ความร่วมมืออาเซียน - สหราชอาณาจักร (ASEAN - UK)

455 20 ต.ค. 2566

ความร่วมมืออาเซียน - สหราชอาณาจักร
 (ASEAN - United Kingdom) 

 

                สหราชอาณาจักร ได้รับการรับรองสถานะให้เป็นคู่เจรจากับอาเซียนเมื่อเดือนสิงหาคม 2564 สำนักเลขาธิการอาเซียนร่วมกับสหราชอาณาจักรยกร่างแผนการดำเนินงาน (work plan) อาเซียน-สหราชอาณาจักร ภายใต้ปฏิญญาร่วมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนาคตระหว่างอาเซียนและสหราชอาณาจักร (the ASEAN-UK Joint Ministerial Declaration on Future Economic Cooperation) เพื่อเห็นชอบร่วมกันในเดือนกันยายน 2565 โดยร่างแผนการดำเนินงานฯ ครอบคลุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจใน 11 สาขา ได้แก่
                   (1) การหารือด้านนโยบายระดับสูง
                   (2) การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานอาเซียน-สหราชอาณาจักร และการเปิดตลาด
                   (3) ความเป็นเลิศด้านกฎระเบียบ
                   (4) นวัตกรรมดิจิทัล
                   (5) การพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย 
                   (6) การเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน
                   (7) บริการทางการเงิน
                   (8) การเติบโตอย่างยั่งยืน
                   (9) โครงสร้างพื้นฐาน
                   (10) ทักษะและการศึกษา
                   (11) การส่งเสริมบทบาททางเศรษฐกิจของสตรี 
 
                สาขาที่เกี่ยวข้องด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คือ สาขาการเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable Growth) ซึ่งมีเป้าหมายมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความท้าทายต่อความยั่งยืนในการสนับสนุนกิจกรรมตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) สนับสนุนให้มีการสร้างเศรษฐกิจระดับโลกสีเขียวและยั่งยืน เร่งความพยายามในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน มุ่งสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน ให้ความสำคัญต่อธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ แผนงาน ASEAN Low Carbon Energy ในการสนับสนุนประเทศสมาชิกอาเซียนด้านการเงินที่ยั่งยืนและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยทุนสนับสนุนจากสหราชอาณาจักร และข้อริเริ่มการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านต่าง ๆ ตามที่ได้ตกลงไว้ภายใต้กรอบการดำเนินงานความร่วมมืออาเซียน-สหราชอาณาจักร ภายใต้การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (the Action Plan on the ASEAN-UK Cooperation COP 26) และการหารือความร่วมมือระยะยาว (long term dialogue cooperation)
 
                สหราชอาณาจักรในฐานะประธานการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (United Nations Framework Convention on Climate Change, the 26th Session of the Conference of the Parties: UNFCCC COP 26) ร่วมกับศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (ACB) จัดการประชุม ASEAN-UK COP 26: Framing the Future for Nature and Climate เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ภายใต้หัวข้อหลัก “บทบาทของอาเซียนต่อการปกป้องระบบนิเวศทางธรรมชาติ และการปรับตัวต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” เพื่อเสริมสร้างความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ เสริมสร้างความตระหนักเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศและแบ่งปันประสบการณ์ในภูมิภาคอาเซียน
 
                สหราชอาณาจักรในฐานะประธานการประชุม COP 26 เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ASEAN COP 26 Climate Dialogue on Nationally Defined Contributions (NDCs) and Long-Term Strategies (LTS) เมื่อวันที่ 24 - 25 กันยายน 2564 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียน-สหราชอาณาจักร ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียน update ข้อมูลเกี่ยวกับคำมั่นสัญญาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายใต้ข้อตกลงปารีส รวมถึงผลกระทบจากการระบาดของโควิด 19 ที่มีต่อยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ (Long-Term Low Greenhouse Gas Emission Development Strategy) และการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC) นอกจากนี้ ยังมีการอภิปรายในประเด็นความสำคัญของ NDCs และบทบาทในการกำหนดทิศทาง และสนับสนุนนโยบายภายในประเทศ และความร่วมมือกับอาเซียนในประเด็นต่าง ๆ อาทิ carbon pricing, nature-based solutions การเสริมสร้างศักยภาพและการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน
 
                อาเซียนและสหราชอาณาจักร อยู่ระหว่างการหารือเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินความสัมพันธ์คู่เจรจาอาเซียน – สหราชอาณาจักร ค.ศ. 2022 - 2026 (Plan of Action to Implement the ASEAN-United Kingdom Dialogue Partnership 2022 – 2026) ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมความร่วมมือในมิติด้านการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ การคลัง สังคมและวัฒนธรรม และประเด็นเชื่อมโยง โดยมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่
                   (1) การส่งเสริมข้อริเริ่มของภูมิภาคในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่า
                   (2) การต่อต้านการค้าไม้ที่ผิดกฎหมายและส่งเสริมการค้าผลิตภัณฑ์ไม้ที่ถูกกฎหมายอย่างยั่งยืน 
                   (3) การจัดการภัยพิบัติ โดยสนับสนุนการดำเนินงาน
                         ตามข้อตกลง ASEAN Agreement on Disaster Management and Emergency Response (AADMER) Work Programme for 2021 – 2025
                   (4) การส่งเสริมการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ โดยการส่งเสริมการประสานงานร่วมกับศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ 
                   (5) การสนับสนุนการอนุรักษ์ระบบนิเวศบนบกและระบบนิเวศในน้ำ
                   (6) การเสริมสร้างขีดความสามารถและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการปกป้องและจัดการสิ่งแวดล้อม และการดำเนินงานตามข้อตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อม
                   (7) การจัดการน้ำแบบบูรณาการ
                   (8) การจัดการสารเคมีและของเสีย
                   (9) การส่งเสริมการประสานงานในการดำเนินงานเพื่อต่อต้านขยะทะเล
                   (10) การส่งเสริมความร่วมมือของภูมิภาคในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