สมาคมแห่งภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean Rim Association: IORA)

705 30 พ.ค. 2566

สมาคมแห่งภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย
(Indian Ocean Rim Association: IORA)

 

                สมาคมแห่งภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย (IORA) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2538 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การอำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุน และการพัฒนาในภูมิภาค ปัจจุบันมีสมาชิก 23 ประเทศ และประเทศหุ้นส่วนคู่เจรจา 10 ประเทศ (Dialogue Partners) โดยมีสาขาความร่วมมือ ประกอบด้วย


                     (1) ความมั่นคงและปลอดภัยทางทะเล
                     (2) การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน
                     (3) การแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 
                  
  (4) การท่องเที่ยวและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม
                     (5) การจัดการประมง
                     (6) การจัดการความเสี่ยงที่เกิดจากภัยพิบัติ
                     (7) เศรษฐกิจภาคทะเล
                     (8) การส่งเสริมบทบาทของสตรีในการมีส่วนร่วม

 

  การประชุมที่สำคัญ

               การประชุมสภารัฐมนตรีสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย ครั้งที่ 21 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ณ กรุงธากา สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ และผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยนายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวผ่านระบบการประชุมทางไกลการประชุมฯ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ Harnessing the Opportunities of the Indian Ocean Sustainably for Inclusive Development โดยผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวเน้นย้ำความสำคัญของการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในภูมิภาคและบทบาททางเศรษฐกิจของสตรี ซึ่งจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นอกจากนี้ ยังส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจภาคทะเล (Blue Economy) ระหว่างประเทศสมาชิก และการทำประมงอย่างยั่งยืน เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาค ซึ่งสอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และระบบเศรษฐกิจสีเขียว (Bio – Circular - Green Economy Model: BCG Economy Model) ของประเทศไทย ทั้งนี้ ที่ประชุมสนับสนุนความร่วมมือของประเทศสมาชิกภายหลังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อสร้างสมดุลด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมทางทะเล รวมทั้งยังส่งเสริมการดำเนินงานความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมในประเด็นต่างๆ ได้แก่ การบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ การจัดการข้อมูลทางทะเล การลดความเสี่ยงในพื้นที่ชายฝั่งด้วยวิธีธรรมชาติ การวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่ง และการวางแผนและระบบการบริหารจัดการน้ำเค็ม โดยอาศัยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเข้ามาดำเนินการ นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ร่วมรับรองแถลงการณ์ธากา (Dhaka Communique) ที่มีเนื้อหาสะท้อนเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิกในการขับเคลื่อนความร่วมมือและส่งเสริมบทบาทของสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดียในเวทีโลก ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาภูมิภาคโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง