อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982

2473 27 ก.พ. 2566

อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 (United Nations Convention on the Law of the Sea 1982)

อนุสัญญาฯ ได้มีการรับรอง ณ การประชุมสหประชาชาติด้านกฎหมายทะเล ครั้งที่ 3 (Third United Nations Conference on the Law of the Sea) และเปิดให้รัฐต่าง ๆ เข้าเป็นภาคี อนุสัญญาฯ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ อาทิ สิทธิหน้าที่ของรัฐในเขตทางทะเลต่าง ๆ สิทธิการเดินเรือ การแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล กลไกการระงับข้อพิพาทไทยได้ลงนามในอนุสัญญาฯ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2525 และให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 

สาระสำคัญของอนุสัญญาฯ

1. การกำหนดเขตทางทะเลต่าง ๆ สถานะทางกฎหมาย สิทธิและหน้าที่ของรัฐชายฝั่งและรัฐอื่น ๆ ในแต่ละเขตทางทะเล ได้แก่

1. น่านน้ำภายใน (internal waters) หมายถึง น่านน้ำที่อยู่ถัดจากเส้นฐานที่ใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขตเข้ามาทางผืนแผ่นดินของรัฐชายฝั่ง ซึ่งรัฐชายฝั่งมีอำนาจอธิปไตยใน (หรือเหนือ) น่านน้ำภายใน

2. ทะเลอาณาเขต (territorial sea) มีความกว้างไม่เกิน 12 ไมล์ทะเล โดยวัดจากเส้นฐานออกไป รัฐชายฝั่งมีอำนาจอธิปไตย (sovereignty) เหนือทะเลอาณาเขต

3. เขตต่อเนื่อง (contiguous zone) โดยได้แก่ บริเวณที่อยู่ถัดไปจากทะเลอาณาเขต มีความกว้างไม่เกิน 24 ไมล์ทะเล วัดจากเส้นฐานที่ใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขต โดยในเขตต่อเนื่อง รัฐชายฝั่งมีอำนาจในการกำหนดมาตรการที่จำเป็นเพื่อป้องกันหรือลงโทษการละเมิดกฎหมายและระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับศุลกากร การคลัง การเข้าเมือง และการสาธารณสุข

4. เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone - EEZ) ได้แก่ บริเวณที่อยู่ถัดออกไปจากทะเลอาณาเขต มีความกว้างไม่เกิน 200 ไมล์ทะเลจากเส้นฐานที่ใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขต

5. ในเขต EEZ รัฐชายฝั่งมีสิทธิอธิปไตย (sovereign rights) ซึ่งเป็นสิทธิที่จำกัดกว่าอำนาจอธิปไตย แต่ครอบคลุมเรื่องการสำรวจ การแสวงประโยชน์ การอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตเหนือพื้นดินท้องทะเลและดินใต้ผิวดินของพื้นดินท้องทะเล และในห้วงน้ำเหนือขึ้นไป รวมถึงการสร้างเกาะเทียม สิ่งก่อสร้าง และสิ่งติดตั้งในทะเล เป็นต้น

6. ไหล่ทวีป (continental shelf) หมายถึง พื้นดินท้องทะเลและดินใต้ผิวดินของบริเวณใต้ทะเล ซึ่งขยายเลยทะเลอาณาเขตออกไปตามธรรมชาติของดินแดนจนถึงริมนอกของขอบทวีป หรือจนถึงระยะ 200 ไมล์ทะเลจากเส้นฐานซึ่งใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขต และในบางกรณี ไหล่ทวีปสามารถขยายได้จนถึง 350 ไมล์ทะเลจากเส้นฐาน

7. ในบริเวณไหล่ทวีป รัฐชายฝั่งสามารถใช้สิทธิอธิปไตยในการสำรวจและแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติบน ไหล่ทวีป

8. ทะเลหลวง (high seas) หมายถึง ทะเลที่ไม่ใช่น่านน้ำภายใน ทะเลอาณาเขต หรือเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐใด ทั้งนี้ ในทะเลหลวง รัฐทั้งปวงมีเสรีภาพในการเดินเรือ การบินผ่าน การวางสายเคเบิล และท่อใต้ทะเล รวมทั้งเสรีภาพในการทำประมง เสรีภาพในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

 

อนึ่ง อนุสัญญาฯ ได้กำหนดให้ทรัพยากรแร่ทั้งปวงที่อยู่ในสภาพของแข็ง ของเหลว และแก๊สบริเวณ ใต้พื้นดินท้องทะเล รวมทั้งก้อนแร่โลหะสารพัดชนิดที่อยู่ในบริเวณนอกเหนืออำนาจรัฐใดๆ นี้ หรือบริเวณที่อนุสัญญาฯ กำหนดให้มีชื่อว่า "บริเวณพื้นที่" (The Area) เป็นมรดกร่วมของมนุษยชาติ (common heritage of mankind) ซึ่งรัฐไม่อาจอ้างหรือใช้อธิปไตยเหนือส่วนใดส่วนหนึ่งของบริเวณพื้นที่นี้ได้ โดยอนุสัญญาฯ ได้จัดตั้งองค์การพื้นดินท้องทะเลระหว่างประเทศ หรือ International Seabed Authority (ISA) เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการทรัพยากรแร่ในบริเวณดังกล่าว

2. การคุ้มครองและการรักษาสิ่งแวดล้อม

รัฐภาคีมีพันธกรณีที่จะต้องคุ้มครองและรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเล ในการนี้ รัฐใช้มาตรการทั้งปวงซึ่งจำเป็นเพื่อป้องกัน ลด และควบคุมภาวะมลพิษของสิ่งแวดล้อมทางทะเล ไม่ว่าจะมาจากแหล่งใด รวมทั้งให้รัฐใช้มาตรการทั้งปวงที่จำเป็นเพื่อประกันว่า กิจกรรมภายใต้เขตอำนาจหรือการควบคุมของตนจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายจากภาวะมลพิษแก่รัฐอื่น

3. การระงับข้อพิพาท

อนุสัญญาฯ กำหนดกลไกการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐภาคีเกี่ยวกับการใช้และการตีความอนุสัญญาฯ