การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit: EAS)

1539 20 ต.ค. 2566

การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit: EAS)

 

                 การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit: EAS) เป็นการประชุมสุดยอดของผู้นำประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก โดยมีกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นศูนย์กลาง การประชุมครั้งแรกจัดที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเชีย เมื่อ ค.ศ. 2005 ปัจจุบันประกอบด้วยสมาชิก 18 ประเทศ ได้แก่ ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐอินเดีย เครือรัฐออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหพันธรัฐรัสเซีย และสหรัฐอเมริกา โดย EAS เป็นเวทีหารือทางยุทธศาสตร์ที่เปิดกว้าง โปร่งใส และครอบคลุม เป็นเวทีของผู้นำที่จะแลกเปลี่ยนความเห็นและวิสัยทัศน์ในประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ในลักษณะ top-down ทั้งนี้ การประชุม EAS กำหนดจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน โดยประเทศที่เป็นประธานอาเซียนจะทำหน้าที่เป็นประเทศผู้ประสานงานและเป็นประธานการประชุม EAS ของปีนั้น 

 

                 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (Economic Research Institute for ASEAN and East: ERIA) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2551 ตามมติที่ประชุม EAS ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2550 (เห็นชอบข้อเสนอของญี่ปุ่นให้จัดตั้ง) เป็นหน่วยงานด้านการศึกษา ค้นคว้า และวิจัยเกี่ยวกับการบูรณาการทางเศรษฐกิจในอาเซียน และให้ข้อเสนอแนะต่ออาเซียนเกี่ยวกับการดำเนินการตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint 2025) ผ่านผลงานวิจัยต่าง ๆ เช่น ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน อาทิ การจัดทำกรอบการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและการจัดทำเอกสารแนวคิดสำหรับยุทธศาสตร์ของอาเซียนด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน ด้านความเชื่อมโยงในภูมิภาค อาทิ แผนแม่บทว่าด้วยการเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียนและแผนยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งอาเซียน การจัดทำฐานข้อมูลมาตรการที่มิใช่ภาษี (NTMs Database) ของประเทศสมาชิกอาเซียน และการจัดทำเครื่องมือประเมินประสิทธิภาพของมาตรการที่มิใช่ภาษี ด้านการเตรียมความพร้อมอาเซียนสู่อนาคต อาทิ การจัดทำเอกสารวิสัยทัศน์อาเซียน ค.ศ. 2040 และการทำงานร่วมกับสำนักเลขาธิการอาเซียนเพื่อจัดทำรายงานการทบทวนแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในระยะกลาง (Mid-Term Review (MTR) of AEC 2025) และด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจของภูมิภาคภายหลักโควิด 19 อาทิ การจัดทำกรอบการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของอาเซียนในช่วงหลังวิกฤตโควิด 19 อาทิ การจัดทำกรอบการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของอาเซียนในช่วงหลังวิกฤตโควิด 19 โดยสถาบัน ERIA มีคณะกรรมการบริหารที่ประกอบด้วยผู้แทนจาก 16 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ และประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออก 6 ประเทศ ประกอบด้วย จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย โดยมีญี่ปุ่นเป็นประเทศผู้สนับสนุนหลัก ประเทศไทยโดยกระทรวงพาณิชย์ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นหน่วยงานหลักดำเนินการเรื่องการให้เงินสนับสนุน ERIA โดยให้ประเทศสมาชิกอาเซียนสนับสนุนประเทศละ 60,000 ดอลลาร์สหรัฐ ทุก 5 ปี 
 
 
การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 18
 
                 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2566 ในคราวการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 43 ณ สาธารณรัฐอินโดนีเชีย ที่ประชุมรับรองร่างแถลงการณ์ผู้นำการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่าด้วยการรักษาและส่งเสริมให้ภูมิภาคเป็นศูนย์กลางของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเอกสารที่มุ่งเน้นการส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค การส่งเสริมความร่วมมือเพื่อรับมือกับความท้าทายในภูมิภาคและโลก และการดำเนินตามแผนการดำเนินงานของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ค.ศ. 2024 - 2028 และส่งเสริมการดำเนินงานตามเอกสารมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก รวมทั้งสะท้อนมุมมองต่อประเด็นระดับภูมิภาค และระดับโลกที่อาจส่งผลกระทบต่อการเป็นศูนย์กลางเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค นอกจากนี้ ที่ประชุมสนับสนุนการเร่งรัดความร่วมมือภายใต้ EAS โดยเฉพาะการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการมะนิลา เพื่อดำเนินการตามปฏิญญากรุงพนมเปญว่าด้วยข้อริเริ่มด้านการพัฒนาภายใต้ EAS และสาขาความร่วมมือภายใต้ EAS (ปี พ.ศ. 2561 - 2565) ซึ่งได้รับการขยายเวลาไปจนถึงปี พ.ศ. 2566 รวมทั้งกำหนดทิศทางความร่วมมือภายใต้ EAS