NEWS : ทส. หารือ EU เสริมความเข้มแข็ง ร่วมขับเคลื่อน BCG Model
วันนี้ (28 มีนาคม 2565) เวลา 10.00 น. นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) มอบหมายให้ นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี
รองปลัดกระทรวงฯ พร้อมด้วย นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ และเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมควบคุมมลพิษ
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงฯ และกระทรวง
การต่างประเทศ ร่วมหารือในประเด็น BCG Model กับ Ms. Astrid Schomaker, Director of International Affairs, Directorate-General for Environment of
the European Commission และคณะ ณ ห้องประชุม 202 อาคารกระทรวงฯ
รองปลัดกระทรวงฯ ได้กล่าวถึงนโยบายสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงฯ ในเรื่องของ BCG Model และในประเด็นต่าง ๆ ทั้งการให้ความสำคัญกับความหลากหลาย
ทางชีวภาพ การแก้ไขปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งเชื่อมโยงกับความหลากหลายทางชีวภาพ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยหวังว่าประเทศไทย
และ EU จะร่วมมือกัน ภายใต้กรอบ High Ambition Coalition (HAC) for Nature and People ทั้งนี้ ได้เสนอให้ EU สนับสนุนประเทศไทยในการดำเนินงาน
ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ อาทิ การเสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากร การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี และกลไกทางการเงิน เป็นต้น
อีกทั้ง ยังได้หารือถึง ประเด็นการจัดการขยะพลาสติกและขยะทะเล การพัฒนาข้อตกลงระหว่างประเทศในการป้องกันมลพิษจากพลาสติกในสิ่งแวดล้อม
โดยประเทศไทยมีส่วนร่วมและเห็นถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาทั้งระบบ และการจัดการขยะทะเล ที่ประเทศไทยได้เป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาขยะทะเล
ภายใต้กรอบ ASEAN Framework Action on Marine Debris และเห็นพ้องต้องกันว่า microplastic เป็นประเด็นปัญหาที่จะต้องร่วมกันเร่งแก้ไข
นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงประเด็นการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ซึ่งเห็นร่วมกันถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการลักลอบค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย โดยประเทศไทย
ในฐานะประเทศภาคีอนุสัญญา CITES มีการดำเนินงานที่เข้มแข็งและมีส่วนร่วมกับหลายภาคส่วน และหวังว่าจะได้แลกเปลี่ยนข้อมูล การดำเนินงานร่วมกันกับ EU
ต่อไป
โอกาสนี้ ผู้แทน EU ยังได้กล่าวถึง กฎระเบียบ (ฉบับใหม่) เพื่อลดการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา EU โดยคาดว่า จะบังคับใช้ภายในปี
พ.ศ. 2565 ที่ครอบคลุมการค้าสินค้าเกษตรที่ไม่ได้มาจากแหล่งผลิตที่มีการทำลายพื้นที่ป่าไม้ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก