สาธารณรัฐประชาชนจีน

996 15 พ.ค. 2566

ความร่วมมือด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระหว่าง ไทย - จีน

 


 

 

1. ความร่วมมือทางด้านทะเล (Marine Cooperation) ระหว่าง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และทบวงกิจการทางมหาสมุทรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (SOA)

โดยร่วมกันดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือทางด้านทะเล ผ่านการดำเนินกิจกรรมและโครงการที่ครอบคลุม อาทิ การแลกเปลี่ยนและร่วมมือทางนโยบาย

ด้านทะเล การจัดการบริเวณชายฝั่งและหมู่เกาะในทะเล การคุ้มครองระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมทางทะเล การสํารวจและวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเล การบรรเทาและ

ป้องกันภัยพิบัติทางทะเล การสํารวจระยะไกลและดาวเทียมสํารวจมหาสมุทร เทคโนโลยีการติดตามและเฝ้าระวังมหาสมุทรและมาตรฐานของเครื่องมือที่สร้างขึ้น

จากความรู้เทคโนโลยี การแลกเปลี่ยนข้อมูลและสารสนเทศทางทะเล เทคโนโลยีด้านชีวพันธุกรรม และความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล รวมถึงโครงการ

วิจัยร่วมไทย-จีน อาทิ โครงการ Coastal Vulnerability Research (CVR) และโครงการ Ocean Forecasting and Marine Disaster Mitigation System of

Southeast Asia Seas เป็นต้น

 

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 คณะผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรธรณี

และสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมไทย - จีน ครั้งที่ 7 (Joint Committee: JCM-7)

ภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างไทย - จีน ด้านทะเล โอกาสนี้ ได้ร่วมฉลองเนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี ของการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการวิจัยร่วมไทย - จีน 

ด้านสภาพภูมิอากาศและระบบนิเวศทางทะเล ณ เมืองเซี่ยเหมิน สาธารณรัฐประชาชนจีน  

 

  

 

2. ความร่วมมือทางวิชาการด้านป่าชายเลน (Mangrove Conservation) ระหว่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กับศูนย์ความร่วมมือ

ด้านสิ่งแวดล้อมอาเซียน-จีน (China and the China-ASEAN Environmental Cooperation Center) และมูลนิธิอนุรักษ์ป่าชายเลน

และพื้นที่ชุ่มน้ำเซินเจิ้น (the Shenzhen Mangrove Wetlands Conservation Foundation)

โดยมีการดำเนินความร่วมมือทางวิชาการด้านอนุรักษ์ป่าชายเลน โดยความร่วมมือดังกล่าวเป็นกรอบความร่วมมือทางวิชาการระหว่างหน่วยงานในการทำกิจกรรม

ต่าง ๆ ที่มุ่งเน้นการศึกษาวิจัยร่วมกันในด้านป่าชายเลน ตลอดจนสนับสนุนแลกเปลี่ยน การเรียนรู้แบบปฏิบัติที่ดีในด้านการอนุรักษ์ป่าชายเลน

 

3. ความร่วมมือทางวิชาการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณีไทย-จีน ระหว่างกรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) กับกรมสำรวจธรณีวิทยาสาธารณรัฐ

ประชาชนจีน (China Geological Survey: CGS)

โดยการดำเนินการส่งเสริมและพัฒนางานทางวิชาการ แลกเปลี่ยนข้อมูลและองค์ความรู้ ผลการวิจัย และพัฒนาศักยภาพบุคลากรของทั้งสองประเทศ ในด้านต่าง ๆ

ได้แก่ การวิจัยและเทียบสัมพันธ์ธรณีวิทยาพื้นฐาน การอนุรักษ์ธรณี อุทยานธรณี และการท่องเที่ยวเชิงธรณี เทคโนโลยีการสำรวจทรัพยากรแร่ธรณีวิทยา

และธรณีพิบัติภัยและบรรพชีวินวิทยา ผ่านกิจกรรมความร่วมมือ อาทิ การแลกเปลี่ยนข้อมูลวิชาการทางวิทยาศาสตร์และทางเทคนิค การศึกษาวิจัย และแลกเปลี่ยน

ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง การประชุมทางวิชาการ และประชุมเชิงปฏิบัติการ และการสำรวจร่วมของทั้งสองฝ่าย รวมถึงการสนับสนุนให้ทุกฝึกอบรมและทุนการศึกษา

ในระดับปริญญาโท - เอก

 

4. ความร่วมมือในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์บ้านพี่เมืองน้อง (Museum Management and the sister museum) ศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์

ไดโนเสาร์ภูเวียง ระหว่าง กรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) กับพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์จื้อกง (Zigong Dinosaur Museum)

โดยมีการดำเนินการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ เพื่อการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์อย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มเครือข่ายความร่วมมือระหว่างอุทยานธรณี

ของไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ผ่านกิจกรรมและความร่วมมือ ได้แก่

1) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านวิชาการและประสบการณ์การในการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์

2) การฝึกอบรม การจัดแสดงนิทรรศการ เทคนิคการสำรวจขุดค้นและการเตรียมตัวอย่างไดโนเสาร์ และแลกเปลี่ยนตัวอย่างหินและซากดึกดำบรรพ์ร่วมกัน

 

5. ความร่วมมือในสาขาทรัพยากรน้ำ ระหว่างกรมทรัพยากรน้ำ (ทน.) และกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี กระทรวง

ทรัพยากรน้ำแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

โดยมีการดำเนินความร่วมมือ 7 ด้าน ได้แก่

1) การพัฒนายุทธศาสตร์ นโยบาย และการวางแผนทรัพยากรน้ำ

2) การบริหารจัดการ การอนุรักษ์ และการป้องกันทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน

3) การส่งเสริมการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้เพื่อการบรรเทาภัยพิบัติจากการเกิดน้ำท่วมและน้ำแล้ง

4) การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางอุทกวิทยา

5) การเสริมสร้างขีดความสามารถแก่ผู้จัดการและนักวิชาการด้านทรัพยากรน้ำ

6) การประสานงานและความร่วมมือในการจัดกิจกรรมด้านน้ำระหว่างประเทศ

7) การฝึกอบรมทางวิชาการหรือการใช้องค์ความรู้ในสาขาทรัพยากรน้ำที่มีความสนใจร่วมกัน

 

6. ความร่วมมือด้านอุทกธรณีวิทยาและธรณีพิบัติ ระหว่างกรมทรัพยากรน้ำบาดาล (ทบ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

และสำนักงานสำรวจทางธรณีวิทยา กระทรวงที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

โดยมีการดำเนินกิจกรรมด้านธรณีวิทยาภายใต้ความเท่าเทียมและผลประโยชน์ที่มีร่วมกัน ผ่านความร่วมมือและแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ทางด้านวิชาการ

และผู้เชี่ยวชาญ เช่น การสำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาล ระบบติดตามสถานการณ์น้ำบาดาล การบริหารจัดการฐานข้อมูลน้ำบาดาล อุทกธรณีวิทยาและ

ธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม รวมถึงปฐพีสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน และหัวข้ออื่น ๆ ที่มีความสนใจร่วมกัน เป็นต้น

 

7. ข้อริเริ่มปักกิ่งเพื่อการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสายแถบและเส้นทาง (Beijing Initiative on Belt and Road Green Development)

ปี พ.ศ. 2566 ในวาระครบรอบ 10 ปี ของข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) สาธารณรัฐประชาชนจีนจึงจัดการประชุมเวทีข้อริเริ่ม

สายแถบและเส้นทาง ครั้งที่ 3 (3rd Belt and Road Forum for International Cooperation) ระหว่างวันที่ 17 - 18 ตุลาคม 2566 ณ กรุงปักกิ่ง โดยการประชุม

