักษณะ และระดับของผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการไม่ดำเนินการดังกล่าว โดยให้รายงานสาเหตุและความถี่ของการไม่ดำเนินการตามพันธกรณีด้วย

 

ประเทศไทยให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2545 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 โดยมีกรอบเวลาพันธกรณีที่ 1 (ประเทศกลุ่มภาคผนวกที่ 1 มีเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกโดยรวมให้ได้ ร้อยละ 5)ระหว่างปี พ.ศ. 2551-2555 และพันธกรณีที่ 2 (กำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกโดยรวมของประเทศกลุ่มภาคผนวกที่ 1 เป็นร้อยละ 18) ระหว่างปี พ.ศ. 2556-2563

 

พันธกิจที่ประเทศไทยต้องดำเนินการ

1. จัดทำข้อมูลบัญชีก๊าซเรือนกระจก โดยใช้วิธีการที่รัฐภาคีตกลงกัน และสอดคล้องกับแนวทางในการจัดทำรายงานแห่งชาติที่รับรองโดยภาคีอนุสัญญาฯ 

2. การให้คำรับรองโครงการลดก๊าซเรือนกระจก ภายใต้กลไกการพัฒนาที่สะอาด ตลอดจนติดตามประเมินผลโครงการที่ได้รับคำรับรอง

3. ส่งเสริมการพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกและตลาดคาร์บอนในประเทศ

4. ดำเนินการโครงการต่างๆ เพื่อรณรงค์ส่งเสริมการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ซึ่งได้มีการดำเนินโครงการ อาทิ โครงการฉลากลดคาร์บอน โครงการคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เป็นต้น