อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความรับผิดทางแพ่งสำหรับความเสียหายจากมลพิษของน้ำมัน ค.ศ.1992 = International convention on civil liability for oil pollution damage, 1992

810 27 ก.พ. 2566

อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความรับผิดทางแพ่งสำหรับความเสียหายจากมลพิษของน้ำมัน ค.ศ. 1992 (International Convention on Civil Liability for Oil Pollution Damage, 1992 หรือ CLC 1992)

          การเกิดน้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเล หรือ Oil Spill นั้นเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ ซึ่งส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศทางทะเล องค์การระหว่างประเทศ (International Maritime Organization: IMO) ได้จัดทำอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความรับผิดทางแพ่งสำหรับความเสียหายจากมลพิษของน้ำมัน ค.ศ. 1992 (International Convention on Civil Liability for Oil Pollution Damage, 1992 หรือ CLC 1992) ซึ่งจะมีผลใช้บังคับกับความเสียหายจากมลพิษน้ำมันที่เกิดขึ้นในอาณาเขตปกครอง หรืออาณาเขตของประเทศที่เป็นภาคีอนุสัญญาฯ ซึ่งรวมถึงเขตเศรษฐกิจจำเพาะ หรือพื้นที่ที่มีลักษณะเดียวกันของแต่ละรัฐภาคี โดยอนุสัญญาฉบับนี้จะสามารถใช้ได้เฉพาะกับน้ำมันที่มีลักษณะคงตัว (Persistent Oil) เช่น น้ำมันดิบ น้ำมันดีเซลชนิดหนัก และน้ำมันหล่อลื่น ส่วนน้ำมันประเภทที่มีลักษณะไม่คงตัว (Non-persistent Oil) เช่น แก๊ซโซลีน น้ำมันดีเซลชนิดเบา และคีโรซีน จะไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายภายใต้อนุสัญญานี้ และจะครอบคลุมเฉพาะเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการรั่วไหลหรือการปล่อยน้ำมันที่มีลักษณะคงตัวจากเรือเดินทะเลที่ถูกสร้างขึ้น หรือถูกใช้เพื่อขนถ่ายน้ำมันเป็นสินค้า (เรือบรรทุกน้ำมัน)

          สำหรับประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาโดยการภาคยานุวัติเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2550 เพื่อสร้างหลักประกันในการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและผู้ใช้ประโยชน์ทุกฝ่ายให้ได้รับการชดใช้ค่าเสียหายจากเจ้าของเรือไทยและเรือต่างประเทศในจำนวนที่เพียงพอ และเพื่อให้เจ้าของเรือบรรทุกน้ำมันไทยสามารถจัดหาหลักประกันในการชำระค่าเสียหายในกรณีเกิดอุบัติการณ์มลพิษน้ำมันรั่วไหลจากเรือตนด้วยต้นทุนที่ไม่สูงเกินไป

          อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความรับผิดทางแพ่งสำหรับความเสียหายจากมลพิษของน้ำมัน ค.ศ. 1992 (International Convention on Civil Liability for Oil Pollution Damage, 1992 หรือ CLC 1992) ไม่ครอบคลุมถึงกรณีที่น้ำมันได้รั่วไหลจากถังน้ำมันเชื้อเพลิงของเรือประเภทอื่นที่ไม่ใช่เรือบรรทุกน้ำมัน ดังนั้น เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นจึงไม่มีกฎหมายที่จะนำมาใช้บังคับเพื่อให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการรั่วไหลของน้ำมันดังกล่าวเรียกร้องและได้รับค่าสินไหมทดแทนโดยทันทีและครอบคลุมค่าเสียหาย องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) จังได้จัดทำ อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการจัดตั้งกองทุนระหว่างประเทศเพื่อชดใช้ความเสียหายอันเนื่องมาจากมลพิษน้ำมัน ค.ศ. 2001 (International Convention on Civil Liability for Oil Pollution Damage 2001) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออุดช่องว่างและเพื่อให้ครอบคลุมมาตรการในการป้องกันความเสียหายกรณีน้ำมันที่รั่วไหลจากเรือทุกประเภท