ความร่วมมืออาเซียน - สาธารณรัฐเกาหลี (ASEAN - ROK)

1789 18 มิ.ย. 2566

ความร่วมมืออาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลี

  ASEAN - ROK  

 

                สาธารณรัฐเกาหลี เริ่มมีความสัมพันธ์กับอาเซียนในปี พ.ศ. 2532 ในฐานะคู่เจรจาเฉพาะด้านและได้พัฒนาความสัมพันธ์เป็นคู่เจรจาอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2534 โดยในการประชุมสุดยอดอาเซียนและเกาหลีใต้ ครั้งที่ 8 ณ เวียงจันทร์ ในปี พ.ศ. 2547 ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามปฏิญญาร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมืออย่างรอบด้าน (Joint Declaration on Comprehensive Cooperation Partnership) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือร่วมระหว่างกัน

 

                1. ASEAN-ROK Dialogue on Environment and Climate Change รับรองโดยเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม (ASEAN Senior Officials on the Environment: ASOEN) ในการประชุมครั้งที่ 31 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 โดยมุ่งเน้นด้านการแบ่งปันนโยบายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งด้านพลังงานในบริบทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับความท้าทายระดับภูมิภาคและระดับโลกและปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่ในสาขาที่เกี่ยวข้อง โดยจะจัดประชุมต่อเนื่องทุกปีในห้วงของการประชุม ASOEN และจะมุ่งเน้นพัฒนาให้เป็น platform สำหรับการรวบรวมโครงการความร่วมมือต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนกลไกการดำเนินงานของอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

               2. ASEAN-ROK Carbon Dialogue โดยสาธารณรัฐเกาหลีได้เสนอแนวคิดกรอบความร่วมมือ ASEAN-ROK Carbon Dialogue ให้กับคณะทำงานอาเซียนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ASEAN Working Group on Climate Change: AWGCC) ในการประชุมครั้งที่ 10 เมื่อ พ.ศ. 2562 ซึ่งปัจจุบันสาธารณรัฐเกาหลีและอาเซียนอยู่ระหว่างการพัฒนาแผนการดำเนินโครงการความร่วมมือ ASEAN-ROK โดยจะมีการพัฒนาเป็น Project Proposal และเสนอต่อ AWGCC พิจารณาต่อไป

 

               3. โครงการอากาศสะอาดเพื่อความยั่งยืนอาเซียน (Clean Air for Sustainable ASEAN: CASA)

                    (1) สาธารณรัฐเกาหลีให้การสนับสนุนประเทศสมาชิกอาเซียนดำเนินงานตามกรอบความร่วมมืออาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมเมืองยั่งยืน ภายใต้โครงการอากาศสะอาดเพื่อความยั่งยืนอาเซียน  (Clean Air for Sustainable ASEAN (CASA)) เพื่อลดมลพิษทางอากาศและผลกระทบด้านสุขภาพโดยผ่านมาตรการทางการเมือง วิทยาศาสตร์และเทคนิค โดยมีระยะเวลาดำเนินงานโครงการเริ่มต้นในวันที่ 1 กันยายน 2565 และสิ้นสุดโครงการในวันที่ 31 สิงหาคม 2569

                    (2) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินความร่วมมือในโครงการ เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศให้กับประเทศสมาชิกอาเซียน โดยการกำหนดตัวชี้วัดโครงการเพื่อบรรลุเป้าหมายการดำเนินงานด้วยการเปรียบเทียบ การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน การตั้งข้อสันนิษฐาน/ความเสี่ยง การพิจารณาหาแหล่งกำเนิดมลพิษหลัก การจัดทำรายงานของแต่ละประเทศ การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อคัดเลือกเมืองเพื่อทำการศึกษาวิจัย และจัดทำรายงานนำเสนอ

 

              4. โครงการ Partnership for ASEAN-ROK Methane Action (PARMA)

                    สาธารณรัฐเกาหลีจัดทำข้อเสนอโครงการ PARMA เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทนในระดับภูมิภาค ประกอบด้วย 2 กิจกรรม ได้แก่

                    กิจกรรมที่ 1 การสนับสนุนการพัฒนาโครงการลดการปล่อยก๊าซมีเทนในประเทศสมาชิกอาเซียนโดย PARMA จะจับคู่หน่วยงาน (match) ที่เหมาะสมระหว่างโครงการดำเนินงานการลดการปล่อยก๊าซมีเทนในแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนกับหน่วยงานของสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อดำเนินกิจกรรมในประเภทต่าง ๆ ได้แก่
                               1) การเกษตร เช่น การทำนาข้าวแบบแห้งสลับเปียก การใช้สารเติมแต่งในอาหารสัตว์
                               2) การจัดการขยะ เช่น การปิดหลุมฝั่งกลบขยะ การเติมสารปฏิกรชีวภาพ การย่อยสลายแบบไม่ใช้ออกซิเจนและการใช้ประโยชน์ก๊าซชีวภาพจากโรงงานบำบัดน้ำเสีย
                               3) การรั่วซึม (Fugitive emission) เช่น การตรวจวัดการรั่วไหลและการซ่อมแซมเพื่อลดการรั่วซึม

                    กิจกรรมที่ 2 การเสริมสร้างขีดความสามารถการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทน ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และฝึกอบรมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของประเทศสมาชิกอาเซียนในกระบวนการตรวจวัดการปล่อยก๊าซมีเทน นโยบายที่เกี่ยวข้อง และเทคโนโลยีการลดการปล่อยก๊าซมีเทน ประกอบด้วย
                               1) การฝึกอบรมการเข้าถึงทางการเงินด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate finance) สำหรับโครงการการลดการปล่อยก๊าซมีเทน
                               2) โครงการศึกษาร่วมระหว่างสถาบันของสาธารณรัฐเกาหลีและประเทศสมาชิกอาเซียนในการตรวจวัดและการลดการปล่อยก๊าซมีเทน
                               3) การเข้าร่วมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ/สัมมนาทางไกล
                               4) การเรียนรู้ศึกษาดูงานนอกสถานที่

 

               5. การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน

                    ความร่วมมือภายใต้องค์การความร่วมมือด้านการป่าไม้แห่งเอเชีย (Asian Forest Cooperation Organization: AFoCO) เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนและส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียนและภูมิภาคเอเชีย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมป่าไม้ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ (The Regional Workshop on Forest Fire Management in South East Asiafor AFoCO/032/2022) ภายใต้โครงการ Capacity building on enhancing resilience to forest fire, and local livelihood and market linkages ระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ - 3 มีนาคม 2566 ณ กรุงเทพมหานคร โดย ASEAN-ROK Cooperation (AKCF) สนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดการประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบาย โครงสร้างการบริหารจัดการ และเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการไฟป่าของประเทศสมาชิกอาเซียน การนำเสนอผลการศึกษา Feasibility Study การถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมไปถึงการหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างกันต่อช่องว่างทางเทคโนโลยี เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดการไฟป่า สนับสนุนการแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน หยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในภาคป่าไม้ และมีผู้แทนจาก 10 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว