“วราวุธ” ต้อนรับ “รัฐมนตรีช่วยฯ พลังงาน สหรัฐอเมริกา” หารือความร่วมมือแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน ด้วยการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด

186 31 ส.ค. 2565

NEWS : “วราวุธ” ต้อนรับ “รัฐมนตรีช่วยฯ พลังงาน สหรัฐอเมริกา” หารือความร่วมมือแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน ด้วยการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด

วันที่ 31 สิงหาคม 2565 เวลา 16.30 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ให้การต้อนรับ และร่วมหารือ

กับ นายเดวิด เติร์ก (Mr. David Turk) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงาน แห่งสหรัฐอเมริกา และคณะ โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงฯ และผู้แทน

จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เข้าร่วมด้วย ณ ห้องประชุม

ชั้น 20 อาคารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อหารือถึงการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทยในภาคพลังงาน ในฐานะที่

กระทรวงฯ เป็นหน่วยงานประสานการดำเนินงานของประเทศไทย เพื่อให้ประเทศไทยสามารถบรรลุตามเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี

ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065

 

โดยสหรัฐฯ ได้นำเสนอถึงข้อริเริ่ม เรื่อง Net Zero World Initiative เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนของภาคพลังงาน ผ่านกระบวนการลดต้นทุนในเทคโนโลยีต่าง ๆ

ซึ่งได้มีการศึกษา วิจัย ใน National Lab ด้านต่าง ๆ ของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง EV, Hydrogen, Solar หรือพลังงานสะอาดอื่น ๆ และได้มีการนำเทคโนโลยี

เหล่านั้นไปใช้จริงแล้ว สหรัฐฯ จึงประสงค์ที่จะขยายผลด้วยการสนับสนุนทางวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ การถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อสร้างขีดความสามารถ ตลอดจน

ส่งเสริมการลงทุนในพลังงานสะอาดในประเทศอื่น ๆ โดยคัดเลือกประเทศต่าง ๆ จากทั่วโลกไม่กี่ประเทศเข้าร่วมในข้อริเริ่มนี้ ซึ่งเห็นว่า ประเทศไทย

มีการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง จึงได้ใช้โอกาสที่เดินทางเยือนประเทศไทยในครั้งนี้เชิญชวนเข้าร่วมข้อริเริ่มดังกล่าว

 

ทั้งนี้ นายวราวุธ ได้กล่าวว่า กระทรวงฯ ได้ให้ความสำคัญในการแสวงหาความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติ

อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะภาคธุรกิจเอกชน และภาคการเงินการคลัง โดยได้พยายามกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเห็นถึงความสำคัญ และผลกระทบจาก

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ อาทิ มาตรการทางด้านภาษี กองทุนสีเขียว ตลอดจนการเปลี่ยนคาร์บอน

ให้มีมูลค่าในรูปแบบคาร์บอนเครดิต ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนผ่านจากยุค Black Gold ไปสู่ยุค Green Gold ส่วนทางด้าน นายเดวิด เติร์ก ได้กล่าวชื่นชม

ถึงความก้าวหน้าการดำเนินงานของไทย และยินดีให้การสนับสนุนประเทศไทย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ประกาศไว้ โดยเฉพาะการลดต้นทุนของเทคโนโลยี

พลังงานทางเลือก หรือพลังหมุนเวียน

 

 

ที่มา : https://www.mnre.go.th/th/news/detail/132159

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง