การประชุมเวทีหารือระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (High-Level Political Forum on Sustainable Development: HLPF)

442 17 มี.ค. 2566

การประชุมเวทีหารือระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน HLPF เป็นหนึ่งในกลไกหลาย ๆ กลไกที่ระบุไว้ใน วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030  ที่ทำหน้าที่ในการติดตามและประเมินความคืบหน้าของการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ โดยมุ่งให้ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติและองค์กรเฉพาะทางอื่น ๆ เข้าร่วมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผล นอกจากนี้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่าง ๆ ของ UN ก็จะได้มีส่วนร่วมอย่างจริงจังในกระบวนการนี้อีกด้วย การประชุมนี้จัดขึ้นมี คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (Economic and Social Council หรือ ECOSOC) เป็นเจ้าภาพ

 

HLPF เปิดให้ประเทศต่าง ๆ สมัครเข้ารายงานความคืบหน้าของการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้โดยสมัครใจ ด้วยการส่งรายงาน “การติดตามและทบทวนผลการปฏิบัติตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ในระดับชาติโดยสมัครใจ” (Voluntary National Review: VNR) และเปิดให้คณะผู้แทนของแต่ละประเทศเข้าร่วมนำเสนอในงานอีกด้วย ซึ่งในกระบวนการนำเสนอจะมีการเปิดให้ถามคำถามและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ของประเทศต่าง ๆ ด้วย

 

การประชุม HLPF จัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา ในแต่ละปีจะมี ธีม ที่แตกต่างกัน ดังนี้

2013 – Building the future we want: from Rio+20 to the post-2015 development agenda (สร้างอนาคตที่เราต้องการ: จากริโอพลัส 20 ถึงวาระการพัฒนาหลังปี 2015)

2014 – Achieving the MDGs and charting the way for an ambitious post-2015 development agenda, including the SDGs (การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหสวรรษและวางแผนที่เดินทางสำหรับเป้าหมายการพัฒนาหลังปี 2015 ที่ทะเยอทะยาน รวมถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)) 

2015 – Strengthening integration, implementation and review – the HLPF after 2015 (สร้างความเข้มแข็งสำหรับการบูรณาการ การนำไปปฏิบัติและการสอบทาน – HLPF หลังปี 2015)

2016 – Ensuring that no one is left behind (สร้างหลักประกันว่าจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง)

 

สำหรับปี 2017 HLPF จัดขึ้นระหว่างวันจันทร์ที่ 10 กรกฎาคมถึงวันพุธที่ 19 กรกฎาคม โดยมีธีมหลักคือ “Eradicating poverty and promoting prosperity in a changing world” (การกำจัดความยากจนและส่งเสริมความมั่งคั่งในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง) ซึ่งกำหนดการอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ช่วง คือ (1) วันที่ 10-14 กรกฎาคมจะเป็นช่วงเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับธีมและการติดตามความก้าวหน้าของเป้าหมายที่พิจารณาในปีนี้ และ (2) วันที่ 17-19 กรกฎาคม เป็นช่วงที่ผู้แทนประเทศต่าง ๆ เดินทางมานำเสนอรายงาน VNR แต่ละวันจะมี side events ที่จัดตามห้องประชุมต่าง ๆ ด้วย

 

การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการประชุมครั้งแรกที่เริ่มมีการสอบทานความคืบหน้าของการพัฒนาเป็นรายเป้าหมาย และประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 44 ประเทศที่เข้าร่วมนำเสนอการรายงาน VNR ด้วย

 

เป้าประสงค์ที่ได้รับการพิจารณาเป็นการเฉพาะในปีนี้ประกอบด้วย

เป้าหมายที่ 1 – ยุติความยากจนในทุกรูปแบบและทุกที่ (End poverty in all its forms everywhere)

เป้าหมายที่ 2 – ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและพัฒนาโภชนาการและส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน (End hunger, achieve food security and improved nutrition and promote sustainable agriculture)

เป้าหมายที่ 3 – สร้างหลักประกันการมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีให้กับคนทุกคนในทุกช่วงวัย (Ensure healthy lives and promote well-being for all at all ages)

เป้าหมายที่ 5 – บรรลุความเท่าเทียมกันทางเพศสภาพและเสริมพลังให้ผูหญิงและเด็กหญิงทุกคน (Achieve gender equality and empower all women and girls)

เป้าหมายที่ 9 – สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการทำให้เป็นอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม (Build resilient infrastructure, promote inclusive and sustainable industrialization and foster innovation)

เป้าหมายที่ 14 – อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางน้ำอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Conserve and sustainably use the oceans, seas and marine resources for sustainable development)

 

การรายงานผลการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ภายใต้วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับชาติโดยสมัครใจ (Voluntary National Review: VNR) ของประเทศไทย

ประเทศไทยได้นำเสนอรายงานผลการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ภายใต้วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับชาติโดยสมัครใจ (Voluntary National Review: VNR) ประจำปี 2564 ต่อที่ประชุมเวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (HLPF) ภายใต้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (ECOSOC) โดยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผ่านการบันทึกวีดิทัศน์

การรายงาน VNR ครั้งนี้ เป็นการรายงานอย่างเป็นทางการครั้งที่ 2 ของประเทศไทย ภายหลักการรายงานต่อที่ประชุม HLPF ในครั้งแรกเมื่อปี 2017 (Thailand’s VNR 2017) โดยในครั้งนี้ไทยได้เน้นย้ำว่า ทั่วโลกต้องระดมความคิดเพื่อหาทางรับมือกับความเหลื่อมล้ำซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นสืบเนื่องจากวิกฤตโควิด-19 และการเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกดิจิทัล โดยได้นำเสนอวิสัยทัศน์ของไทยในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ ความสมดุลของทุกสิ่ง ไม่เฉพาะแต่ความสมดุลระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม แต่รวมถึงการกระจายรายได้ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม และความปลอดภัยสำหรับทุกคน ซึ่งไทยได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาของไทยมาประยุกต์ใช้และพัฒนาให้สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบันในรูปแบบของโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model) 

ทั้งนี้ ในการจัดทำรายงานฯ ภาคส่วนต่าง ๆ อาทิ ภาคเอกชน ภาควิชาการ เยาวชน อาสาสมัคร และภาคนิติบัญญัติ ได้ร่วมสนับสนุนข้อมูลและให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือและการทำงานแบบเป็นหุ้นส่วนระหว่างทุกภาคส่วนอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการขับเคลื่อนการบรรลุ SDGs และการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทยต่อไป

 

ทั้งนี้ ท่านสามารถดาวน์โหลดเอกสารรายงาน VNR ประจำปี 2564 ของไทย โดยคลิกที่ลิงค์หรือรูปภาพด้านล่างนี้

ศูนย์ข้อมูล สำนักงานปลัดกระทรวง (โทร. ภายใน 2149) (un.org)