ภูมิภาคอาเซียน

ภูมิภาคอาเซียน

การประชุมระดับรัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ ๖ (6th Greater Mekong Subregion Environment Ministers’ Meeting : GMS EMM-6) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง

51 13 ธ.ค. 2567

การประชุมระดับรัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ ๖
(6th Greater Mekong Subregion Environment Ministers’ Meeting : GMS EMM-6) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง

                 การประชุมระดับรัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ ๖ (6th Greater Mekong Subregion Environment Ministers’ Meeting : GMS EMM-6) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๐ - ๑๓ กันยายน ๒๕๖๗ เพื่อให้รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงร่วมกันแลกเปลี่ยนนโยบายและหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของอนุภูมิภาค รวมถึงรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วยผู้แทนรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ประเทศไทยและสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม รวมถึงธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) พร้อมด้วยคณะผู้แทนไทย ประกอบด้วย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เข้าร่วมกาประชุมดังกล่าว มีสรุปผลการประชุมที่สำคัญ ดังนี้

                 ๑. การประชุมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ Climate Actions and Environmental Sustainability in the GMS ระหว่างวันที่ ๑๐ - ๑๑ กันยายน ๒๕๖๗ เพื่อให้ประเทศสมาชิกได้ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวปฏิบัติในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ (๑) การสร้างความแข็งแกร่งต่อสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ (๒) การส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่คาร์บอนต่ำ (๓) การส่งเสริมภูมิทัศน์อัจฉริยะด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate-Smart Landscapes) (๔) การจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม (๕) การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และ (๖) เครื่องมือทางการเงินเพื่อรับมือกับสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ โดยที่ประชุมเห็นว่าอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงควรบูรณาการการดำเนินงานในประเด็นดังกล่าวร่วมกัน รวมถึงจัดทำกฎหมาย นโยบาย และแผนงานระดับอนุภูมิภาค เพื่อสร้างความเชื่อมโยงและขับเคลื่อนให้การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง สามารถรับมือต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมีความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดยการแบ่งปันข้อมูลแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เทคโนโลยี และแนวปฏิบัติที่ดี รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการเงิน และองค์การระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ที่ประชุมมีข้อเสนอแนะต่อการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของอนุภูมิภาค อาทิ ส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีที่เป็นมิตรและสนับสนุนการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม เสริมสร้างความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้านสภาพภูมิอากาศ การใช้เครื่องมือทางการเงินในการรับมือกับปัญหาสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ และพัฒนานโยบายที่เอื้อต่อการลงทุน รวมถึงสร้างเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนความรู้และความร่วมมือ เพื่อพัฒนาศักยภาพของทุกภาคส่วนในการมีส่วนร่วมสร้างสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืนและคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับประชาชนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

                   ๒. การประชุมประจำปีคณะทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ ๒๘ ภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๖๗ มีสรุปผลการประชุมดังนี้

                       ๒.๑  H.E. PAK Sokharavuth ตำแหน่ง Undersecretary of State กระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา กล่าวต้อนรับ โดยเน้นย้ำถึงบทบาทของคณะทำงานด้านสิ่งแวดล้อมในการเป็นผู้นำปกป้องและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะการมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และการสร้างความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมในอนุภูมิภาค รวมทั้งเน้นย้ำถึงความสำคัญของการร่วมมือกันของประเทศสมาชิกในการแก้ไขปัญหามลพิษจากพลาสติกทั้งบนบกและในทะเล ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และระบบนิเวศ รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน เพื่อความยั่งยืนของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

                           ๒.๒  ที่ประชุมหารือข้อสรุปเอกสารผลลัพธ์การประชุม GMS EMM-6 จำนวน ๒ ฉบับ ดังนี้

                                (๑) GMS 2030 Strategic Framework for Accelerating Climate Action and Environmental Sustainability เป็นกรอบการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการเตรียมความพร้อมในการรับมือต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นการยกระดับความร่วมมือระดับภูมิภาค การเสริมสร้างขีดความสามารถ และสนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยครอบคลุมการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้ (๑) Climate and Disaster Resilience and Loss and Damage Funds (๒) Net-Zero Transition and Climate Change Mitigation (๓) Pollution Control and Circular Economy และ (๔) Nature-based Solutions รวมถึงประเด็น Cross-Cutting Issues ได้แก่ การมีส่วนร่วมของเพศสภาพ เยาวชน และสังคมเทคโนโลยีดิจิทัลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นวัตกรรมกลไกทางการเงิน และการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน โดยประเทศไทยสนับสนุนในหลักการต่อเอกสารดังกล่าว แต่เนื่องด้วยจำเป็นต้องให้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ให้ความเห็นชอบก่อนให้การรับรอง ซึ่งจะแจ้งให้ประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและ ADB ทราบการรับรองอย่างเป็นทางการต่อไป

                               (๒) แถลงการณ์ร่วมกรุงพนมเปญว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากพลาสติกในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Phnom Penh Joint Statement on Prevention of Plastic Pollution in the Greater Mekong Subregion (GMS)) เป็นการแสดงออกถึงความมุ่งมั่นและความตระหนักของประเทศสมาชิกในการร่วมมือกันลดขยะพลาสติก และส่งเสริมการจัดการพลาสติกอย่างยั่งยืน โดยการพัฒนานโยบาย แบ่งปันแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ และระดมทรัพยากรเพื่อป้องกันมลภาวะจากพลาสติกทั้งบนบกและในทะเล ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสุขภาพของมนุษย์ทั่วโลก รวมทั้งแสดงออกถึงการดำเนินงานเชิงรุกและการทำงานร่วมกันของประเทศสมาชิก โดยประเทศไทยสนับสนุนในหลักการต่อแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว แต่เนื่องด้วยจำเป็นต้องให้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ให้ความเห็นชอบก่อนให้การรับรอง ซึ่งจะแจ้งให้ประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและ ADB ทราบการรับรองอย่างเป็นทางการต่อไป

                        ๒.๓  ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และหารือถึงความท้าทายในการจัดการขยะในชนบทและมลพิษทางน้ำ โดยมีข้อเสนอแนะต่อการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้ (๑) ส่งเสริมนวัตกรรมสำหรับการบริหารจัดการขยะแบบบูรณาการในพื้นที่ชนบทและเขตเมือง (๒) ส่งเสริมทางเลือกที่ยั่งยืนเพื่อลดปริมาณขยะพลาสติก (๓) ส่งเสริมการทำงานร่วมกันและการแบ่งปันความรู้ในการบริหารจัดการขยะและเศรษฐกิจหมุนเวียน (๔) การใช้สื่อโซเชียลมีเดียในการประชาสัมพันธ์และพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม และ (๕) ส่งเสริมความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมและมีความยั่งยืน

                      ๒.๔  ที่ประชุมหารือการใช้กลไกและเครื่องมือทางการเงินในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงโดยมีประเด็นท้าทายสำคัญในการระดมเงินทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการปล่อยคาร์บอนต่ำ โดยมีข้อเสนอแนะต่อการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้ (๑) การใช้กลไกและเครื่องมือทางการเงินที่กำหนดเป้าหมายชัดเจนในการรับมือกับความเสี่ยงต่อสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ (๒) การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างรัฐบาล ภาคเอกชน และหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการใช้กลไกและเครื่องมือทางการเงินอย่างสร้างสรรค์ และ (๓) การสาธิตกลไกและเครื่องมือทางการเงินในระดับจังหวัด เมืองและชุมชน เพื่อขับเคลื่อนการรับมือกับความเสี่ยงต่อสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ

                    ๓. การประชุมระดับรัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ ๖
(GMS EMM-6) เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๖๗ มีสรุปผลการประชุมดังนี้

                       ๓.๑  H.E. Dr. EANG Sophallet รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา กล่าวเปิดการประชุม โดยเน้นย้ำถึงความพยายามร่วมกันเพื่อสร้างอนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สะอาด และยั่งยืนสำหรับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยอาศัยความร่วมมือของอนุภูมิภาคเป็นเครื่องมือสำคัญ
ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เผชิญในปัจจุบัน พร้อมทั้งเชิญชวนภาคีเครือข่ายร่วมกันสนับสนุนการดำเนินงานและแบ่งปันแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในการแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของอนุภูมิภาค

                ๓.๒ นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รอง ปกท.ทส. หัวหน้าคณะผู้แทนไทย กล่าวถ้อยแถลง เน้นย้ำถึงความสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพขยะพลาสติกและขยะทะเล พร้อมทั้งเสนอให้ ADB สนับสนุนทั้งด้านงบประมาณและความช่วยเหลือทางวิชาการรวมถึงเทคโนโลยี นวัตกรรม และกลไกทางการเงิน เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศสมาชิกในการแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงเร่งการดำเนินงานที่เติบโตและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ เพื่อความยั่งยืนของอนุภูมิภาค

                       ๓.๓  H.E. Mr. Phouvong Luangxaysana ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ชื่นชมความสำเร็จของการดำเนินงานร่วมกันของประเทศสมาชิกที่ผ่านมา ในการจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมของอนุภูมิภาค และเห็นว่ากรอบยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ ตระหนักถึงความสำคัญของประเด็น Cross-Cutting Issues จึงควรใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล และกลไกทางการเงิน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของอนุภูมิภาคในการตอบสนองต่อประเด็นท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงส่งเสริมแนวปฏิบัติของเศรษฐกิจหมุนเวียนในอนุภูมิภาค เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

                     ๓.๔  H.E. Mr. Le Cong Thanh รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เน้นย้ำถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ประเทศสมาชิกเผชิญร่วมกัน อาทิ ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ มลพิษและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาในทุกมิติของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ดังนั้น การขับเคลื่อนกรอบยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ จึงจำเป็นต้องสนับสนุนการเสริมสร้างความร่วมมือ การมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน และการแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อจัดการกับความท้าทายดังกล่าวของอนุภูมิภาค โดยการสนับสนุนจาก ADB และหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาต่าง ๆ

                      ๓.๕  H.E. Mr. Zhao Yingmin ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เน้นย้ำการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบสนองความต้องการในการพัฒนาและการเปลี่ยนผ่านที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเห็นว่าการดำเนินงานภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ ควรมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญกับการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนุภูมิภาคเป็นลำดับต้น รวมทั้ง ส่งเสริมการดำเนินความร่วมมือระหว่าง GMS และกรอบความร่วมมืออื่น เช่น กรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสนับสนุนการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืนต่อไป                           
                        ๓.๖   H.E. Mr. Min Thu รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเสริมสร้างความร่วมมือในอนุภูมิภาค เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของแต่ละประเทศ โดยเห็นว่าการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและการสนับสนุนจาก ADB จะช่วยกระตุ้นและยกระดับการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของอนุภูมิภาคได้อย่างยั่งยืน รวมถึงการส่งเสริมการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยผลักดันให้ประเทศสมาชิกสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

                        ๓.๗ ที่ประชุมสนับสนุนในหลักการต่อการจัดทำร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ ๖ ซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่นของประเทศสมาชิกในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นร่วมกันในการสร้างเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงส่งเสริมบทบาทเชิงรุกของคณะทำงานด้านสิ่งแวดล้อมในการสนับสนุนโครงการด้านสิ่งแวดล้อมในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและมุ่งมั่นยกระดับการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับ ADB และหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา เพื่อบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม โดยประเทศไทยสนับสนุนในหลักการต่อร่างแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวแต่เนื่องด้วยจำเป็นต้องให้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ให้ความเห็นชอบก่อนให้การรับรอง ซึ่งจะแจ้งให้ประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและ ADB ทราบการรับรองอย่างเป็นทางการต่อไป 

                           ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๗ เห็นชอบเอกสารผลลัพธ์การประชุมระดับรัฐมนตรีฯ ทั้ง ๓ ฉบับ แล้ว

 

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

เอกสารแนบ

GMS 2030 Strategic Framework for Accelerating Climate Action and Environmental Sustainability
  • ประเภท : .pdf
  • ดาวน์โหลด : 6 ครั้ง
ดาวน์โหลด
ขนาด : 21.59 Mb
Phnom Penh Joint Statement on Prevention of Plastic Pollution
  • ประเภท : .pdf
  • ดาวน์โหลด : 5 ครั้ง
ดาวน์โหลด
ขนาด : 0.48 Mb
Joint-Ministerial-Statement-EMM-6 Final
  • ประเภท : .pdf
  • ดาวน์โหลด : 4 ครั้ง
ดาวน์โหลด
ขนาด : 0.10 Mb