กรอบความร่วมมือภายใต้โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Subregion Economic Cooperation Program: GMS)

596 22 มิ.ย. 2566

กรอบความร่วมมือภายใต้โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
Greater Mekong Subregion Economic Cooperation Program: GMS

 

 

             กรอบความร่วมมือภายใต้โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2535 เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่เกื้อกูลกันบนพื้นฐานของการมีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกัน และส่งเสริมการสนับสนุนการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน ประกอบด้วยประเทศสมาชิกในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง 6 ประเทศ ได้แก่ ราชอาณาจักรไทย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และสาธารณรัฐประชาชนจีน (เฉพาะแคว้นยูนนานและเขตปกครองกว่างซี) โดยได้รับการสนับสนุนจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ทั้งงบประมาณและวิชาการ โดยมีความร่วมมือ 9 สาขา ได้แก่

(1) สาขาคมนาคม
(2) สาขาโทรคมนาคม
(3) สาขาพลังงาน
(4) สาขาการค้า
(5) สาขาการลงทุน
(6) สาขาการเกษตร
(7) สาขาสิ่งแวดล้อม
(8) สาขาการท่องเที่ยว
(9) สาขาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

 

ทั้งนี้ ประเทศไทยมี สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นหน่วยงานหลัก (GMS National Secretariat) และมี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานประสานการดำเนินงานของคณะทำงานด้านสิ่งแวดล้อม (Working Group on Environment: WGE) โดยมีกลไกการดำเนินงานประกอบด้วย (1) การประชุมผู้นำ (2) การประชุมระดับรัฐมนตรี และ (3) การประชุมคณะทำงาน

 

  กลไกการดำเนินงานสาขาสิ่งแวดล้อม

             สาขาสิ่งแวดล้อม ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานประสานหลักการดำเนินงาน (WGE) มีกลไกในการดำเนินงานในการกำหนดนโยบายร่วมกันสำหรับสาขาความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม คือ การประชุมระดับรัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Subregion Environment Ministers’ Meeting: GMSEMM) ซึ่งจัดขึ้นทุก 3 ปี เพื่อหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการดำเนินความร่วมมือด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งที่ผ่านมามีการจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีฯ แล้ว 5 ครั้ง ได้แก่

            1. การประชุมระดับรัฐมนตรีฯ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 24 - 25 พฤษภาคม 2548 ณ เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน มีนายยงยุทธ ติยะไพรัช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย โดยประเทศสมาชิกร่วมกันยืนยันให้คำมั่นเรื่องความร่วมมือเพื่อการอนุรักษ์ ใช้ประโยชน์ และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

            2. การประชุมระดับรัฐมนตรีฯ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 28 - 29 มกราคม 2551 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีนายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ซึ่งประเทศสมาชิกยืนยันร่วมกันในการสนับสนุนวิสัยทัศน์ในการขจัดความยากจนและสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ระบบนิเวศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง รวมทั้งสร้างความตระหนักด้วยการดำเนินการตามกรอบแผนงานด้านสิ่งแวดล้อม (Core Environment Programme: CEP)

            3. การประชุมระดับรัฐมนตรีฯ ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 27 - 28 กรกฎาคม 2554 ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา มีนายวิจารย์ สิมาฉายา รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย โดยประเทศสมาชิกร่วมกันยืนยันในการให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจให้สมดุล ครอบคลุม และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมภายใต้กรอบกลยุทธ์ของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ปี พ.ศ. 2555 - 2565

            4. การประชุมระดับรัฐมนตรีฯ ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 27 - 29 มกราคม 2558 ณ กรุงเนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา มีพลเอก เอกชัย จันทร์ศรี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ซึ่งประเทศสมาชิกร่วมกันแสดงเจตนารมณ์ในการเพิ่มการลงทุนในต้นทุนทางธรรมชาติ (Natural Capital) ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพื่อให้เกิดการใช้ต้นทุนธรรมชาติอย่างยั่งยืน และเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

            5. การประชุมระดับรัฐมนตรีฯ ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 28 มกราคม - 1 กุมภาพันธ์ 2561 ณ จังหวัดเชียงใหม่ ราชอาณาจักรไทย มีพลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ซึ่งประเทศสมาชิกร่วมกันให้การรับรองเอกสารสำคัญ 2 ฉบับ ได้แก่ (1) กรอบยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการของแผนงานหลักด้านสิ่งแวดล้อม (พ.ศ. 2561 - 2565) และ (2) แถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 5 เพื่อใช้เป็นกรอบแผนงานสำหรับการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงภายในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2561 - 2565) รวมถึงเป็นการให้คำมั่นสัญญาเพื่อสร้างเศรษฐกิจสีเขียวที่ครอบคลุมและยั่งยืนตามแนวทางของแผนงานหลักด้านสิ่งแวดล้อม (CEP) ที่มุ่งเน้นหลักการลงทุนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วยการเสริมสร้างนโยบายที่เชื่อมต่อการลงทุน ปรับปรุงกระบวนการวางแผนทางยุทธศาสตร์ และให้การสนับสนุนเพื่อสร้างความพร้อมด้านการลงทุนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

 

แผนงานด้านสิ่งแวดล้อม (Core Environment Programme: CEP)

            แผนงานด้านสิ่งแวดล้อม (CEP) ภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนความร่วมมือในการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการดำเนินโครงการพัฒนาต่างๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยดำเนินงานตามแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมมา 2 ระยะ (พ.ศ. 2549 - 2563) และปัจจุบันได้กำหนดแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมระยะที่ 3 โดยครอบคลุมการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในช่วงระยะเวลา พ.ศ. 2563 - 2568 โดยได้มีการจัดทำโครงการความช่วยเหลือทางวิชาการ Technical Assistance (TA) 9915: Greater Mekong Subregion Climate Change and Environment Sustainability Program (GMS CCESP) ที่ให้ความสำคัญประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่
                  (1) การสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ
                  (2) การส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
                  (3) การสนับสนุนการดำเนินงานภูมิทัศน์ที่มีความเท่าทันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
                  (4) การควบคุมมลพิษและการบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืน
                  (5) เทคโนโลยีดิจิตอลเพื่อการจัดการสภาพภูมิอากาศและการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
                  (6) การเงินเพื่อเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการลดความเสี่ยงด้านสภาพอากาศและภัยพิบัติ โดยธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ได้ว่าจ้างบริษัท Ramboll แห่งราชอาณาจักรเดนมาร์กเป็นบริษัทที่ปรึกษาสำหรับการดำเนินโครงการความช่วยเหลือทางวิชาการดังกล่าวให้กับประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

 

เอกสารแนบ

ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
  • ประเภท : .pdf
  • ดาวน์โหลด : 43 ครั้ง
ดาวน์โหลด
ขนาด : 0.06 Mb