กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - สาธารณรัฐเกาหลี
Mekong - Republic of Korea Cooperation: Mekong - ROK
กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - สาธารณรัฐเกาหลี (Mekong - ROK) เป็นข้อริเริ่มของสาธารณรัฐเกาหลี เมื่อปี พ.ศ. 2554 เพื่อส่งเสริมมิตรภาพและความร่วมมือด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งประกอบด้วย ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ราชอาณาจักรไทย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และสาธารณรัฐเกาหลี โดยมี 3 เสาหลัก ได้แก่ ประชาชน ความเจริญรุ่งเรือง และสันติภาพ และ 7 สาขาความร่วมมือ ได้แก่
(1) วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว
(2) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
(3) การเกษตรและการพัฒนาชนบท
(4) โครงสร้างพื้นฐาน
(5) เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
(6) สิ่งแวดล้อม
(7) ความท้าทายด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่
กลไกความร่วมมือที่สำคัญ
1. การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ และการประชุมผู้นำ (ที่ผ่านมาจะจัดคู่ขนานกับการประชุมในกรอบอาเซียน)
2. แผนปฏิบัติการ ฉบับที่ 3 (ค.ศ. 2021 - 2025) กำหนดแนวทางการดำเนินความร่วมมือภายใต้ 3 เสา และ 7 สาขาความร่วมมือ
3. กองทุน Mekong - ROK Cooperation Fund (MKCF) จัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2556 โดยมีสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (Mekong Institute: MI) เป็นผู้บริหารกองทุนฯ และผู้ประสานงานโครงการ ซึ่งเปิดรับข้อเสนอโครงการโดยประเทศสมาชิกมาแล้ว 6 ครั้ง (ปี พ.ศ. 2559, 2560, 2562, 2563, 2564 และ 2565) โดยในปัจจุบันอยู่ระหว่างการเปิดรับข้อเสนอ ครั้งที่ 7 ประจำปี พ.ศ. 2566 โดยที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับทุนมาแล้ว 5 โครงการ (ดำเนินการเสร็จแล้ว 2 โครงการ และอยู่ระหว่างดำเนินการ 3 โครงการ)
4. สภาธุรกิจ Mekong - ROK จัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2562 เพื่อเป็นหนึ่งในผลลัพธ์การประชุมผู้นำฯ ครั้งที่ 1 สมาชิกประกอบด้วยภาคเอกชนของประเทศสมาชิก (ประเทศไทย คือ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และสาธารณรัฐเกาหลี คือ Korea International Trade Association) ซึ่งได้พบหารือกันเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ผ่านระบบการประชุมทางไกล
5. การประชุม Mekong - Business Forum จัดเป็นประจำทุกปี โดยล่าสุด ครั้งที่ 8 เมื่อปี พ.ศ. 2563 ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ในหัวข้อ Business in the New Normal - Turn Vulnerability into Resilience และมีกำหนดการประชุมครั้งต่อไปในปลายปี พ.ศ. 2564
ประเด็นที่ไทยผลักดัน
1. เน้นย้ำบทบาทของประเทศไทยในการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (Development Partner) กับสาธารณรัฐเกาหลี และการเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือรายใหม่ (Emerging Donor) ในการสนับสนุนการพัฒนาแก่ประเทศลุ่มน้ำโขงเพื่อความมั่งคั่งและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนุภูมิภาคฯ โดยใช้ประโยชน์จากกลไก อาทิ ความร่วมมือ TICA - KOICA สนับสนุนให้การดำเนินการภายใต้ Mekong - ROK เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน ในอนุภูมิภาคฯ การถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม เศรษฐกิจดิจิทัล และการพัฒนาที่ยั่งยืนตามรูปแบบเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio - Circular - Green Economy: BCG Economy) ของประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับการขับเคลื่อนนโยบาย Green New Deal และ Digital New Deal ของเกาหลี รวมทั้งความเชื่อมโยงและการสอดประสานระหว่าง Mekong - ROK กับ ACMECS
2. สนับสนุนให้สภาธุรกิจ Mekong - ROK มีบทบาทสนับสนุนภาคเอกชน MSMEs และ start-ups โดยเฉพาะในช่วงหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยอาจส่งเสริมให้มีการจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจและสร้างเครือข่ายเพื่อปฏิสัมพันธ์และกระตุ้นการค้าและการลงทุนผ่านกลไกภาคเอกชน
3. สนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมในการเฉลิมฉลองปี Mekong - ROK Exchange Year 2021 - 2022 เพื่อส่งเสริมความตระหนักรู้ของภาคประชาชน โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนระหว่างเยาวชน รวมทั้งผ่านวัฒนธรรม K-POP ของสาธารณรัฐเกาหลี
การประชุมที่สำคัญ
1. การประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - สาธารณรัฐเกาหลี (Mekong - ROK) ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ณ เมืองปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี โดยประเทศไทยเป็นประธานร่วม ซึ่งที่ประชุม
(1) รับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม คือ ปฏิญญาแม่น้ำโขง-แม่น้ำฮั่น ที่กำหนดแนวทางความร่วมมือ 3 เสา และ 7 สาขาความร่วมมือ และการดำเนินการที่สอดประสานกันระหว่าง Mekong - ROK กับ ACMECS และกรอบความร่วมมืออื่น ๆ
(2) จัดตั้งสภาธุรกิจ Mekong - ROK โดยภาคเอกชนประเทศสมาชิกร่วมลงนาม MoU การจัดตั้งฯ
2. การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - สาธารณรัฐเกาหลี (Mekong - ROK) ครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2563 ผ่านระบบการประชุมทางไกล รับรองแผนปฏิบัติการ ฉบับที่ 3 (ค.ศ. 2021 - 2025) ซึ่งกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนความร่วมมือในระยะ 5 ปีข้างหน้าภายใต้ 3 เสา ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายมุ่งใต้ใหม่ (NSP) และนโยบายมุ่งใต้ใหม่พลัส (NSPP) ของสาธารณรัฐเกาหลี
3. การประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - สาธารณรัฐเกาหลี (Mekong - ROK) ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2563 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยที่ประชุม
(1) รับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมคือ ถ้อยแถลงร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - สาธารณรัฐเกาหลี (Mekong - ROK) ครั้งที่ 2
(2) เน้นย้ำความร่วมมือเพื่อการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และการฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านการส่งเสริมความร่วมมือด้านความเชื่อมโยง สาธารณสุข เศรษฐกิจดิจิทัล และการต่อต้านภัยคุกคามด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่
(3) ยกระดับความร่วมมือเป็น Strategic Partnership
(4) ยินดีต่อการกำหนดให้ปี พ.ศ. 2564 เป็นปี Mekong - ROK Exchange Year 2021 ในโอกาสครบรอบ 10 ปี ของการจัดตั้ง Mekong –ROK
4. การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - สาธารณรัฐเกาหลี (Mekong - ROK) ประจำปี พ.ศ. 2564 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยที่ประชุม
(1) รับทราบการรายงานภาพรวมของกองทุน MKCF โดยสถาบัน MI ระหว่างปี พ.ศ. 2559 - 2563 และมีโครงการจำนวน 26 โครงการ โดยส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
(2) รับทราบผลการประกวดตราสัญลักษณ์ Mekong - ROK โดยผู้ชนะการออกแบบเป็นคนไทย และสโลแกน Mekong - ROK ที่ได้รับคัดเลือก คือ A Lasting Partnership for Peace and Prosperity
(3) รับทราบแนวคิดของเกาหลีในการขยายเวลาของปี Mekong - ROK Exchange Year 2021 ต่อไปอีก 1 ปี จนถึงปี พ.ศ. 2565
5. การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - สาธารณรัฐเกาหลี (Mekong – ROK) ครั้งที่ 11 เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยที่ประชุม
(1) แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาค
(2) รับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมคือ ถ้อยแถลงของประธานร่วมการประชุมฯ
(3) รับทราบโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุน MKCF ครั้งที่ 5 ประจำปี พ.ศ. 2564
(4) รับรองการขยายเวลาของปี Mekong - ROK Exchange Year 2021 ให้ครอบคลุมปี พ.ศ. 2565 และเสนอให้ผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - สาธารณรัฐเกาหลี (Mekong - ROK) พิจารณาให้ความเห็นชอบ
เอกสารแนบ
- ประเภท : .pdf
- ดาวน์โหลด : 79 ครั้ง