การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 35 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง (35th Meeting of the ASEAN Senior Officials on the Environment: 35th ASOEN)

72 4 พ.ย. 2567

การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 35 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง
(35th Meeting of the ASEAN Senior Officials on the Environment: 35th ASOEN)

 

หน่วยงานที่เข้าร่วม: เจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง ๑๐ ประเทศ ประเทศคู่เจรจา ได้แก่ ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐประชาชนจีน สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา หน่วยงานอาเซียน ได้แก่ ศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (ASEAN Centre for Biodiversity : ACB)

ศูนย์เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยาเฉพาะทางอาเซียน (ASEAN Specialised Meteorological Centre : ASMC) และสำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat : ASEC)

วัตถุประสงค์การประชุม: เพื่อให้เจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกันรับทราบการดำเนินงานของคณะทำงานด้านสิ่งแวดล้อมและการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง ทบทวนและหารือเชิงนโยบายถึงแนวทางการดำเนินงานในอนาคต รวมถึงพิจารณาเอกสารสำคัญเพื่อนำเสนอรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนโอกาสในการดำเนินความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจาและภาคส่วนต่าง ๆ

สรุปผลการประชุม:

  1. การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ ๓๕ (35th ASOEN) ในวันที่
    ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๗ มีสาระสำคัญ ดังนี้

                ๑.๑ พิธีเปิดการประชุมโดย H.E. Bounkham Vorachit รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปป.ลาว ให้เกียรติเป็นประธาน พร้อมด้วย H.E. Ekkaphap Phanthavong
รองเลขาธิการอาเซียนด้านประชาคมสังคมและวัฒนธรรมกล่าวต้อนรับ และ Atty.  Jonas R. Leones ตำแหน่ง Deputy Minister, Undersecretary, Policy, Planning and International Affairs, Department of Environment and Natural Resources (DENR) สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม (ASOEN Chairperson) ทำหน้าที่ประธานการประชุม และ Ms. Phakkavanh Phissamay อธิบดีกรมแผนงานและการเงิน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปป.ลาว ทำหน้าที่รองประธานการประชุม (Vice-Chairperson)

                ๑.๒ ที่ประชุมรับทราบ (noted) กิจกรรมสำคัญที่กำลังดำเนินงาน ประเด็นเกิดใหม่และ
ข้อริเริ่มข้ามสาขา อาทิ มลพิษพลาสติก เศรษฐกิจหมุนเวียน ความเป็นกลางทางคาร์บอน และประเด็น
ด้านสุขภาพหนึ่งเดียว รวมถึงการให้ความสนใจและเสนอจัดเวทีหารือเชิงนโยบายระดับสูงร่วมกับ ASOEN ของหุ้นส่วนคู่เจรจา ในระดับรัฐมนตรี อาทิ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป และระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน อาทิ สภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน (EU-ASEAN Business Council : EU ABC) และสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา – อาเซียน (US-ASEAN Business Council: US ABC)

                ๑.๓ ที่ประชุมพิจารณาเอกสารผลลัพธ์ที่สำคัญ ดังนี้

                      ๑) สปป.ลาว ในฐานะประธานอาเซียน ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๗ (Lao PDR’s 2024 ASEAN Chairmanship) ผลักดันประเด็นสำคัญและที่ประชุมให้การรับรอง (endorsed) ดังนี้ (๑) ร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ ๒๙ (ASEAN Joint Statement on Climate Change to UNFCCC COP 29) (๒) ร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนสำหรับการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ ๑๖ (ASEAN Joint Statement on Biodiversity Conservation to CBD COP 16)
(๓) กิจกรรมเสริมสร้างขีดความสามารถและฝึกอบรมเพื่อขอรับการสนับสนุนจากกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Capacity Building and Training on Green Climate Fund (GCF) Funding Applications) สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน โดยที่ประชุมสนับสนุนในหลักการ (supported in principle) และขอให้ สปป.ลาว พิจารณาจัดกิจกรรมที่ไม่ซ้ำซ้อนกับการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการเงินทางภูมิอากาศอื่น ๆ และจัดภายหลังการประชุม UNFCCC COP 29 และ (๔) ร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยพลาสติกหมุนเวียน (ASEAN Declaration on Plastic Circularity) โดยมอบหมายให้สำนักเลขาธิการอาเซียนแจ้งเวียนให้หน่วยงานภายในอาเซียนที่เกี่ยวข้องร่วมให้ข้อคิดเห็น

                      ๒) รับรองในหลักการ (endorsed in principle) ร่างแผนความหลากหลายทางชีวภาพอาเซียน  (ASEAN Biodiversity Plan: ABP) ภายหลังปี พ.ศ. ๒๕๖๘

