กรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง (Mekong - Lancang Cooperation: MLC)

995 22 มิ.ย. 2566

กรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง 
Mekong - Lancang Cooperation: MLC

 

 

             กรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง (MLC) (หรืออาจเรียกกรอบความร่วมมือล้านช้าง - แม่โขง) เป็นข้อริเริ่มของประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2555 โดยประกาศจัดตั้งอย่างเป็นทางการในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 1 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 ประกอบด้วยประเทศสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ราชอาณาจักรไทย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และสาธารณรัฐประชาชนจีน (ทั้งประเทศ)
 

โดยมี ความร่วมมือ 3 เสาหลัก ได้แก่

(1) การเมืองและความมั่นคง
(2) เศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
(3) สังคมและวัฒนธรรมและการแลกเปลี่ยนระดับประชาชน


และ 5 สาขาความร่วมมือสำคัญ ได้แก่

(1) ความเชื่อมโยง
(2) ศักยภาพในการผลิต
(3) เศรษฐกิจ ข้ามพรมแดน
(4) ทรัพยากรน้ำ
(5) การเกษตรและการขจัดความยากจน

นอกจากนี้ ยังสามารถมีความร่วมมือในสาขาอื่น ๆ อีกได้ในลักษณะ 3+5+X (X หมายถึงความร่วมมือด้านอื่น ๆ ที่ไม่อยู่ใน 3 เสา และ 5 สาขา)   

                  

  ท่าทีสาธารณรัฐประชาชนจีนในประเด็นต่าง ๆ

             1. การบริหารจัดการน้ำ สาธารณรัฐประชาชนจีนเสนอให้มีการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านน้ำอย่างสม่ำเสมอ และได้แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านน้ำกับประเทศสมาชิก MLC ตลอดทั้งปี ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 รวมทั้งได้จัดตั้งเว็บไซต์สำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูลน้ำ และเร่งดำเนินการตามแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี ด้านทรัพยากรน้ำ ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือด้านความปลอดภัยของเขื่อนและการปรับมาตรฐานทางเทคนิคให้สอดคล้องกัน

             2. การพัฒนาเศรษฐกิจ สาธารณรัฐประชาชนจีนพร้อมที่จะ (1) สนับสนุนการเสริมสร้างขีดความสามารถด้าน production capacity (2) ขยายความร่วมมือด้านนวัตกรรมการเกษตรและปศุสัตว์ และความมั่นคงด้านอาหาร และ (3) ขยายช่องทางการส่งออกสินค้าเกษตรคุณภาพสูงจากประเทศสมาชิก MLC ไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน

             3. ความมั่นคงด้านสาธารณสุข สาธารณรัฐประชาชนจีนจัดตั้งกองทุน Special Fund for Public Health สนับสนุนบทบาทการทูตวัคซีน และผลักดันการใช้ประโยชน์จากการแพทย์ดั้งเดิมร่วมกับการแพทย์สมัยใหม่ในการรักษา ป้องกันและควบคุมโรคระบาด

             4. ความเชื่อมโยง สาธารณรัฐประชาชนจีนเสนอ (1) เพิ่มเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้แก่อนุภูมิภาคฯ (2) สนับสนุนการสอดประสานระหว่าง MLC กับความร่วมมือสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) และระหว่างระเบียงทางการพัฒนาเศรษฐกิจแม่โขง - ล้านช้าง (Mekong - Lancang Economic Development Belt: MLEDB) กับระเบียงทางการค้าเชื่อมทางบก - ทางทะเลระหว่างประเทศแห่งใหม่ (New International Land–Sea Trade Corridor: NILSTC) ซึ่งมีจุดเริ่มต้นที่นครฉงชิ่ง ซึ่งเป็นศูนย์กลางด้านระบบรางเชื่อมระหว่างจีนกับยุโรป (3) ผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูงสาธารณรัฐประชาชนจีน - สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว- ราชอาณาจักรไทย และ (4) เตรียมเปิด Green Lane สำหรับการขนส่งสินค้าจากประเทศสมาชิก MLC ไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน และจัดทำ Fast Track สำหรับการเดินทางของประชาชน เพื่ออำนวยความสะดวกในการไปมาหาสู่กันในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19

             5. ผลักดันให้ MLC ดำเนินการไปในทิศทางเดียวกับแผนแม่บท ACMECS (ค.ศ. 2019 - 2023)

 

  ประเด็นที่ไทยประสงค์จะผลักดัน

             1. ผลักดันให้ MLC เป็นกรอบความร่วมมือที่เชื่อมโยงอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง กับกรอบ ACMECS และความร่วมมือสายแถบและเส้นทาง (BRI) BRI โดยเฉพาะการเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาคฯ และผลักดันให้เศรษฐกิจของอนุภูมิภาคฯ เชื่อมโยงกับห่วงโซ่มูลค่าโลก

             2. สนับสนุนสาขาความร่วมมือ 3+5+X โดยเฉพาะ (1) ด้านการบริหารจัดการน้ำ ส่งเสริมแลกเปลี่ยนข้อมูลน้ำและการทำวิจัยร่วมกับสาธารณรัฐประชาชนจีน และผลักดันให้ MLC มีความร่วมมือที่ใกล้ชิดกับคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) รวมทั้งสนับสนุนการจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีน้ำอย่างสม่ำเสมอ (2) ด้านความมั่นคงสาธารณสุข ร่วมมือกับจีนด้านวัคซีน โดยเฉพาะด้านการผลิต การพัฒนาและการกระจายวัคซีน และการเตรียมความพร้อมสำหรับสถานการณ์ โรคระบาดในอนาคต และ (3) ด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ให้อนุภูมิภาคฯ ฟื้นตัวอย่างปลอดภัย มีนวัตกรรมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Safer, Smarter and Greener) เช่น การส่งเสริมความเชื่อมโยงในทุกมิติ การอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุนโดยเฉพาะสินค้าเกษตร การส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio - Circular - Green Economy: BCG Economy) การขยายและเชื่อมต่อเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zones: SEZs) การส่งเสริม การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล และการพัฒนาระเบียงนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZs) และอุตสาหกรรม BCG      

                  

  กองทุนพิเศษกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง (MLC Special Fund: MLCSF)

              กองทุนพิเศษฯมีมูลค่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จัดตั้งโดยสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการต่าง ๆ ของประเทศสมาชิก โดยมีข้อกำหนดในการของบประมาณโครงการมูลค่าไม่เกิน 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ/โครงการ โดยในปัจจุบัน มีการดำเนินงานโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพิเศษดังกล่าวภายใต้กำกับดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 3 โครงการ ได้แก่

              1.โครงการ Demonstration on Forestry Poverty Alleviation in Thailand ซึ่งได้รับการสนับสนุนในปี พ.ศ. 2561 เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง - ล้านช้าง และการสร้างหลักประกันความมั่นคงด้านอาหารให้แก่ประชาชนที่พึ่งพิงทรัพยากรป่าไม้ในการดำรงชีพ

              2.โครงการ A Comprehensive Study and Demonstration of Forest Fire Regimes, Impacts, and Management in LMC Countries: Towards Enhancing Forest Landscape Resilience to Climate and Ecosystem Changes ซึ่งได้รับการสนับสนุนในปี พ.ศ. 2565 เพื่อ (1) เสริมสร้างความตระหนักและความเข้าใจเกี่ยวกับการเกิดไฟป่า และผลกระทบในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (2) ปรับปรุงความทันสมัยของข้อมูลและสารสนเทศไฟป่า (3) สร้างเครือข่ายการวิจัยร่วมและการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างผู้เชี่ยวชาญ ผู้ปฏิบัติงาน ชุมชน ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และ (4) สร้างจิตสำนึกและมีส่วนร่วมในการป้องกันไฟป่าให้กับชุมชน

            3. โครงการ Piloting Community Forest Enterprises for Increased Economic Benefit and Sustainable Forest Management ซึ่งได้รับการสนับสนุนในปี พ.ศ. 2565 เพื่อ (1) ปรับปรุงการดำเนินการของห่วงโซ่อุปทานของการผลิตสินค้าและบริการจากป่าด้วยการยกระดับความร่วมมือระหว่างวิสาหกิจชุมชนกับภาคเอกชน (2) สร้างความเข้มแข็งกับวิสาหกิจชุมชน และ (3) ขยายความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับประเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตสินค้าจากป่า

 

 การดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง

             สาธารณรัฐประชาชนจีนได้มีการจัดตั้ง ศูนย์ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมล้านช้าง - แม่โขง (Lancang-Mekong Environmental Center: LMEC) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคแม่โขง - ล้านช้าง โดย LMEC ได้มีการจัดทำเอกสารสำคัญ คือ ยุทธศาสตร์ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมกรอบความร่วมมือล้านช้าง - แม่โขง โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
                    (1) อำนวยความสะดวกในการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับภูมิภาคและการเติบโตอย่างครอบคลุมเพื่อจัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกและระดับภูมิภาค และส่งเสริมการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติของประเทศสมาชิกล้านช้าง - แม่โขง
                    (2) จัดเตรียมเวทีสำหรับการหารือนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาระหว่างประเทศล้านช้าง - แม่โขง และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อาทิ รัฐบาลท้องถิ่น ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม และคลังความคิด (Think Tank)
                    (3) มุ่งสู่การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างยั่งยืนและการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดจากการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม
                    (4) ยกระดับความร่วมมือในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปรับปรุงขีดความสามารถในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และส่งเสริมการแบ่งปันความรู้ระดับภูมิภาคเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
                    (5) อำนวยความสะดวกในการดำเนินความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมในเมืองและชนบทของประเทศสมาชิกล้านช้าง - แม่โขง ส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และปรับปรุงศักยภาพการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในระดับภูมิภาค
                    (6) ส่งเสริมการแบ่งปันความรู้ด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับภูมิภาค


โดยมีการจัดทำยุทธศาสตร์ความร่วมมือฯ มาแล้ว 2 ฉบับ ได้แก่

              1. ยุทธศาสตร์ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมกรอบความร่วมมือล้านช้าง – แม่โขง พ.ศ. 2561 - 2565 ซึ่งมีขอบเขตความร่วมมือ 9 สาขา คือ
                         (1) การประชุมเชิงนโยบายความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม
                         (2) การเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรด้านสิ่งแวดล้อม
                         (3) การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและการบริหารจัดการระบบนิเวศ
                         (4) การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
                         (5) การดำเนินงานสิ่งแวดล้อมเมือง
                         (6) การดำเนินงานสิ่งแวดล้อมชนบท
                         (7) เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการปกป้องสิ่งแวดล้อมในการดำเนินอุตสาหกรรม
                         (8) การบริหารจัดการชุดข้อมูลและข่าวสารสิ่งแวดล้อม
                         (9) การสร้างเสริมความตระหนักและสิ่งแวดล้อมศึกษา

              2. ยุทธศาสตร์ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมกรอบความร่วมมือล้านช้าง - แม่โขง พ.ศ. 2566 - 2570 ซึ่งประกอบด้วยสาขาความร่วมมือ 5 สาขา ได้แก่
                         (1) การประชุมเชิงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและการเสริมสร้างศักยภาพ
                         (2) การบริหารจัดการระบบนิเวศและการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ
                         (3) การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
                         (4) การปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อม
                         (5) การแบ่งปันความรู้และการสร้างความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม

 

เอกสารแนบ

ความร่วมมือแม่โขง ล้านช้าง
  • ประเภท : .pdf
  • ดาวน์โหลด : 41 ครั้ง
ดาวน์โหลด
ขนาด : 0.06 Mb