เวทีระดับสูงเพื่อการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (High-Level Forum on Green Development) ถูกจัดคู่ขนานในวันที่ 18 ตุลาคม 2566 และจะมีการประกาศ

ข้อริเริ่มฯ โดย H.E. Huang Runqiu รัฐมนตรีว่าการกระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Ministry of Ecology and Environment of

the People’s Republic of China) ทั้งนี้ ประเทศไทยและประเทศต่าง ๆ ได้รับเชิญให้ร่วมสนับสนุน (co-sponsor) ข้อริเริ่มฯ โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

ได้เข้าร่วมการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง ครั้งที่ 3 (3rd Belt and Road Forum for International Cooperation) และการประชุมเวทีระดับสูงเพื่อการ

พัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (High-Level Forum on Green Development)  โดยประเทศไทยได้มีหนังสือแจ้งร่วมสนับสนุน (co-sponsor) ข้อริเริ่มปักกิ่งเพื่อ

การพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสายแถบและเส้นทาง เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566

 

โดยข้อริเริ่มมีสาระสำคัญ ดังนี้

 

1) เพื่อระลึกถึงคำมั่นระดับโลกทั้งในเรื่องวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 การดำเนินงานตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพ

ภูมิอากาศ (UNFCCC) และความตกลงปารีส ตลอดจนอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลก

(GBF) รวมถึงให้ความสำคัญกับประเทศกำลังพัฒนาที่ควรได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอทั้งกองทุนและการเพิ่มขีดความสามารถเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมาย

ระดับโลก

 

2) เพื่อเรียกร้องให้ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ ได้แก่ การหารืออย่างครอบคลุมและดำเนินงานเพื่อส่งเสริมนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาสีเขียวและ

การปล่อยคาร์บอนต่ำ การตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งด้านการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การส่งเสริมการดำเนินงานของกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลก โดยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการเรียนรู้เพื่อการเพิ่มขีดความสามารถ

ผ่านการพัฒนากิจกรรมความร่วมมือในประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือด้านการปกป้องทางนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม การควบคุมมลพิษ

การแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ นโยบายและเทคโนโลยีการปกป้องสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมการเชื่อมโยงโครงสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การก่อสร้างที่มี

ภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับปรุงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล การส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานที่เป็นมิตรต่อ

สิ่งแวดล้อม การพัฒนาพลังงานที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ การตั้งเป้าหมายการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน การส่งเสริมความร่วมมือด้านการขนส่งที่เป็นมิตรต่อ

สิ่งแวดล้อม การจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ แผนงานและมาตรฐานภาคการขนส่ง การส่งเสริมความร่วมมือด้านการเงินที่เป็นมิตรต่อ

สิ่งแวดล้อม การใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การแลกเปลี่ยนการลงทุนด้านภูมิอากาศ สนับสนุนการจัดตั้งหุ้นส่วนการ

ลงทุนและการเงินเพื่อการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือในเวทีประชุมที่เกี่ยวข้องด้านการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อ

สิ่งแวดล้อม

 

ทั้งนี้ การร่วมสนับสนุนข้อริเริ่มปักกิ่งฯ จะทำให้ประเทศไทยได้รับการสนับสนุนจากสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

และคาร์บอนต่ำ ผ่านกิจกรรมบนพื้นฐานความสมัครใจ ได้แก่ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการเรียนรู้เพื่อการเพิ่มขีดความสามารถ ตลอดจนการได้รับองค์ความรู้

ด้านเทคโนโลยีการปกป้องสิ่งแวดล้อม การลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงประสบการณ์ในการดำเนินงาน

ตามกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลก การพัฒนาพลังงานที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ และการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการใช้เครื่องมือ

ทางการเงินเพื่อการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสนับสนุนการดำเนินงานของประเทศไทยเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050

และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065