กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - ญี่ปุ่น (Mekong - Japan Cooperation: MJ)

1013 19 มิ.ย. 2566

กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - ญี่ปุ่น 
Mekong - Japan Cooperation: MJ

 

           กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - ญี่ปุ่น (MJ) เป็นข้อริเริ่มของประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี พ.ศ. 2551 ประกอบด้วยประเทศสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ราชอาณาจักรไทย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และประเทศญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประเทศในอนุภูมิภาคฯ ลดช่องว่างทางการพัฒนา และการรวมตัวของประชาคมอาเซียน โดยประเทศไทยมีบทบาทเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาและประเทศผู้ให้ร่วมกับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกรอบความร่วมมือฯ ขับเคลื่อนโดยยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว ค.ศ. 2018 เพื่อความร่วมมือภายใต้ 3 เสาหลัก ได้แก่ (1) การพัฒนาความเชื่อมโยงที่ดีและมีประสิทธิภาพ (Vibrantand Effective Connectivity) (2) การสร้างประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (People-centered Society) และ (3) การสร้างอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงสีเขียว (Realization of a Green Mekong) และสอดคล้องกับ 3 แนวทาง ได้แก่ (1) แผนแม่บท ACMECS Master Plan (ค.ศ. 2019 - 2023) (2) ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ที่เสรีและเปิดกว้าง (Free and Open Indo - Pacific Strategy) และ (3) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals)

 

           กลไกความร่วมมือที่สำคัญ ได้แก่ (1) การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ การประชุมรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม และการประชุมผู้นำ (2) การประชุม Mekong - Japan SDGs Forum ซึ่งประเทศไทยได้เสนอเป็นเจ้าภาพร่วมกับประเทศญี่ปุ่น เพื่อดำเนินการตามข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 และเป็นการสานต่อความสำเร็จของการประชุม Green Mekong Forum ที่ประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นเคยเป็นเจ้าภาพร่วมกัน 6 ครั้ง ที่กรุงเทพฯ และล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 ทั้งนี้ ฝ่ายญี่ปุ่นได้จัดทำ Concept Paper ของการประชุมฯ ซึ่งมีหัวข้อสำคัญเรื่องความร่วมมือด้านสาธารณสุข และการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และต่อมาได้ขอเลื่อนการประชุมฯ เพื่อติดตามพัฒนาการของสถานการณ์ในเมียนมา

 

  ข้อริเริ่มล่าสุดของญี่ปุ่น

           1. ข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (Mekong Japan Initiative for SDGs toward 2030) ซึ่งเสนอต่อที่ประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - ญี่ปุ่น (MJ) ครั้งที่ 11 เมื่อปี พ.ศ. 2562 โดยได้กำหนดประเด็นหลักที่ญี่ปุ่นมุ่งส่งเสริม ได้แก่

(1) การพัฒนาความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานกฎระเบียบ และอุตสาหกรรม
(2) การพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสาขาบริหารจัดการน้ำ การจัดการภัยพิบัติและปัญหาขยะพลาสติกทะเล
(3) การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
(4) การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กรุงโตเกียวฯ ให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์การพัฒนาอุตสาหกรรมในอนุภูมิภาคฯ ระยะที่ 2 (MIDV 2.0) และแผนแม่บท ACMECS
(5) การสนับสนุนบทบาทของภาคเอกชนญี่ปุ่นในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ

           2. ข้อริเริ่ม “คูซาโนเนะ” เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (KUSANONE Mekong SDGs Initiative) ซึ่งเสนอต่อที่ประชุมผู้นํากรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - ญี่ปุ่น (MJ) ครั้งที่ 12 โดยประเทศญี่ปุ่นจะสมทบเงินอย่างน้อย 1 พันล้านเยน (ประมาณ 300 ล้านบาท) เพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับรากหญ้า รวมถึงกลุ่มพลเมืองชายขอบในอนุภูมิภาคฯ

 

  ประเด็นที่ไทยประสงค์ที่จะผลักดัน

           1. เน้นย้ำบทบาทของประเทศไทยในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาและประเทศผู้ให้ในอนุภูมิภาคฯ ร่วมกับประเทศญี่ปุ่น โดยชูประเด็นการให้ความช่วยเหลือของไทยในประเทศในอนุภูมิภาคฯ ด้านการพัฒนาความเชื่อมโยงทุกมิติ รวมทั้งด้านดิจิทัล และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและครอบคลุม

           2. ส่งเสริมให้ญี่ปุ่นมีส่วนร่วมในการพัฒนาความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคฯอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ (Quality Infrastructure) ความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบ ห่วงโซ่อุปทานและดิจิทัล ตลอดจนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Soft Infrastructure) ตามระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC) และระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) รวมทั้งโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC)

           3. ผลักดันให้กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - ญี่ปุ่น (MJ) ดำเนินไปในทิศทางเดียวกับแผนแม่บท ACMECS และอาเซียนตลอดจนเสนอให้ญี่ปุ่นพิจารณาเลือกสนับสนุนโครงการเร่งด่วน (Prioritized Projects) ของ ACMECS ในฐานะที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของ ACMECS

 

  การประชุมที่สำคัญ ได้แก่

            1. การประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - ญี่ปุ่น (MJ) ครั้งที่ 12 จัดขึ้นคู่ขนานกับการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 37 เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2563 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยเวียดนามและญี่ปุ่นเป็นประธานร่วม โดยที่ประชุมได้รับรองถ้อยแถลงร่วมฯ ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อรับมือกับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทั้งด้านสาธารณสุขและความเชื่อมโยง โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยี เศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาภาคเอกชน โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และขนาดย่อม (Micro, Small, and Medium Enterprises: MSMEs) และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเน้นความเชื่อมโยงระหว่าง AOIP กับ FOIP และระหว่าง MJ กับ ACMECS โดยประเทศญี่ปุ่นได้เสนอความร่วมมือ 5 ด้าน ได้แก่

(1) Mekong SDGs Investment Partnership
(2) ข้อริเริ่ม KUSANONE
(3) การสนับสนุนทางวิชาการด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
(4) ความมั่นคงทางทะเล ซึ่งญี่ปุ่นจะอบรมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 100 คน รวมทั้งพัฒนา web portal ด้านความมั่นคงทางทะเล
(5) ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน

            2. การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - ญี่ปุ่น (MJ) ครั้งที่ 14 ขึ้นเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยญี่ปุ่นเป็นประธาน (ไม่มีประธานร่วม) และไม่มีเอกสารผลลัพธ์การประชุม โดยที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุขและการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์โรคโควิด 19 ตลอดจนสถานการณ์ในอนุภูมิภาคฯ โดยประเทศไทยได้เสนอให้เร่งส่งเสริมความร่วมมือด้านการเข้าถึงวัคซีน การพัฒนาดิจิทัลและการเชื่อมโยงนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio - Circular - Green Economy: BCG Economy) กับ Green Growth Strategy ของประเทศญี่ปุ่น