การประชุมรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก (Asia Pacific Parliamentary Forum: APPF)

479 3 พ.ย. 2566

การประชุมรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก

Asia Pacific Parliamentary Forum: APPF

 


            ภูมิหลัง การประชุมรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก (Asia Pacific Parliamentary Forum: APPF) เป็นองค์กรการประชุมของสมาชิกรัฐสภาในภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยการริเริ่ม ของนายยาซูฮิโร นากาโซเน่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและอดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ร่วมกับสมาชิกรัฐสภาของประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจำนวนหนึ่งรวมทั้งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์ให้สมาชิกรัฐสภาได้หารือร่วมกันในประเด็นปัญหาต่าง ๆ ของภูมิภาคในยุคหลังสงครามเย็น และที่เป็นผลจากการเติบโตและการรวมตัวทางเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค ตลอดจนส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพของพลเมือง และสันติภาพภายในภูมิภาค


            ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2534 ประเทศผู้ร่วมก่อตั้ง APPF ได้ทาบทามให้ประเทศไทยเข้าร่วม เป็นสมาชิกก่อตั้งของ APPF ด้วย เนื่องจากเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญทั้งใน อาเซียนและองค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (APEC) ดังนั้น เมื่อปี พ.ศ. 2534 รัฐสภาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติจึงได้ส่งคณะผู้แทนระดับสูงเดินทางไปร่วมการประชุม เตรียมการก่อตั้ง APPF ณ ประเทศออสเตรเลีย โดยประเทศไทยได้ร่วมลงนามในปฏิญญาโตเกียว (Tokyo Declaration) เพื่อการจัดตั้ง APPF อย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2536
 

            สมาชิก (Members) APPF ปัจจุบัน มีประเทศสมาชิก 27 ประเทศ จากอนุภูมิภาคต่าง ๆ ในเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งได้แก่ ประเทศออสเตรเลีย กัมพูชา แคนาดา ชิลี จีน โคลัมเบีย เอกวาดอร์ คอสตาริกา ฟิจิ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี ลาว มาเลเซีย หมู่เกาะมาร์แชลล์ เม็กซิโก ไมโครนีเซีย มองโกเลีย นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ ไทย สหรัฐอเมริกา และ เวียดนาม พร้อมทั้งมีประเทศผู้สังเกตการณ์ 1 ประเทศ คือ บรูไนดารุสซาลาม
 

            โครงสร้าง APPF เป็นเวทีทั้งสำหรับสมาชิกรัฐสภาที่สนใจในประเด็นต่าง ๆ ของการประชุมไม่ว่า จะเป็นการส่วนตัวหรือในฐานะตัวแทนรัฐสภาของประเทศ มีโครงสร้างองค์กรอย่างหลวม ๆ และไม่ เป็นทางการมากนัก ดังนี้

 

                     ประธาน (President)  จะเปลี่ยนไปตามประเทศเจ้าภาพของการประชุมประจำปี มีวาระการดำรงตำแหน่ง 1 ปี นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมก่อนการประชุมประจำปี ไปจนถึงเดือนเมษายนของปีที่จัดประชุม นอกจากนั้น ประธานฯ ยังมีฐานะเป็นประธานคณะกรรมการบริหาร อีกตำแหน่งด้วย

                     ประธานกิตติมศักดิ์ (Honourary President)  มีหน้าที่ให้คำแนะนำแก่คณะกรรมการบริหารและที่ประชุมประจำปี ปัจจุบันผู้ดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์ของ APPF คือ นายยาซูฮิโร นากาโซเน่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและอดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในฐานะผู้เริ่มก่อตั้งองค์กร APPF


                    คณะกรรมการบริหาร (Executive Committee)  คณะกรรมการบริหารของ APPF ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยที่ประชุมประจำปีจะประกอบด้วย ประธาน APPF เป็นประธานคณะกรรมการฯ สมาชิกรัฐสภาที่เป็นตัวแทนจากประเทศที่ทำหน้าที่ เจ้าภาพปัจจุบัน ตัวแทนจากประเทศที่จะทำหน้าที่จัดการประชุม APPF ครั้งต่อไป ประเทศที่ได้รับการแต่งตั้งจากประธานกิตติมศักดิ์ APPF และสมาชิกรัฐสภาที่เป็นตัวแทนจากอนุภูมิภาคต่าง ๆ ใน เอเชีย-แปซิฟิก (อนุภูมิภาคละ 2 ประเทศ)


                    ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก แบ่งออกเป็นอนุภูมิภาคต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
                            1. เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ (5 ประเทศ) ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี มองโกเลีย และรัสเซีย
                            2. เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (8 ประเทศ) ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม
                            3. โอเชียเนีย หมู่เกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลาง ตะวันตก และตอนใต้ (6 ประเทศ) ได้แก่ ออสเตรเลีย ฟิจิ ไมโครนีเซีย นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี และหมู่เกาะมาร์แชลล์
                            4. อเมริกา (8 ประเทศ) ได้แก่ แคนาดา ชิลี โคลัมเบีย เม็กซิโก เปรู สหรัฐอเมริกา เอกวาดอร์ และคอสตาริกา

 

                    ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารมีหน้าที่ในการเสนอคำแนะนำต่อที่ประชุมประจำปีในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนโยบายหรือนโยบายการจัดการของ APPF พิจารณาร่างระเบียบวาระและกำหนดการของการประชุมประจำปี ให้คำปรึกษาแก่ประเทศเจ้าภาพในการจัดการประชุม และพิจารณาการรับสมาชิกใหม่ รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะต่อที่ประชุมประจำปีในการรับสมาชิกใหม่


                    กรรมการบริหารที่มาจากอนุภูมิภาคมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมของปีที่จัดประชุม ถึงเดือนเมษายนของ 4 ปี ถัดไป โดยทุก 2 ปี จะมีการเลือกสมาชิกใหม่จำนวนกึ่งหนึ่ง สำหรับกรรมการบริหารจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย และกัมพูชา
 

                   คณะกรรมาธิการยกร่างข้อมติและแถลงการณ์ร่วม (Drafting Committee)  ได้รับการแต่งตั้งโดยที่ประชุมประจำปี ภายใต้คำแนะนำของคณะกรรมการบริหาร ประกอบด้วย ผู้แทนจากรัฐสภาสมาชิกที่เสนอร่างข้อมติ โดยมีประธานซึ่งได้รับการแต่งตั้ง โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหาร คณะกรรมาธิการยกร่างฯ มีหน้าที่จัดเตรียมและยกร่างข้อมติและร่างแถลงการณ์ร่วม เพื่อเสนอให้ที่ประชุมเต็มคณะพิจารณาและรับรอง


                   คณะทำงาน (Working Group)  ที่ประชุมประจำปีอาจจัดตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะภายใต้คำแนะนำของคณะกรรมการบริหาร โดยคณะทำงานจะต้องรายงานมติของที่ประชุมคณะทำงานนั้นต่อที่ประชุมประจำปีหรือคณะกรรมการบริหาร กรณีที่คณะทำงานได้รับการแต่งตั้ง เพื่อยกร่างข้อมติใหม่จากร่างข้อมติที่มีเนื้อหาคล้ายคลึงกันจะต้องเสนอร่างดังกล่าวต่อ คณะกรรมาธิการยกร่างข้อมติและแถลงการณ์ร่วม (Drafting Committee)


             รูปแบบของการประชุม  APPF จัดการประชุมขึ้นเป็นประจำทุกปี ๆ ละ 1 ครั้ง โดยจะประกอบด้วย การประชุมประจำปี (Annual Meeting) การประชุมคณะกรรมการบริหาร (Executive Committee Meeting) การประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างข้อมติและแถลงการณ์ร่วม (Drafting Committee Meeting) และการประชุมคณะทํางาน (Working Group Meeting)


                     การประชุมประจําปี (Annual Meeting)  ที่ประชุมประจำปีจะทำการอภิปรายและพิจารณาร่างข้อมติ (Draft Resolutions) ต่าง ๆ ที่เสนอโดยประเทศสมาชิก และลงมติรับรองร่างฯ ดังกล่าวให้มีผลเป็นข้อมติที่แสดงท่าทีของ APPF ต่อเรื่องหรือปัญหาสำคัญ ๆ ของภูมิภาคและของโลก ซึ่งสมาชิกผู้เข้าร่วมการประชุมมีสิทธิอภิปรายได้โดยอิสระ และแต่ละประเทศ มีสิทธิในการลงคะแนนเสียงได้ 1 เสียง ทั้งนี้ ที่ประชุมจะมีมติให้ตั้งคณะทำงานศึกษาเรื่องหนึ่งเรื่องใดโดยเฉพาะและรายงานผลต่อที่ประชุมก็ได้
 

                     การประชุมคณะกรรมการบริหาร (Executive Committee Meeting)  การประชุมคณะกรรมการบริหารจะจัดขึ้นก่อนการประชุมประจำปี 1 วัน เพื่อพิจารณาเรื่องที่จะบรรจุในระเบียบวาระการประชุมประจำปีของ APPF การดำเนินงานขององค์กรและสมาชิกภาพขององค์กร

                     การประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างข้อมติและร่างแถลงการณ์ร่วม (Drafting Committee Meeting)  จะจัดขึ้นระหว่างการประชุมประจําปี เพื่อเตรียมร่างข้อมติและร่างแถลงการณ์ร่วมให้ที่ประชุมประจำปีพิจารณา รับรองและเผยแพร่

                     การประชุมคณะทำงาน (Working Group Meeting)  เมื่อที่ประชุมประจำปีได้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง คณะทำงานจะต้องรายงานมติของที่ประชุมคณะทำงานนั้นต่อที่ประชุมประจำปีหรือคณะกรรมการบริหาร


             บทบาทและการมีส่วนร่วมของรัฐสภาไทย  การประชุม APPF มีโครงสร้างขององค์กรที่คล่องตัวสอดคล้องกับลักษณะพหุนิยมและความหลากหลายของภูมิภาค สามารถทำหน้าที่ได้กว้างขวางทั้งยังไม่มีข้อกำหนดที่จะเป็นข้อจำกัดในการทำงานและขยายสมาชิกภาพในกาลข้างหน้า และเป็นองค์กรสมาชิกรัฐสภาระหว่างประเทศ ที่สามารถรวบรวมประเทศริมขอบแปซิฟิก (Pacific Rim) ที่มีบทบาทสำคัญในการเมืองและการค้า ระหว่างประเทศและของภูมิภาคในปัจจุบันเป็นสมาชิกได้หลายประเทศ APPE จึงเป็นองค์กรสมาชิกรัฐสภาภูมิภาคอีกองค์กรหนึ่ง นอกเหนือจากสหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชียและแปซิฟิก (APPU) ที่จะมีศักยภาพและบทบาทสำคัญในการใช้มาตรการทางรัฐสภาเพื่อพัฒนาประเทศและแก้ไขปัญหาของภูมิภาคในปัจจุบันและอนาคตได้เป็นอย่างดี
 

              ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น รัฐสภาไทยจึงให้ความสำคัญกับ APPF เป็นอย่างมาก รวมทั้งได้มีบทบาทและส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ของ APPF ดังนี้

                        1. การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APPF ในวาระต่าง ๆ
                               - การประชุมคณะกรรมการบริหารของ APPF ในปี พ.ศ. 2538
                               - การประชุมประจำปีของ APPF ครั้งที่ 4 ในปี พ.ศ. 2539
                               - การประชุมคณะกรรมการศึกษาแนวทางการแลกเปลี่ยนทางด้านนิติบัญญัติระหว่างประเทศ ในปี พ.ศ. 2539

                        2. การส่งคณะผู้แทนรัฐสภาไทยเข้าร่วมการประชุมของ APPF  รัฐสภาไทยส่งคณะผู้แทนเข้าร่วมการประชุมของ APPF มาโดยตลอด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 จนถึงการประชุมประจำปี APPF ครั้งที่ 25 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 - 19 มกราคม 2560 ณ สาธารณรัฐฟิจิ

 

               อนึ่ง รัฐสภาไทยงดส่งคณะผู้แทนเข้าร่วมการประชุมประจำปี APPF จำนวน 2 ครั้ง ได้แก่ การประชุมประจำปี ครั้งที่ 19 ณ กรุงอูลานบาตอร์ ประเทศมองโกเลีย ระหว่างวันที่ 23 - 27 มกราคม 2554 และการประชุมประจำปี ครั้งที่ 23 ระหว่างวันที่ 10 - 15 มกราคม 2558 ณ กรุงกิโต สาธารณรัฐเอกวาดอร์