หุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง - สหรัฐฯ (Mekong - U.S. Partnership: MUSP)

635 16 มิ.ย. 2566

หุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง - สหรัฐฯ 
Mekong-U.S. Partnership: MUSP

 

               หุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง - สหรัฐฯ ยกระดับจากกรอบความร่วมมือข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (Lower Mekong Initiative: LMI) เมื่อปี พ.ศ. 2563 เพื่อตอบรับกับความท้าทายใหม่ เพิ่มความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ ความมุ่งมั่นและมีประสิทธิภาพ โดยมีประเทศสมาชิกประกอบด้วย ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ราชอาณาจักรไทย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการดำเนินงานครอบคลุมประเด็นสำคัญใน 4 สาขา ได้แก่
                           (1) ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ
                           (2) การบริหารจัดการน้ำและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนและการอนุรักษ์และปกป้องสิ่งแวดล้อม
                           (3) ความมั่นคงรูปแบบใหม่
                           (4) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยปัจจุบันได้มีการจัดทำเอกสารแนวคิดการจัดตั้งหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ (MUSP Foundational Document) เป็นเอกสารพื้นฐานของกรอบความร่วมมือและมีแผนปฏิบัติการ MUSP ค.ศ. 2021–2023

 

               กลไกความร่วมมือที่สำคัญ ได้แก่
                          (1) การประชุมระดับคณะทำงาน (Policy Dialogue) ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส และระดับรัฐมนตรี ซึ่งกำหนดจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีคู่ขนานกับการประชุมในกรอบอาเซียน
                          (2) มีกลไกในการหารือกับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา คือ กลุ่มมิตรประเทศลุ่มน้ำโขง (Friends of the Mekong: FOM) ซึ่งประกอบด้วยเครือรัฐออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี สหภาพยุโรป ธนาคารพัฒนาเอเชียธนาคารโลก และสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง

 

               บทบาทและประเด็นที่ประเทศไทยผลักดัน คือ
                          (1) ประเทศไทยพร้อมเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ ในการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยสนับสนุนให้ MUSP มีวัตถุประสงค์ด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
                          (2) สนับสนุนบทบาทที่สร้างสรรค์ของสหรัฐฯ ในอนุภูมิภาคฯ และให้ MUSPเกื้อหนุนและสอดคล้องกับกรอบความร่วมมืออื่น ๆ โดยเฉพาะ ACMECS โดยเน้นการส่งเสริมความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคฯ ตามแผนแม่บท ACMECS และดำเนินโครงการตามสาขาความร่วมมือด้านความมั่นคงทางดิจิทัลและพลังงาน การศึกษาและการพัฒนาทุนมนุษย์ และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามโครงการเร่งด่วนของ ACMECS
                          (3) สนับสนุนให้ MUSP มีการจัดตั้งกลไกลการสนับสนุนทางการเงิน เพื่อให้ความร่วมมือเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
                          (4) สนับสนุนการเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจและการลงทุนที่มีพลวัต เพื่อให้ภาคเอกชนของอนุภูมิภาคฯ มีศักยภาพ และทำให้เศรษฐกิจของอนุภูมิภาคฯ สามารถเชื่อมต่อกับห่วงโซ่อุปทานของโลก

 

  ผลการประชุมที่สำคัญ  ได้แก่

               1. การประชุมรัฐมนตรีหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง – สหรัฐฯ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2563 ได้รับรองถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรี MUSP และเอกสารแนวคิดการจัดตั้ง MUSP จึงเป็นการยกระดับกรอบความร่วมมือจากกรอบความร่วมมือข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (LMI) เป็น MUSP อย่างเป็นทางการ

               2. การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง – สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ได้หารือแนวทางความร่วมมือ 4 ประเด็น ได้แก่ (1) สาธารณสุขและการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 (2) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (3) สิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ และ (4) การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 พร้อมทั้งเตรียมการประชุมรัฐมนตรีหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง - สหรัฐฯ ครั้งที่ 2

               3. การประชุมรัฐมนตรีหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง - สหรัฐฯ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ได้รับรองแผนปฏิบัติการ MUSP ค.ศ. 2021-2023 ที่มุ่งเน้นการยึดมั่นกับหลักการความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ความโปร่งใส ธรรมาภิบาล การเคารพต่อกฎหมายระหว่างประเทศและความร่วมมือที่มีกฎเกณฑ์เป็นพื้นฐาน และครอบคลุมสาขาความร่วมมือ 4 สาขาของ MUSP

               4. การประชุมรัฐมนตรีกลุ่มมิตรประเทศลุ่มน้ำโขง (FOM) เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564 จัดขึ้นในโอกาสครบรอบ 10 ปี ของการจัดตั้งกลุ่มมิตรประเทศลุ่มน้ำโขง (FOM) และได้รับรองแถลงข่าวร่วมกลุ่มมิตรประเทศลุ่มน้ำโขง (FOM) ที่เน้นย้ำ (1) ความสำคัญของหลักการของความร่วมมือ (2) การส่งเสริมระหว่างกันของกรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคฯ (3) ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 (4) ประเด็นที่สมาชิกให้ความสำคัญ เช่น การพัฒนาที่ยั่งยืนและการรับมือความท้าทายข้ามพรมแดน และ (5) การสนับสนุนบทบาทของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) ในการพัฒนาลุ่มน้ำโขง