                      ๓) รับทราบ (noted) (๑) ข้อเสนอการจัดนิทรรศการอาเซียน (ASEAN Pavilion)  
ณ UNFCCC COP 29 โดยขอให้สำนักเลขาธิการอาเซียนเพิ่มเติมรายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับความยั่งยืนของการจัดนิทรรศการ เพื่อประกอบการพิจารณารับรองของเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม (๒) ข้อเสนอการจัดตั้ง Group SEA โดยมาเลเซียเสนอผลักดันในฐานะประธานอาเซียน พ.ศ. ๒๕๖๘ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาหารือร่วมกับคณะทำงานอาเซียนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ สาธารณรัฐอินโดนีเซียเห็นว่าการพัฒนากลุ่มดังกล่าว จำเป็นต้องสอดคล้องกับทิศทางกับการประชุมของอาเซียน โดยปรึกษาหารือร่วมกับคณะทำงานอาเซียนที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานอาเซียนสาขาต่าง ๆ ต่อบทบาทท่าทีของอาเซียนใน UNFCCC รวมถึงการใช้กลไกอาเซียนที่ไม่ซ้ำซ้อนกับกลไกที่มีอยู่เดิม เช่น G77 and China และการเปิดรับความร่วมมือกับหุ้นส่วนที่มีศักยภาพต่าง ๆ เพื่อคงความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน (ASEAN centrality) (๓) ความก้าวหน้าการจัดตั้งศูนย์อาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ASEAN Centre for Climate Change : ACCC)
ณ เนการาบูรไน ดารุสซาลาม ปัจจุบันมี ๗ ประเทศ ลงนามในเอกสารการจัดตั้ง ACCC แล้ว ได้แก่ เนการาบูรไน ดารุสซาลาม ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สปป.ลาว มาเลเชีย สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ และสาธารณรัฐสิงคโปร์ โดยอยู่ระหว่างการปรับปรุงสถานที่ตั้ง ณ อาคารห้องสมุด มหาวิทยาลัยบูรไนดารุสซาลาม และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๗ ทั้งนี้ จึงขอให้ประเทศที่ยังไม่ได้ลงนาม ได้แก่ สหภาพสาธารณรัฐเมียนมา ประเทศไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ดำเนินการขั้นตอนการลงนาม (signing) และให้สัตยาบัน (ratification) ต่อไป และ (๔) รายงานการประชุมกรรมการบริหารศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ครั้งที่ ๒๖ มีประเด็นสำคัญ อาทิ ACB ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ศูนย์ภูมิภาคเพื่อดำเนินงานตามกรอบ a regional centre for Kunming – Montreal Global Biodiversity Framework (KM GBF) สำหรับดำเนินงานในเอเชีย การจัดนิทรรศการอาเซียน (ASEAN Pavilion) ณ CBD COP 16 การจัดงานประชุมอุทยานมรดกอาเซียน ครั้งที่ ๘ (8th ASEAN Heritage Parks Conference) ณ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม พ.ศ. ๒๕๖๘ นอกจากนี้ ที่ประชุมร่วมกันแสดงความชื่นชมและขอบคุณ Dr. Theresa Mundita S. Lim ซึ่งจะหมดวาระการดำรงตำแหน่งผู้บริหาร ACB ในช่วงสิ้นปี พ.ศ. ๒๕๖๗

                      ๔) รับทราบ (noted) และหารือแลกเปลี่ยน (shared) การทบทวนการจัดตั้งทางสถาบันสำหรับการดำเนินงานด้านการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (Sustainable Consumption and Production : SCP) ของอาเซียน โดยสาธารณรัฐอินโดนีเซียเห็นว่า SCP เป็นประเด็นข้ามสาขาและเกี่ยวข้องกับหลายคณะทำงานภายใต้ ASOEN โดยแนวคิดการจัดตั้งคณะทำงานใหม่จำเป็นต้องนำขอบเขตงานของคณะทำงาน
ต่าง ๆ มาพิจารณา รวมถึงแนวทางการประสานงานข้ามสาขา ซึ่งสาธารณรัฐสิงคโปร์เห็นว่า ควรให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ไม่ใช่หน่วยงานรัฐบาลเข้ามามีส่วนร่วม และอาจใช้กระบวนการจัดทำ Post-2025 ASEAN Strategic Plan on Environment (ASPEN) รวมถึงการหารือของกลุ่ม open-ended and open-minded เพื่อพัฒนาขอบเขตการดำเนินงานของคณะทำงานต่าง ๆ ประกอบด้วย

                      ๕) รับรอง (endorsed) การขึ้นทะเบียนอุทยานมรดกอาเซียน (ASEAN Heritage Park : AHP) จำนวน ๔ แห่ง ดังนี้ ๑) Phou Xieng Thong National Protected Area สปป.ลาว เป็น AHP แห่งที่ ๕๘ ๒) Balinsasayao Twin Lakes Natural Park สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เป็น AHP แห่งที่ ๕๙
๓) Turtle Islands Wildlife Sanctuary สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เป็น AHP แห่งที่ ๖๐ และ ๔) Apo Reef Natural Park สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เป็น AHP แห่งที่ ๖๑ ทั้งนี้ ที่ประชุมรับทราบ (noted) การเสนอขอขึ้นทะเบียน AHP ของพื้นที่คุ้มครองแห่งชาติน้ำปุย สปป.ลาว และศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู) เฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษา มหาราชินี ประเทศไทย ภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๗ หาก ACB ได้รับเอกสารที่เรียบร้อยและถูกต้องอย่างครบถ้วน

                      ๖) รับทราบ (noted) (๑) การนำเสนอสถานการณ์และข้อมูลอุตุนิยมของ ASMC อาทิ สถานการณ์จุดความร้อนในช่วงปีที่ผ่านมา การใช้ Geostationary Environment Monitoring Spectrometer (GEMS) ตรวจวัด aerosol observation และการติดตามผลิตภัณฑ์พื้นที่เผาไหม้ (Burned Area products) และ (๒) รายงานการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล National Haze Monitoring Data ของศูนย์ประสานงานกลางเรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดนแบบชั่วคราว (interim ACC THPC) ในช่วงระหว่างกระบวนการลงนามให้สัตยาบรรณในเอกสารการจัดตั้ง (ratification EA ACC THPC) และการร่างเอกสาร Host Country Agreement (HCA) ของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย

                     ๗) รับรองในหลักการ (endorsed in principle) ร่างข้อเสนอโครงการพัฒนาจัดทำแผนยุทธศาสตร์อาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ภายหลังปี พ.ศ. ๒๕๖๘ (Post-2025 ASEAN Strategic Plan on Environment: Post-2025 ASPEN) ซึ่งประกอบด้วย (๑) รายงานการประเมินและข้อเสนอแนะการจัดตั้งทางสถาบันของ ASOEN และคณะทำงานต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ เช่น SCP ซึ่งเป็นประเด็นข้ามสาขา (๒) บทบาทของ ASOEN ในประเด็น/ข้อริเริ่มข้ามสาขา รวมถึงความสำคัญของตัวชี้วัดของกรอบการติดตามและประเมินผล โดยคำนึงถึงระดับความแตกต่างและขีดความสามารถของประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้งนี้ ASEC จะประสาน Aus4ASEAN Futures ภายใต้เครือรัฐออสเตรเลียในฐานะผู้สนับสนุน เพื่อพัฒนาข้อเสนอโครงการต่อไป โดยคาดว่าจะมีการรับรองและเปิดตัวในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ปี พ.ศ. ๒๕๖๘

                   ๑.๔ เอกสารที่จะต้องเสนอต่อรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม มีดังนี้

                         ๑) เอกสารเพื่อการรับรอง (AMME’s ad-referendum endorsement) ได้แก่ (๑) การเสนอชื่อขึ้นทะเบียน AHP ทั้ง ๔ แห่ง และพื้นที่คุ้มครองแห่งชาติน้ำปุย สปป.ลาว และศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู) เฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษา มหาราชินี ประเทศไทย หาก ACB ได้รับเอกสารที่เรียบร้อยและถูกต้องครบถ้วน (๒) ร่างเอกสาร Draft ASEAN Joint Statement on Climate Change to UNFCCC COP 29 (๓) Draft ASEAN Joint Statement on Biodiversity to CBD COP 16 และ (๔) ร่างเอกสาร Draft ASEAN Declaration on Plastic Circularity

                         ๒) เอกสารเพื่อรับทราบ (AMME’s notation) ได้แก่ (๑) Capacity Building and Training on Green Climate Fund (GCF) Funding Applications for AMS (๒) ASEAN Biodiversity Plan และ (๓) ข้อเสนอการจัด ASEAN Pavilion at UNFCCC COP 29 ที่ ASOEN ให้การรับรอง

                ๒. การประชุม 18th ASEAN-Japan Dialogue on Environmental Cooperation การประชุม 6th ASEAN-EU High-Level Dialogue on Environment and Climate Change และการประชุม 4th  ASEAN-ROK Dialogue on Environment and Climate Change เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๗  โดยประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานของอาเซียนกับคู่เจรจาสาธารณรัฐเกาหลี (ASEAN-Republic of Korea country coordinator) ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมร่วม (Co-chair) กับ Ms. Gye Yoen Cho อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงาน สิ่งแวดล้อมและวิทยาศาสตร์ กระทรวงการต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งเป็นการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนนโยบายการดำเนินงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศสมาชิกอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา การหารือการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และส่งเสริมความร่วมมือด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศสมาชิกอาเซียน โดยการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนต่าง ๆ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีจากองค์การระหว่างประเทศผ่านการดำเนินโครงการ อาทิ โครงการ Clean Air for Sustainable ASEAN (CASA) โครงการ Integrated Municipal Solid Waste Management Program (IMSWM) for Environmental Sustainable Cities โครงการ SDGs Frontrunner Cities Programme Phase 2 โครงการ SMART Green ASEAN Cities Programme โครงการ Biodiversity Conservation and Management of Protected Areas in ASEAN (BCAMP) การสนับสนุนศูนย์ ACCC รวมถึงข้อเสนอโครงการด้านสิ่งแวดล้อมที่จะดำเนินงานร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ ประเทศไทยรายงานผลสำเร็จของการดำเนินโครงการ Capacity Development for ASEAN on Identification and Differentiation of Spilled Oil and Tarballs และขอรับการสนับสนุนการดำเนินโครงการในระยะต่อไป

                ๓. การประชุม 3rd ASEAN – US High - Level Dialogue on Environment and Climate Change และการประชุม 21st ASEAN Plus Three Senior Officials Meeting on Environment (ASEAN + 3) ประกอบด้วย สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๗ เป็นการแลกเปลี่ยนนโยบายการดำเนินงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสหรัฐฯ มุ่งสนับสนุนอาเซียนในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเน้นความร่วมมือทั้งด้านการลดการปล่อยก๊าซ และการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้ U.S. Climate Adaptation and Resilience Plan โดยเฉพาะในภาคพลังงาน และการใช้ที่ดิน และมุ่งสนับสนุนการดำเนินงานของประเทศอาเซียนเพื่อบรรลุเป้าหมาย Nationally Determined Contributions (NDCs) ผ่าน U.S.-ASEAN Climate Solutions Hub เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับยุทธศาสตร์ระยะยาว (Long term strategy) และการพัฒนา National Climate Change Adaptation Plan ของแต่ละประเทศ นอกจากนี้ ยังหารือถึงความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีโครงการสำคัญภายใต้ความร่วมมือ  ASEAN + 3 อาทิ ASEAN Plus Three Marine Plastics Debris Cooperative Action Initiative ซึ่งมีกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ การพัฒนาการจัดทำ Atlas of Ocean Microplastic (AOMi) ทั้งนี้ สปป.ลาว เชิญประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมการประชุม 12th ASEAN + 3 Leadership Programme on Sustainable Consumption and Production (SCP) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้นโยบายและการส่งเสริมการดำเนินงานด้าน SCP ในภูมิภาค ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๗ ณ นครหลวงเวียงจันทน์

                ๔. นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รอง ปกท.ทส. หัวหน้าคณะผู้แทนไทย ร่วมกล่าวแสดงท่าทีของประเทศไทยในประเด็นต่าง ๆ อาทิ สนับสนุนร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ ๒๙ ร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนสำหรับการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ ๑๖ และข้อเสนอกิจกรรมเสริมสร้างขีดความสามารถและฝึกอบรมเรื่องการสมัครเพื่อขอรับการสนับสนุนจากกองทุนภูมิอากาศสีเขียวของ สปป.ลาว รวมถึงสนับสนุนในหลักการของร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยพลาสติกหมุนเวียน โดยขอให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการพิจารณา ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาจัดทำ ASEAN Biodiversity Plan เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามกรอบ KM-GBF และสนับสนุนข้อเสนอการพัฒนาจัดทำ Post-2025 ASEAN Strategic Plan on Environment (ASPEN) ทั้งนี้ ประเทศไทยในฐานะประธานคณะทำงานอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งกล่าวขอบคุณประเทศสมาชิกอาเซียนที่สนับสนุนการดำเนินความร่วมมือตาม ASEAN Regional Action Plan on Combating Marine Debris (2021 – 2025) และขอให้ประเทศสมาชิกอาเซียนเร่งเพิ่มความพยายามร่วมกันในการดำเนินความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในทะเล

          ๕. ที่ประชุมรับทราบการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม 36th ASOEN ของมาเลเซีย ในปี พ.ศ. ๒๕๖๘ 

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง