ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง (Ayeyawady- Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS)

846 22 มิ.ย. 2566

ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง
Ayeyawady- Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS

 

 

 

               

 

                 ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง (ACMECS) เป็นข้อริเริ่มของประเทศไทย จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2546 ประกอบด้วยประเทศสมาชิก 5 ประเทศ ได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เพื่อเป็นเวทีหารือเฉพาะของประเทศลุ่มน้ำโขงและส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยปัจจุบันประเทศสมาชิกได้ดำเนินการตามแผนแม่บท ACMECS (ค.ศ. 2019 - 2023) ประกอบด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่ การเสริมสร้างความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ (Seamless Connectivity) การสอดประสานด้านเศรษฐกิจ (Synchronized ACMECS Economies) และการพัฒนาภูมิภาคอย่างยั่งยืนและมีนวัตกรรม (Smart and Sustainable ACMECS)

 

  การมีปฏิสัมพันธ์กับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (Development Partners: DPs)

                1. ที่ประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2561 ณ กรุงเทพมหานคร เห็นชอบการรับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (DPs) บนหลักการของการสร้างกรอบความร่วมมือที่ครอบคลุมและสมดุล โดยประเทศไทยทำหน้าที่ผู้ประสานงานกับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (DPs)

                2. ประเทศสมาชิก ACMECS เชิญชวนให้หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (DPs) สนับสนุนโครงการจำเป็นเร่งด่วนของ ACMECS ทั้งในรูปแบบความช่วยเหลือทางวิชาการและ/หรือการสนับสนุนทางการเงิน รวมทั้งเสนอโครงการใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อ ACMECS/การพัฒนาอนุภูมิภาคฯ ซึ่งต่อมาสหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย แสดงความสนใจในโครงการความเชื่อมโยงด้านดิจิทัล ทรัพยากรน้ำ และความเชื่อมโยงกายภาพ

                3. หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา กลุ่มที่ 1 ได้แก่ เครือรัฐออสเตรเลีย ประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐอินเดีย ได้ร่วมการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสระหว่าง ACMECS กับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (DPs) ครั้งแรก (แยกรายประเทศ) เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2562 ในระหว่างการประชุม AMM/PMC ครั้งที่ 52 ณ กรุงเทพมหานคร โดยหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (DPs) กลุ่มที่ 1 ทั้งหมดได้ให้ความเห็นต่อร่างแผนการส่งเสริมความร่วมมือ (Joint Development Plan on Cooperation between ACMECS and DPs: JDP) (แยกรายประเทศ) แล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาของประเทศสมาชิก ACMECS

                4. ที่ประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ACMECS เมื่อเดือนมีนาคม 2563 เห็นชอบในหลักการในการรับประเทศนิวซีแลนด์และรัฐอิสราเอล เข้าเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (DPs) กลุ่มที่ 2 และที่ประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2563 รับทราบความตั้งใจของประเทศนิวซีแลนด์และรัฐอิสราเอลในการเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (DPs) กลุ่มที่ 2 ขณะนี้ ประเทศสมาชิกอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างแรกของ JDP ของประเทศทั้งสอง ซึ่งเมื่อเห็นชอบแล้วก็จะส่งให้ประเทศทั้งสองพิจารณาต่อไป

 

 การจัดตั้งกองทุน ACMECS Development Fund (ACMDF)

                1. ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการเงิน ACMECS (SFOM) เมื่อปี พ.ศ. 2561 เห็นชอบในหลักการ
                       (1) ลักษณะของกองทุนฯ จะแบ่งเป็นเงินกู้ (loan) และเงินให้เปล่า (grant)
                       (2) วงเงินในการจัดตั้งกองทุนฯ จำนวน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

                2. ประเทศไทยได้ประกาศสนับสนุนเงินทุนตั้งต้น จำนวน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างค่อยเป็นค่อยไปแก่กองทุน ACMDF และให้ประเทศสมาชิก ACMECS ที่เหลือและหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (DPs) ร่วมสนับสนุนเพิ่มเติมบนพื้นฐานของความสมัครใจ ซึ่งกัมพูชาได้ประกาศสนับสนุนเงินทุน จำนวน 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

                3. ที่ประชุม SOM/SFOM เมื่อเดือนมีนาคม 2563 เห็นชอบในหลักการให้ประเทศสมาชิกอื่นสนับสนุนตามสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) โดยจะกำหนดกรอบเวลาการสนับสนุนต่อไป นอกจากนี้ที่ประชุม SFOM ยังเห็นชอบเอกสารขอบเขตการจัดตั้งกองทุนฯ (Term of Reference: TOR)

                4. ที่ประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2563 รับรองเอกสารขอบเขตการจัดตั้งกองทุนฯ (ToR)

                5. ที่ประชุม SFOM เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 เห็นชอบการจัดตั้งคณะทำงาน 2 คณะ เพื่อหารือการจัดตั้งกองทุนฯ และกลไกทางการเงินอื่น ๆ ของ ACMECS

 

  การประชุมที่สำคัญ

                1. การประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2561 ณ กรุงเทพมหานคร ที่ประชุมเห็นชอบ
                        (1) การมีปฏิสัมพันธ์กับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (DPs)
                        (2) การจัดตั้งกองทุน ACMECS
                        (3) แผนแม่บท ACMECS (ค.ศ. 2019 - 2023)

                2. การประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2563 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ที่ประชุมรับรองปฏิญญาพนมเปญ พร้อมด้วยเอกสารแนบ 3 ฉบับ ได้แก่
                        (1) เอกสารขอบเขตการจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนา ACMECS (ACMECS Development Fund: ACMDF)
                        (2) เอกสารแนวคิดกลไกการทำงานของคณะกรรมการประสานงาน 3 เสา ภายใต้แผนแม่บท ACMECS (ค.ศ. 2019 - 2023)
                        (3) รายชื่อโครงการจำเป็นเร่งด่วนของ ACMECS (List of Prioritized Projects) จำนวน 30 โครงการ ซึ่งประเทศสมาชิกเสนอประเทศละ 6 โครงการภายใต้ 3 เสาหลัก

 

เอกสารแนบ

ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี เจ้าพระยา แม่โขง
  • ประเภท : .pdf
  • ดาวน์โหลด : 1 ครั้ง
ดาวน์โหลด
ขนาด : 0.06 Mb