ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation: BIMSTEC)

948 23 พ.ค. 2566

ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ

(Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation: BIMSTEC)

 

              ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC) ก่อตั้งเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2540 เป็นกรอบความร่วมมือทางวิชาการและเศรษฐกิจระหว่างประเทศในอ่าวเบงกอล และเป็นกรอบเดียวที่เชื่อมเอเชียใต้เข้ากับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นกลไกหนึ่งที่ประเทศไทยสามารถขยายความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาธารณรัฐอินเดีย มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาคที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกัน และส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกันทางด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และความช่วยเหลือระหว่างประเทศสมาชิก ในรูปของการฝึกอบรม รวมถึงการค้นคว้าวิจัย และการกระชับความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชากรในภูมิภาค โดยประเทศสมาชิก ประกอบด้วย (1) สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ (2) ราชอาณาจักรภูฏาน (3) สาธารณรัฐอินเดีย (4) สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (5) สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล (6) สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา และ (7) ราชอาณาจักรไทย


 

                                                  และมีสาขาความร่วมมือ 7 สาขา ได้แก่


                          (1) การค้า การลงทุน และการพัฒนา
                          (2) สิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
                          (3) ความมั่นคง
                          (4) การเกษตรและความปลอดภัยทางอาหาร
                          (5) การติดต่อระหว่างบุคคล
                          (6) วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม
                           (7) ความเชื่อมโยง

 

              การประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 28 - 30 มีนาคม 2565 ณ กรุงโคลัมโบ สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา ประเทศไทยได้รับตำแหน่งประธาน BIMSTEC วาระ 2 ปี (พ.ศ. 2565 - 2566) โดยนายกรัฐมนตรีประกาศวิสัยทัศน์ “ PRO BIMSTEC ” ในโอกาสการเป็นประธาน BIMSTEC ของประเทศไทย ซึ่งมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับประเทศสมาชิกอย่างใกล้ชิดเพื่อมุ่งให้อนุภูมิภาคเบงกอลมีความมั่นคั่ง ยั่งยืน และเปิดกว้างสู่โอกาส (Prosperous, Resilient and Open BIMSTEC)

 

  การประชุมที่สำคัญ

                1. การประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 5 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง จัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 - 30 มีนาคม 2565 ณ กรุงโคลัมโบ สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา ในรูปแบบผสมผสาน (hybrid) เพื่อทบทวนผลการดำเนินความร่วมมือในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ผลักดันความตกลงที่คั่งค้าง หารือแนวทางความร่วมมือที่จะเป็นประโยชน์ในการรับมือกับสถานการณ์โรคโควิด 19 และสภาพปกติใหม่ (new normal) รวมถึงพิจารณาเอกสารสำคัญสำหรับลงนามและรับรอง ทั้งนี้ ประเทศไทยได้รับมอบตำแหน่งประธาน BIMSTEC วาระ 2 ปี (พ.ศ. 2565 - 2566) ต่อจากสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 5 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยที่ประชุมผู้นำฯ ได้มีการลงนามในเอกสารจำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ (1) กฎบัตร BIMSTEC (2) อนุสัญญาว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางอาญา (3) บันทึกความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี BIMSTEC และ (4) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสถาบันการทูตของประเทศสมาชิก BIMSTEC นอกจากนี้ ที่ประชุมผู้นำฯ ได้ให้การรับรองปฏิญญาการประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 5 ที่แสดงเจตนารมณ์ของผู้นำประเทศสมาชิกในการขับเคลื่อนกรอบความร่วมมือ BIMSTEC โดยกำหนดทิศทางความร่วมมือของกรอบ BIMSTEC ในอนาคต เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และรับรองการปรับลดสาขาความร่วมมือจาก 14 สาขา เหลือ 7 สาขา ตลอดจนแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงด้านคมนาคม BIMSTEC นอกจากนี้ ในช่วงการกล่าวถ้อยแถลง นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำ (1) ผลักดันการปฏิบัติตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงด้านคมนาคมให้เกิดผลเป็นรูปธรรม (2) ผลักดันการจัดทำแผนแม่บทด้านความเชื่อมโยงโครงข่ายพลังงาน (3) ส่งเสริมการปรับสาขาและสาขาย่อยความร่วมมือซึ่งจะส่งเสริมพลวัตของ BIMSTEC และ (4) เพิ่มบทบาทของ BIMSTEC ผ่านการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ประกาศวิสัยทัศน์ “PROBIMSTEC” ในโอกาสการเป็นประธาน BIMSTEC ของประเทศไทย ซึ่งมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับประเทศสมาชิกอย่างใกล้ชิดเพื่อมุ่งให้อนุภูมิภาคเบงกอลมีความมั่นคั่ง ยั่งยืน และเปิดกว้างสู่โอกาส (Prosperous, Resilient and Robust, Open BIMSTEC) โดยประเทศไทยมุ่งใช้แนวคิดนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model) เป็นแนวคิดหลักเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือในกรอบ BIMSTEC และมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนความร่วมมือในสาขาความเชื่อมโยงที่ประเทศไทยเป็นประเทศผู้นำ (Lead Country) ให้ครอบคลุมทุกมิติ

                2. การประชุมระดับรัฐมนตรี BIMSTEC ครั้งที่ 19 เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) เป็นประธานการประชุม โดยได้กล่าวถ้อยแถลงที่เน้นย้ำถึง (1) ความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับรัฐสมาชิกอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ภูมิภาคอ่าวเบงกอลมีความมั่งคั่ง ยั่งยืน ฟื้นคืน และเปิดกว้าง (Prosperous, Resilient and Open BIMSTEC: PROBIMSTEC) ตามร่างวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030 (Bangkok Vision 2030) (2) การพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับการสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านการใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานชีวมวล ตามแนวคิดนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ - เศรษฐกิจหมุนเวียน - เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Green-Circular Economy Model: BCG Economy Model) และ (3) การเสริมสร้างความเข้มแข็งเชิงสถาบันให้แก่ BIMSTEC และที่ประชุมให้ความเห็นชอบเอกสารจำนวน 8 ฉบับ ได้แก่ (1) ร่างวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030 (2) ร่างกฎระเบียบสำหรับกลไกการดำเนินงานภายใต้กรอบ BIMSTEC (3) ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะผู้ทรงคุณวุฒิว่าด้วยทิศทางในอนาคตของ BIMSTEC (4) กฎการบริหารและดำเนินการทางวินัยของสำนักเลขาธิการ BIMSTEC (5) รูปแบบการรายงานผลสำหรับกลไกภายใต้สาขาความมั่นคงของความร่วมมือ BIMSTEC (6) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเล (7) ความตกลงเจ้าบ้านระหว่างรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอินเดียกับสำนักเลขาธิการ BIMSTEC ว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์สภาพอากาศและภูมิอากาศของ BIMSTEC ที่ประเทศอินเดีย และ (8) การแก้ไขรายละเอียดในส่วนที่ 2 (การประมาณการและการจัดทำแผนงบประมาณประจำปี) ของกฎและระเบียบทางการเงินของสำนักเลขาธิการ BIMSTEC นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบการผนวกรวมประเด็นเศรษฐกิจภาคทะเล เศรษฐกิจภาคภูเขา และการบรรเทาความยากจนให้อยู่ภายใต้การดูแลของสาขาหลักและสาขาย่อยของความร่วมมือ BIMSTEC