กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - คงคา (Mekong - Ganga Cooperation: MGC)

482 19 มิ.ย. 2566

กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - คงคา 
Mekong - Ganga Cooperation: MGC

 

 

                   กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - คงคา (MGC) จัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2543 ณ กรุงเทพมหานคร โดยมีสาธารณรัฐอินเดียเป็นผู้ผลักดัน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และสร้างความเชื่อมโยงระหว่างอินเดียกับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยกรอบความร่วมมือฯ ถือเป็นกรอบความร่วมมือแรกของประเทศในอนุภูมิภาคฯ กับประเทศจากนอกอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และมีอายุครบรอบ 20 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2563 โดยมีประเทศสมาชิกประกอบด้วยราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ราชอาณาจักรไทย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และสาธารณรัฐอินเดีย ซึ่งมีปฏิญญาระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ และแผนปฏิบัติการกรอบความร่วมมือแม่น้ำโขง –คงคา ค.ศ. 2019 - 2022 เป็นเอกสารสำคัญเชิงนโยบาย โดยมีความร่วมมือ 10 สาขา ซึ่งมีประเทศผู้นำ (Lead Country) ใน 4 สาขา ได้แก่

(1) การท่องเที่ยว (ราชอาณาจักรไทย) 
(2) วัฒนธรรม (ราชอาณาจักรกัมพูชา)
(3) การศึกษา (สาธารณรัฐอินเดีย)
(4) การคมนาคมขนส่ง (สปป.ลาว)
(5) สาธารณสุขและการแพทย์แผนดั้งเดิม
(6) การเกษตร
(7) การพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
(8) การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
(9) วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
(10) การพัฒนาทักษะและสร้างศักยภาพ

 

                  กลไกความร่วมมือที่สำคัญ ได้แก่ การจัดการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส และการประชุมระดับรัฐมนตรีคู่ขนานกับการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนและประเทศคู่เจรจา (AMM/PMC) เป็นประจำทุกปีโดยสาธารณรัฐอินเดียมีบทบาทในฐานะ “ผู้ให้” ผ่านโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ได้แก่

(1) โครงการที่ให้ผลเร็ว (Quick Impact Projects: QIPs) แก่กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม (ยกเว้นไทย)
(2) การจัดสรรสินเชื่อ (Line of Credit: LoC) จำนวน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
(3) กองทุนเพื่อการพัฒนา (Development Fund) ให้แก่ประเทศในอนุภูมิภาคฯ สำหรับโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน

 

  ความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์และผลประโยชน์ของไทย

                  1. กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - คงคา (MGC) เป็นเวทีหลักที่ประเทศในอนุภูมิภาคฯ สำหรับการมีปฏิสัมพันธ์กับสาธารณรัฐอินเดียเพื่อให้เข้ามามีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ และสร้างสมดุลของปฏิสัมพันธ์ในอนุภูมิภาคฯ ของมหาอำนาจ และไทยได้ใช้จุดแข็งทางภูมิศาสตร์และระดับการพัฒนาที่สูงกว่าประเทศอื่น ๆ ในอนุภูมิภาคฯ ในการแสดงบทบาทการเป็นหุ้นส่วนในการให้ความช่วยเหลือร่วมกับอินเดีย และผลักดันให้การดำเนินการของ MGC สอดคล้องกับกรอบความร่วมมืออื่น ๆในอนุภูมิภาคฯ โดยเฉพาะประเด็นความเชื่อมโยงกับ ACMECS อาเซียนและ BIMSTEC อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาการดำเนินงานภายใต้ MGC ยังขาดความเป็นรูปธรรมและไทยมีบทบาทค่อนข้างจำกัด

                 2. สาธารณรัฐอินเดียเป็นประเทศ “ใหญ่ โตไว ใกล้ คล้าย สนใจเรา” ที่มีทรัพยากรธรรมชาติ อุดมสมบูรณ์ มีแรงงาน/นักวิชาชีพจำนวนมาก มีความใกล้ชิดทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม ซึ่งเป็นจุดเด่นของ MGC

                 3. สาธารณรัฐอินเดียได้ให้ความสนใจภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการยกระดับนโยบาย “Look East”เป็น “Act East”และขยายสาขาความร่วมมือเพิ่มเติมจากด้านวัฒนธรรมและการศึกษา เพื่อให้ MGC มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสสำหรับไทยในการเข้าไปมีส่วนร่วมในสาขาความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นได้มากขึ้นเช่นกัน

