อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC)

7678 17 มี.ค. 2566

กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) เกิดจากความพยายามของประชาคมโลกในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ขึ้นไปสะสมในชั้นบรรยากาศที่ห่อหุ้มโลกเพื่อรักษาความเข้มข้นของปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยจากการแทรกแซงของมนุษย์อันจะทำให้เกิดอันตรายต่อระบบภูมิอากาศ โดยที่การดำเนินงานจะต้องอยู่ในกรอบเวลาที่เหมาะสมเพียงพอที่จะทำให้ระบบนิเวศสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เองตามธรรมชาติ สามารถมั่นใจได้ว่าจะไม่เป็นการคุกคามต่อการผลิตอาหารและส่งเสริม การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

 

กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้รับการยอมรับในการประชุมที่สำนักงานใหญ่ขององค์การสหประชาชาติ ที่นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกาเมื่อ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 และเปิดให้ลงนามในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (United Nations Conference on Environment and Development) หรือการประชุมสุดยอดว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่กรุง รีโอเดจาเนโร (Rio de Janeiro Earth Summit) สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2535 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2537 มีวัตถุประสงค์เพื่อ รักษาความเข้มข้นของระดับก๊าซเรือนกระจก ไม่ให้กระทบต่อการผลิตอาหารและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยประเทศพัฒนาแล้วจะต้องเป็นผู้นำ ในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและคำนึงถึงความต้องการเฉพาะและสถานการณ์ของประเทศกำลังพัฒนาที่มีความเปราะบางต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งจะต้องให้มีการสนับสนุนเงินทุน เทคโนโลยี และการเสริมสร้างศักยภาพให้กับประเทศกำลังพัฒนาในการดำเนินงานอย่างเหมาะสม ภายใต้หลักการความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างและคำนึงถึงขีดความสามารถของประเทศ (CBDR-RC)

 

ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2535 ณ นครรีโอเดจาเนโร สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล และให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฯ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2537 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2538 โดยประเทศไทยอยู่ในฐานะกลุ่มประเทศนอกภาคผนวกที่ 1 (Non-Annex I) ปัจจุบันอนุสัญญาฯ นี้มีประเทศภาคีสมาชิกจำนวน 198 ประเทศ (ข้อมูล ณ กรกฎาคม 2566) (https://unfccc.int/parties-observers) โดยภาคีอนุสัญญาฯ มีแนวทางดำเนินการร่วมกัน ได้แก่

·ภาคีควรจะปกป้องระบบภูมิอากาศเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติทั้งในปัจจุบันและอนาคตบนหลักการของความเท่าเทียม (Equity) ความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างกัน (Common but differentiated responsibilities) และความสามารถของแต่ละประเทศ (Capabilities) นอกจากนี้ประเทศอุตสาหกรรมต้องเป็นผู้นำในการต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

·ความต้องการของประเทศกำลังพัฒนาที่มีสภาวะเปราะบางต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศควรจะได้รับการพิจารณาอย่างเต็มที่

·ภาคีควรมีมาตรการป้องกันไว้ก่อน (Precautionary) เพื่อคาดการณ์ ปกป้อง หรือลดสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยนโยบายและมาตรการต่างๆ ในการรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศควรจะมีความคุ้มค่าในการลงทุน (Cost-effective) เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อโลกโดยมีค่าใช้จ่ายต่ำสุด

·ภาคีควรจะให้การส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยนโยบายและมาตรการต่างๆที่จะปกป้องการเปลี่ยนแปลงระบบภูมิอากาศจากการกระทำของมนุษย์นั้น ควรจะเป็นมาตรการที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ของแต่ละประเทศ

·ประเทศภาคีควรจะมีความร่วมมือในการส่งเสริมการสนับสนุนทางการเงินและการเปิดกว้างของระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศซึ่งจะนำไปสู่การเจริญเติบโตและการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา

·ภายใต้หลักการความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างกันและสถานการณ์ของแต่ละประเทศอนุสัญญาฯ ทำให้มีการแบ่งกลุ่มประเทศที่เป็นภาคีอนุสัญญาฯ เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

 

ทั้งนี้ กลุ่มประเทศที่อยู่ในภาคผนวกที่ 1 (Annex I Countries) ปัจจุบันมี 43 ประเทศแบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อย ประกอบด้วย (1) ประเทศอุตสาหกรรมซึ่งเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) จัดเป็นกลุ่มประเทศภาคผนวกที่ 2 (Annex II Countries) และ (2) ประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจเปลี่ยนผ่าน (Economic in Transition: EIT) หรือประเทศในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของประเทศรัสเซีย ทั้งนี้ กลุ่มประเทศภาคผนวกที่ 2 มีข้อผูกพันในการสนับสนุนด้านการเงินและวิชาการแก่ประเทศกำลังพัฒนา ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

กลุ่มประเทศนอกภาคผนวกที่ 1 (Non-Annex I Countries) ซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาจำนวน 155 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย

 

พันธกิจที่ประเทศไทยต้องดำเนินการ

1.จัดทำ จัดส่ง และเผยแพร่บัญชีก๊าซเรือนกระจกต่อรัฐภาคีอนุสัญญาฯ โดยวิธีการที่รัฐภาคีตกลงกัน

2. จัดทำ ดำเนินการ และเผยแพร่มาตรการการลดก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมการปรับตัวที่เหมาะสมระดับชาติและระดับภูมิภาค

3.จัดส่งข้อมูลการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจก ตามแนวทางการดำเนินงานของอนุสัญญาฯ และข้อมูลอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการบรรลุวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาฯ

4. จัดทำแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แผนการปรับตัวแห่งชาติ และการบูรณาการนโยบายและแผนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับแผนระดับชาติอื่นๆ เช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

5. จัดทำโครงการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัส (Readiness Preparation Proposal: R-PP) เพื่อเตรียมความพร้อมในระดับประเทศ รวมทั้งติดตามการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคป่าไม้

 

คณะกรรมการ / คณะอนุกรรมการ ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย

1. คณะอนุกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติจัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2550 เพื่อเป็นกลไกสำคัญที่จะส่งผลให้การดำเนินงานได้บรรลุตามความมุ่งหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ มีอำนาจและหน้าที่ ในการ

(1) กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การป้องกันและการแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย การกักเก็บและการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

(2) กำหนดนโยบาย แนวทาง หลักเกณฑ์ และกลไกการดำเนินงานร่วมกับนานาชาติเกี่ยวกับการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม และผลประโยชน์ของประเทศ รวมทั้งข้อตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

(3) เสนอแนะการแก้ไขเพิ่มเติมหรือปรับปรุงกฎหมายที่จำเป็นหรือเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานต่างๆ ซึ่งเป็นพันธกรณีที่ประเทศไทยผูกพันและต้องปฏิบัติตามความตกลงที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาและพิธีสาร หรือการดำเนินการต่างๆ ที่ควรกระทำเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนหลักการและวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาหรือพิธีสาร ทั้งนี้ โดยให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม และผลประโยชน์ของประเทศ รวมทั้งข้อตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

(4) กำหนดแนวทางและท่าทีในการเจรจาเกี่ยวกับอนุสัญญาและพิธีสารโดยต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม และผลประโยชน์ของประเทศ รวมทั้งข้อตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

(5) กำกับการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐให้เป็นไปตามนโยบาย ยุทธศาสตร์ แนวทางหลักเกณฑ์ และกลไกการดำเนินงาน ที่กำหนด

(6) พิจารณาและสนับสนุนให้มีการจัดสรรงบประมาณแก่หน่วยงานของรัฐในการดำเนินงานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเหมาะสม

(7) กำหนดมาตรการเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชนในเรื่องที่เกี่ยวกับการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

2. คณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านวิชาการและฐานข้อมูล มีปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน คณะกรรมการประกอบด้วย ผู้แทนจากกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเลขานุการ  เจ้าหน้าที่สำนักงานนโยบายและแผนฯ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่ในการเสนอแนะข้อคิดเห็นทางวิชาการในการกำหนดนโยบายยุทธศาสตร์การป้องกันและการแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย รวมถึงเสนอแนะแนวทาง หลักเกณฑ์กลไกการดำเนินงานร่วมกับนานาชาติ และมาตรการที่จำเป็นหรือเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานต่าง ๆ ซึ่งเป็นพันธกรณีที่ประเทศไทยผูกพันและต้องปฏิบัติตามความตกลงที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาและพิธีสาร ตลอดจนแนวทางการเสริมสร้างความร่วมมือ ข้อมูลทางวิชาการ และปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย

 

3. คณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการประสานท่าทีไทยในการเจรจา มีอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ และเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานร่วม ผู้แทนจากกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นอนุกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเลขานุการ เจ้าหน้าที่กองกิจการเพื่อการพัฒนา กรมองค์การระหว่างประเทศ และเจ้าหน้าที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ช่วยเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่ ในการประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ ของไทย ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสัมคม เพื่อพิจารณาประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องสำหรับประกอบการพิจารณากำหนดเป็นท่าทีไทยในการเจรจา ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) และพิธีสารเกียวโต รวมทั้งกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งทวิภาคีและพหุภาคี ตลอดจนเสนอข้อมูล ความเห็น ข้อเสนอแนะ ปัญหา/อุปสรรค ในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวต่อคณะกรรมการนโยบายฯ และจัดตั้งคณะทำงานในด้านต่าง ๆ ตามความจำเป็นและเหมาะสม

 

4. คณะอนุกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการประชาสัมพันธ์และเสริมพลังความร่วมมือด้านภูมิอากาศ (Action for Climate Empowerment) มีปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน  คณะกรรมการประกอบด้วย ผู้แทนจากกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี เจ้าหน้าที่สำนักงานนโยบายและแผนฯ และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ช่วยเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่ในการเผยแพร่ และประชาสัมพันธ์ ข่าวสารองค์ความรู้ และแนวทางแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายใต้อนุสัญญาฯ ความตกลงปารีส เป้าหมายการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ประเทศไทยกำหนดให้กับประชาชน และทุกภาคส่วน นอกจากนี้ ยังส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมภายใต้การเสริมพลังความร่วมมือด้านภูมิอากาศ

 

ความก้าวหน้าการดำเนินการของประเทศไทย

- ประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 พร้อมทั้งจะบรรลุเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC) ให้ได้ร้อยละ 40 จากกรณีปกติ ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยได้ทบทวนยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย (Long-Term Low Greenhouse Gas Emission Development Strategy: LT-LEDS) และการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศ และได้จัดส่งเป้าหมายของประเทศด้านการลดก๊าซเรือนกระจกและการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ ฉบับปรับปรุง (Revised Version) และการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 (2nd Updated NDC) เอกสารทั้งสองฉบับ ให้กับสำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาฯ ด้วยแล้ว เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565

 

- การดำเนินงานภายในประเทศด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยได้จัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (National Adaptation Plan: NAP) เพื่อเป็นแนวทางในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยให้ความสำคัญ 6 สาขา ได้แก่ (1) การจัดการน้ำ (2) การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร (3) การท่องเที่ยว (4) สาธารณสุข (5) การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และ (6) การตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์

 

- การดำเนินงานภายในประเทศด้านการลดก๊าซเรือนกระจก โดยร่วมกับหน่วยงานภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการปรับปรุงแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย (NDC Action Plan on Mitigation) ประกอบด้วย ภาคพลังงานและการขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร ภาคของเสีย เพื่อให้มีความสอดคล้องตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้ NDC ร้อยละ 30-40 ในปี ค.ศ. 2030 (ครอบคลุมทุกภาคส่วนทางเศรษฐกิจ)

 

- การดำเนินงานภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ มีประเด็นที่จะมีการดำเนินงานหรือเจรจาต่อเนื่องจาก COP27 (ปี ค.ศ. 2022) ประกอบด้วย

(1) Mitigation work program เพื่อยกระดับการดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของแต่ละประเทศ

(2) Global goal on adaptation ที่ยังต้องกำหนดกรอบการดำเนินงาน (framework) และประเด็น (element) ร่วมกัน

(3) Loss and damage ซึ่งจะต้องติดตามความก้าวหน้าในการจัดตั้งคณะกรรมการ Transitional committee on the operationalization of the new funding arrangements for responding to loss and damage และการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ ดังกล่าว