คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (Economic and Social Commission for Asia and the Pacific - ESCAP)

499 17 มี.ค. 2566

เอสแคป จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือ และการพัฒนาด้านต่างๆ ให้แก่ประเทศสมาชิก ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศ เป็นหน่วยงานประสานการดำเนินงานภายใต้ ESCAP ของประเทศไทย นอกจากนี้ ESCAP ได้จัดตั้งคณะกรรมการทั้งหมด ๙ คณะกรรมการ ซึ่งจะมีการจัดประชุมทุกๆ ๒ ปี เพื่อหารือและกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาที่เป็นประเด็นท้าทายในแต่ละด้าน

 

บทบาทของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม :

เป็นหน่วยงานหลักในคณะกรรมการว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (Committee on Environment and Development: CED) ซึ่งเป็นหนึ่งใน ๙ คณะกรรมการย่อยของ ESCAP โดยที่ประชุมประจำปีของเอสแคป สมัยที่ ๖๙ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๖ ที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะกรรมการว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา หารือเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ คือ ๑) การรวมประเด็นความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งรวมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ๒) นโยบายและกลยุทธ์ในการวางแผนและการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ๓) นโยบายและกลยุทธ์ในการส่งเสริมการพัฒนาเมืองอย่างครอบคลุมและยั่งยืน

 

ล่าสุด ESCAP จัดการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสมัยที่ ๗ (CED 7) ระดับรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน - ๑ ธันวาคม ๒๕๖๕ ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ และผ่านระบบการประชุมทางไกล

 

สำหรับประเทศไทย นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รอง ปกท.ทส. ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้ร่วมการเสวนาโต๊ะกลม (Roundtable) หัวข้อ “Strengthening regional collaboration to protect our planet” กับผู้แทน ๑๑ ประเทศ ได้แก่ ประเทศมองโกเลีย ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐคาซัคสถาน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐมัลดีฟส์ สาธารณรัฐทาจิกิสถาน สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยประเทศไทยได้นำเสนอการดำเนินงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ประเทศไทยได้ผลักดันอย่างเป็นรูปธรรมผ่านการขับเคลื่อนด้วยโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green economic (BCG) การพัฒนาการจัดทำพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ได้แก่ พระราชบัญญัติป่าชุมชน พระราชบัญญัติความหลากหลายทางชีวภาพ พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนเน้นถึงการดำเนินการที่เกี่ยวกับประเด็นสิ่งแวดล้อมที่สำคัญต่าง ๆ ที่ไทยมีส่วนร่วมในภูมิภาค ได้แก่ การประกาศเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. ๒๐๕๐ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี ค.ศ. ๒๐๖๕ ผ่านการพัฒนากลไกคาร์บอนเครดิต ซึ่งเชื่อมั่นว่าการสนับสนุนจากนานาประเทศจะทำให้ประเทศไทยลดการปล่อยคาร์บอนลงร้อยละ ๔๐ ภายในปี ค.ศ. ๒๐๓๐ รวมทั้ง ประเทศไทยมีความร่วมมือกับภูมิภาคในการแก้ไขมลพิษทางอากาศที่สำคัญ เช่น การติดตามคุณภาพอากาศ การฝึกอบรมและแบ่งปันเทคโนโลยีและประสบการณ์ด้านการจัดการคุณภาพอากาศ รวมถึงการประยุกต์ใช้ดาวเทียมเพื่อติดตามและคาดการณ์ PM2.5 ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีบทบาทนำในการแก้ไขปัญหามลพิษจากพลาสติกซึ่งเป็นปัญหาข้ามพรมแดน โดยเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนสมัยพิเศษด้านขยะทะเล ซึ่งต่อมาประเทศสมาชิกได้ร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเล เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการจัดการขยะทะเลนำอาเซียนไปสู่การจัดการขยะอย่างครอบคลุมและมีส่วนร่วม สำหรับการดำเนินงานภายในประเทศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ยกระดับความพยายามในการจัดการกับพลาสติก โดยได้จัดทำ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนการเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และการห้ามนำเข้าเศษพลาสติกเข้าประเทศไทย ภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๘ และเน้นย้ำว่าประเทศไทยพร้อมร่วมมือกับนานาประเทศ เพื่อการส่งเสริมการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกต่อไป