ความร่วมมืออาเซียน - สาธารณรัฐประชาชนจีน (ASEAN - CHINA)

1120 18 มิ.ย. 2566

ความร่วมมืออาเซียน - สาธารณรัฐประชาชนจีน

   ASEAN - CHINA  

 

           ร่างกรอบแผนงานอาเซียน-จีน ด้านยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2564 - 2568 จัดทำขึ้นต่อจากยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมอาเซียน-จีน พ.ศ. 2559 - 2563 เพื่อเป็นกรอบการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีความสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน พ.ศ. 2568 วิสัยทัศน์ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน-จีน พ.ศ. 2573 ที่มีเป้าหมายมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านกิจกรรมการขับเคลื่อนศักยภาพในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม การแบ่งปันความรู้ แบบปฏิบัติที่ดี และการเพิ่มขีดความสามารถด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมระดับภูมิภาคร่วมกัน ร่างกรอบแผนงานอาเซียน-จีน ด้านยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2564 - 2568 ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบหลัก ได้แก่

                 (1) การหารือด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมและการเพิ่มขีดความสามารถ
                 (2) เมืองสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนและการลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเล
                 (3) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปรับปรุงคุณภาพอากาศ
                 (4) การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและการจัดการระบบนิเวศ

ซึ่งแต่ละองค์ประกอบภายใต้กรอบแผนงานมีกิจกรรมร่วมระหว่างอาเซียน-จีน เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมาย

 

           ร่างเอกสารแนวคิดอาเซียน-จีน ว่าด้วยปีแห่งความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน จัดทำขึ้นเพื่อให้คำมั่นระหว่างอาเซียนและสาธารณรัฐประชาชนจีนต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยปี พ.ศ. 2564 ถือเป็นการครบรอบความสัมพันธ์ 30 ปี อาเซียน-จีน และประกาศให้เป็นปีแห่งความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของอาเซียน-จีน ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมในรูปแบบการแลกเปลี่ยนการเยือน และการสัมมนาระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเด็นด้านสาธารณสุข การขจัดความยากจน การป้องกันและการลดภัยพิบัติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ การอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและการใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน เมืองสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และพลังงานสะอาด รวมถึงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแบบปฏิบัติที่ดีในการปรับปรุงคุณภาพอากาศ ซึ่งจะมีการจัดพิธีเปิดปีแห่งความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนอาเซียน-จีน ในไตรมาสแรกของ ปี พ.ศ. 2564

 

กรอบความร่วมมืออาเซียน – จีน       มีการดำเนินความร่วมมือ ดังนี้
 

            1. China - ASEAN Environmental Cooperation Center/Foreign Environmental Cooperation Center ภายใต้กระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ASEAN - China Environmental Cooperation Week 2022 เมื่อวันที่ 22 - 24 มิถุนายน 2565 ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ นโยบายและความก้าวหน้าในการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างอาเซียน - จีน โดยให้ความสำคัญกับเมืองที่มีความสามารถในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ การใช้ Nature - based Solutions (NbS) รวมถึงการจัดการปัญหาด้านขยะพลาสติก โดยในหัวข้อ “Toward 2025 Blue Economic in Financial Institution Promote the Plastic Industrial Upgrading” โดยมีผู้แทนกรมควบคุมมลพิษได้นำเสนอในประเด็น Thailand National Policy and Challenges for Plastic Waste Reduction

 

            2. สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ASEAN – China National Focal Point Meeting on Environmental Cooperation in 2022 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565 ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการดำเนินงานโครงการความร่วมมือ รวมทั้งติดตามผลการดำเนินงาน และเสนอแนะแนวทางเพื่อปรับปรุงการดำเนินงาน ให้บรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างอาเซียน-จีน ในการดำเนินโครงการในสาขาต่างๆ อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษ เมืองยั่งยืน โดยสาธารณรัฐประชาชนจีนรายงานผลการดำเนินงานโครงการความร่วมมือที่ผ่านมา และนำเสนอโครงการที่จะดำเนินการร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนในอนาคต มีผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะผู้ประสานงานความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมอาเซียน-จีน เข้าร่วมการประชุม   

 

           3. การดำเนินความร่วมมือภายใต้กรอบแผนงานอาเซียน-จีน ด้านยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2564 - 2568 (Framework of ASEAN-China Environmental Cooperation Strategy and Action Plan 2021 - 2025) ประกอบด้วย 4 ทิศทางยุทธศาสตร์ ได้แก่
                 (1) การหารือด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมและการเสริมสร้างศักยภาพ
                 (2) เมืองยั่งยืนและการลดขยะพลาสติกทะเล
                 (3) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปรับปรุงคุณภาพอากาศ
                 (4) การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและการจัดการระบบนิเวศ

 

           4. ความร่วมมือทางทะเล ดำเนินโครงการความร่วมมือกับจีนภายกองทุน ASEAN - China Maritime Cooperation Fund ดังนี้
                 (1) โครงการ Technical Cooperation on Marine Debris and Microplastic Monitoring and Research ดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 จนถึงปัจจุบัน เพื่อศึกษาวิธีการและมาตรฐานในการติดตามขยะทะเลและไมโครพลาสติก และศึกษาวิจัยเกี่ยวกับขยะทะเลและไมโครพลาสติก
                 (2) โครงการ Monsoon onset Monitoring and Its Social and Ecosystem Impacts  เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการศึกษาความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ และศึกษากระบวนการทางสมุทรศาสตร์
                 (3) โครงการ Promotion of Blue Economy in Trat เพื่อศึกษาแนวทางการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน ตามหลักการเศรษฐกิจพอเพียงภาคทะเล (Blue economy)
                 (4) โครงการ Marine Endangered Species Researches เพื่อศึกษาลักษณะทางชีววิทยาการแพร่กระจายและระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ทะเลหายาก

 

           5. ความร่วมมือทางวิชาการด้านป่าชายเลน โดยลงนาม MoU on Relating to Pilot Cooperation on Mangrove Conservation ระหว่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และ China-ASEAN Environment Cooperation Center และ Shenzhen Mangrove wetlands conservation foundation เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2561 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อดำเนินกิจกรรมและศึกษาวิจัยการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนและสนับสนุนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบปฏิบัติที่ดีในด้านการอนุรักษ์ป่าชายเลน