                 4. สาขาความร่วมมือที่เป็นไปได้สำหรับไทยและอินเดียจะมีความร่วมมือกันภายหลังสถานการณ์โรคโควิด 19 คือ ด้านความปลอดภัยทางสาธารณสุข (Health Security) ความปลอดภัยทางอาหาร (Food Security) และความปลอดภัยในการจ้างงาน (Job Security) ได้แก่ การพัฒนาทรัพยากรบุคคล การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และขนาดย่อม (Micro, Small, and Medium Enterprises: MSMEs) การเกษตรความเชื่อมโยงอุตสาหกรรมดิจิทัล ICT/Fintech การพัฒนายาและเวชภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด 19 ให้เป็น Global Public Goods เทคโนโลยีทางการแพทย์ และการท่องเที่ยวที่เกี่ยวโยงกับบริการสาธารณสุข เป็นต้น

                5. แนวโน้มและทิศทางของกรอบ MGC ให้ความสำคัญกับการพัฒนาความเชื่อมโยงมากขึ้น จึงสอดคล้องกับนโยบายของไทยที่ต้องการผลักดันการส่งเสริมการขนส่งชายฝั่ง (Coastal Shipping) และโครงการทางหลวงสามฝ่ายระหว่างเมียนมา อินเดีย และไทย ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และให้พร้อมที่จะขยายต่อไปยัง สปป. ลาว กัมพูชา และเวียดนาม โดยจะเป็นเส้นทางแรกที่เชื่อมโยงอนุภูมิภาคอินเดียกับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเข้าด้วยกัน และช่วยส่งเสริมให้ห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาคมีความเข้มแข็ง รวมทั้งเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงตลาดของสินค้าไทย โดยเฉพาะ 7 รัฐ ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย (Seven Sister States) ซึ่งมีประชากรชาติพันธุ์ไทอาศัยอยู่ อย่างไรก็ดี ถนนบางช่วงในความรับผิดชอบของเมียนมาและอินเดียยังไม่ได้มาตรฐาน และการเจรจาพิธีสารกฎระเบียบการจัดทำความตกลงยานยนต์ (IMT Motor Vehicles Agreement: IMTMVA) ยังคงค้างประเด็นเรื่องการจำกัดสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ประกอบการ โดยเมียนมา อินเดีย และไทย ได้ตกลงที่จะลงนามกรอบการเจรจาก่อน และเจรจาพิธีสารฯ ต่อไปในภายหลัง

 

 ผลการประชุมที่สำคัญ  ได้แก่

               1. การประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - คงคา (MGC) ครั้งที่ 11 เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 โดยที่ประชุม (1) รับรองถ้อยแถลงร่วม เน้นพันธกรณีต่อการเร่งรัดพัฒนาความร่วมมือ 10 สาขา ให้รุดหน้า (2) รับทราบรายงาน Progress Report ของกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - คงคา (MGC) และเอกสารแนะนำโครงการ QIPs และ (3) เปิดตัวเว็บไซต์กรอบกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - คงคา (MGC) และตัวอย่างภาพยนต์สารคดีเกี่ยวกับกรอบความร่วมมือฯ เพื่อช่วยสร้างแบรนด์และความตระหนักรู้เกี่ยวกับกรอบความร่วมมือดังกล่าว

               2. ที่ประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - คงคา (MGC) ครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2562 โดยที่ประชุมได้รับรองเอกสาร (1) ถ้อยแถลงร่วม เน้นพันธกรณีต่อการเร่งรัดพัฒนาความร่วมมือ 10 สาขา ให้รุดหน้า และจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 20 ปี ของการจัดตั้ง MGC รวมทั้งอินเดียได้ยืนยันการเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของ ACMECS ตามการผลักดันของไทย และ (2) แผนปฏิบัติการกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-คงคา ค.ศ. 2019 - 2022 (แผน 4 ปี) ที่มีกิจกรรมความร่วมมือ 10 สาขา

               3. ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - คงคา (MGC) ครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2563 ได้ทบทวนความคืบหน้าของโครงการ QIPs และแผนปฏิบัติการฯ โดยอินเดียได้ผลักดันให้จัดประชุมระดับผู้นำในปี พ.ศ. 2563 ในโอกาสครบรอบ 20 ปี ของการจัดตั้ง MGC อย่างไรก็ตามที่ประชุมได้ขอให้คำนึงถึงความก้าวหน้าด้านสารัตถะของกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - คงคา (MGC) และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 สำหรับการพิจารณาการจัดการประชุมระดับผู้นำแบบ in-person ในปี พ.ศ. 2564