การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 17 (17th AMME)

462 3 ต.ค. 2566

การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 17 
(17th ASEAN Ministerial Meeting on the Environment: 17th AMME)

 

              การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมจัดขึ้นเป็นประจำทุกสองปี เพื่อเป็นเวทีให้รัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศสมาชิกอาเซียนได้หารือและแลกเปลี่ยนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของภูมิภาค รวมทั้งรับรองเอกสารที่สำคัญซึ่งเป็นกรอบการดำเนินงานและเป็นการสะท้อนจุดยืนของภูมิภาคในการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมต่อสังคมโลก 
 
              1. การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 17 (17th ASEAN Ministerial Meeting on the Environment: 17th AMME) เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2566 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) โดยมี H.E. Ms. BounkhamVorachit รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปป.ลาว ทำหน้าที่ประธานการประชุม และ H.E. Dato’ Sri Huang Tiong Sii รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศมาเลเชีย ทำหน้าที่รองประธานการประชุม มีรายละเอียดดังนี้
 
                   • ที่ประชุมรับรอง (Endorsed) ประเด็นสำคัญ ดังนี้
                      (1) การขึ้นทะเบียนอุทยานมรดกอาเซียน (ASEAN Heritage Parks: AHPs) ของประเทศไทย จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว - อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว เป็นอุทยานมรดกอาเซียนแห่งที่ 56 และอุทยานแห่งชาติภูกระดึง เป็นอุทยานมรดกอาเซียนแห่งที่ 57
 
     
 
                      (2) ร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 (ASEAN Joint Statement on Climate Change to 28th Session of the Conference of the Parties to the United Nations Framework on Climate Change (UNFCCC COP 28))
                      (3) การมอบรางวัล ASEAN Eco-Schools และรางวัล ASEAN Youth Eco-Champions Award ของประเทศสมาชิกอาเซียนโดยประเทศไทยโรงเรียนสาธิตเทศบาลบ้านหัวหินเข้ารับรางวัล ASEAN Eco-SchoolsAward ระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา เนื่องจากเป็นศูนย์การเรียนรู้โรงเรียนอีโคสคูล โดยนำแนวคิดการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ มาเป็นกรอบในการพัฒนาโรงเรียน และนายมนตรี เจือไทสง อาจารย์โรงเรียนสาธิตเทศบาลบ้านหัวหิน เข้ารับรางวัล ASEAN Youth Eco-Champions Award 4) แผนปฏิบัติการอาเซียนเพื่อการจัดการชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน (ASEAN Action Plan on Invasive Alien Species management) ซึ่งริเริ่มโดยสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เพื่อแก้ไขปัญหาคุกคามต่อการสูญเสียทางธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญของภูมิภาค
 
                    ที่ประชุมรับทราบประเด็นสำคัญ ดังนี้
                      (1) ผลสรุปความสำเร็จความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์อาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ เนการาบรูไนดารุสซาราม
                      (2) การดำเนินโครงการ Horizontal Learning for ASEAN Sustainable Cities ณ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย
                      (3) การดำเนินการตามแผนปฏิบัติอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลของประเทศสมาชิก และความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการและข้อริเริ่มที่เกี่ยวข้องกับขยะพลาสติก
                      (4) การตีพิมพ์รายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมอาเซียน ฉบับที่ 6 (6th ASEAN State of Environment Report: SOER6)
                      (5) ข้อริเริ่ม ASEAN Community-based Climate Action
 
                    นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หัวหน้าคณะผู้แทนไทย ร่วมกล่าวถ้อยแถลงถึงการดำเนินงานของประเทศไทยในการต่อสู้กับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ ปรับยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย (Thailand’s Long-Term Low Greenhouse Gas Emission Development Strategy: LT-LEDS) และเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (Nationally Determined Contribution: NDCs) ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศรวมถึงการดำเนินงานต่าง ๆ เพื่อบรรลุเจตนารมณ์ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 นอกจากนี้ ประเทศไทยมีการบริหารจัดการการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้สอดคล้องกับกรอบงานคุนหมิง - มอนทรีออล ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก และเน้นถึงการจัดการปัญหามลพิษ โดยเฉพาะมลพิษจากพลาสติก ซึ่งประเทศไทยในฐานะประธานคณะทำงานอาเซียนด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งได้กล่าวขอบคุณประเทศสมาชิกอาเซียนที่ให้ความร่วมมือในการดำเนินงาน พร้อมทั้ง เน้นย้ำความสำคัญของความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในอาเซียนต่อไป
 
            2. การประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอาเซียนบวกสาม (ASEAN Plus Three Environment Minister Meeting) เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าในการดำเนินความร่วมมือด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของอาเซียนร่วมกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี โดยเฉพาะประเด็นปัญหาขยะพลาสติกในทะเล
 
            3. การประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอาเซียน - ญี่ปุ่น (ASEAN-Japan Ministerial Dialogue on Environment and Climate Change) เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่ประชุมร่วมกันรับรองเอกสารข้อริเริ่มฉบับใหม่ “Strategic Program for ASEAN Climate and Environment (SPACE)” และญี่ปุ่นเปิดตัว “SPACE” เพื่อสนับสนุนประเทศสมาชิกอาเซียนในการดำเนินงานเพื่อบริหารจัดการวิกฤตสิ่งแวดล้อมโลกที่มีความเชื่อมโยงกัน อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และการแก้ไขปัญหามลพิษ
 
            4. การประชุมระดับรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอาเซียน - สหรัฐอเมริกา (ASEAN-U.S. Ministerial Dialogue on Environment and Climate Change) เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่ประชุมร่วมกันรับรอง ASEAN-U.S. Environment and Climate Work Plan เพื่อสนับสนุนอาเซียนในการดำเนินงานการมีส่วนร่วมตามที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions: NDCs) และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ รวมถึงการเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศ

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง