สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (International Union for Conservation of Nature: IUCN)

2193 17 มี.ค. 2566

International Union for Conservation of Nature (IUCN) เป็นองค์การที่มีสถานะเป็นองค์การลูกผสมระหว่างองค์การระหว่างประเทศระดับรัฐบาล (Inter-governmental Organization: IGO) และองค์การระหว่างประเทศที่ไม่ใช่ระดับรัฐบาล (Non-governmental Organization: NGO) 

IUCN มีบทบาทในการส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในระดับโลก ความช่วยเหลือจาก IUCN มีความเด่นชัดในเรื่องการสนับสนุนทางวิชาการ การดำเนินงานของ IUCN จะมุ่งผลลัพธ์ในระดับภูมิภาคเป็นหลัก โดย IUCN จะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางที่รับความช่วยเหลือจากประเทศ และองค์กรต่าง ๆ แล้วนำไปดำเนินการร่วมกับองค์กรที่เป็นสมาชิก ซึ่งมีสมาชิกทั้งที่เป็นหน่วยงานรัฐบาลจากประเทศต่างๆ องค์การระหว่างประเทศ และองค์การเอกชนต่างประเทศทั่วโลก สมาชิกต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการเป็นสมาชิกประเภทองค์กรภาครัฐหรือองค์กรภาคเอกชน

ประเทศไทย เข้าร่วมเป็นสมาชิกเมื่อปี 2504 (กรมป่าไม้, กษ.) โดยในปัจจุบันกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในฐานะสมาชิกของ IUCN ได้จ่ายเงินค่าสมาชิกเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2543 โดยในปี พ.ศ. 2564 ได้จ่ายค่าสมาชิก เป็นจำนวน 4,041,844.17 บาท และในปี พ.ศ. 2565 จ่ายค่าสมาชิก เป็นจำนวน 4,318,640 บาท ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ได้จ่ายค่าบำรุงสมาชิกไปแล้วรวมทั้งสิ้น ประมาณ 72 ล้านบาท

นอกจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยังมีองค์กรภายในประเทศไทยที่เป็นสมาชิก IUCN อีก 9 องค์กร ได้แก่

(1) ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

(2) สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย

(3) สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม

(4) มูลนิธิฟรีแลนด์

(5) เครือข่ายพุทธศาสนิกสัมพันธ์เพื่อสังคม

(6) สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย

(7) มูลนิธิไทยรักษ์ป่า

(8) มูลนิธิเพื่อการอนุรักษ์เต่าทะเล หาดไม้ขาว

(9) มูลนิธิสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ประเทศไทย)

 

สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN)  ปฏิบัติหน้าที่เป็นองค์กรที่ปรึกษา (Advisory Body) ของศูนย์มรดกโลก (World Heritage Centre) และคณะกรรมการมรดกโลก (World Heritage Committee) ในด้านมรดกทางธรรมชาติ (Natural) และแหล่งแบบผสม (Mixed Cultural and Natural Heritage) ทั้งในเรื่องการพิจารณาให้ความเห็นต่อการนำเสนอเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกการขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลกในภาวะอันตราย (World Heritage in Danger) และการพิจารณารายงานสถานภาพการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลก (State of Conservation) โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้มีการประสานงานร่วมกับสำนักงานภูมิภาค IUCN ประจำประเทศไทย และIUCN World Heritage Programme ในการดำเนินงานตามพันธกรณีอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ มาอย่างต่อเนื่อง