คณะทำงานอาเซียนด้านการจัดการสารเคมีและของเสีย
(ASEAN Working Group on Chemicals and Wastes: AWGCW)
บทนำ:
ปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะขยะอิเล็กทรอนิกส์ ถุงพลาสติก และขยะอาหารถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ของเสียประเภทต่างๆ ที่ปะปนกัน นำไปสู่การจัดการที่ไม่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการฝังกลบยังคงเป็นวิธีการหลักในการกำจัดขยะมูลฝอย นอกเหนือไปจากแนวทางปฏิบัติในการคัดแยกขยะ ซึ่งการดำเนินงานตามแนวทาง 3Rs (Reduce, Reuse, Recycle) และระบบเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานกำลังได้รับความสนใจมากขึ้นในประเทศอาเซียน โดยในปี พ.ศ. 2555 อาเซียนผลิตขยะมูลฝอยชุมชน (Municipal Solid Waste: MSW) 202,000 ตันต่อวัน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในปี พ.ศ. 2568 ซึ่งขยะมูลฝอยชุมชนโดยเฉลี่ยในปี พ.ศ. 2555 อยู่ที่ 1.03 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.38 กิโลกรัมต่อคนต่อวันภายในปี พ.ศ. 2568 นอกจากนี้ 4 ประเทศจาก 5 อันดับแรกที่มีการทิ้งขยะพลาสติกลงในทะเลถึงร้อยละ 60 มาจากอาเซียน ได้แก่ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม อย่างไรก็ตามมีความพยายามในการรณรงค์เพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมและจูงใจไม่ให้ใช้วัสดุที่ทำมาจากพลาสติก รวมทั้งส่งเสริมและจูงใจให้ใช้วัสดุทดแทนพลาสติก
อาเซียนมีการใช้สารกำจัดศัตรูพืชอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการเกษตร ซึ่งสารบางชนิดมีความเป็นพิษสูงและถูกห้ามใช้ในประเทศอื่น ซึ่งถือเป็นหนึ่งในความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในการจัดการสารเคมีที่ผ่านมายังประสบปัญหาการขาดข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการใช้และการแพร่กระจายของสารเคมีในภูมิภาคและการจัดการการทิ้งสารเคมีที่ถูกต้องและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดสำหรับอาเซียนในการจัดการสารเคมี คือการใช้สารกำจัดศัตรูพืชในภาคการเกษตรที่มีความเข้มข้นสูง โดยไม่ปราศจากการควบคุมและบริหารจัดการที่ขาดประสิทธิภาพ ซึ่งสารเคมีเหล่านี้มักถูกใช้เกินขนาดและสารตกค้างจำนวนมากถูกห้ามเคลื่อนย้ายข้ามแดนซึ่งกระบวนการดังกล่าวเป็นไปตามข้อตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อม (Multilateral Environmental Agreements: MEAs) หลายฉบับ ซึ่งกำหนดให้ประเทศในอาเซียนที่เป็นภาคีภายใต้ข้อตกลงปฏิเสธการนำเข้าสารเคมี นอกจากนี้ สารเคมีอื่นๆ บางชนิด อาทิ แร่ใยหิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง แม้ว่าจะถูกห้ามใช้ในภูมิภาคอื่น แต่ก็ยังมีการใช้ในบางประเทศในอาเซียน ทำให้เห็นว่าประเทศต่างๆ ในอาเซียนยังคงถูกท้าทายจากโครงสร้างด้านกฎหมาย ตลอดจนแสดงให้เห็นถึงการขาดความสามารถและศักยภาพในการจัดการขยะเคมีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
โดยในปัจจุบันมีอนุสัญญาระหว่างประเทศจำนวน 4 ฉบับ ที่กล่าวถึงการบริหารจัดการสารเคมีและประเด็นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่ได้ให้สัตยาบัน (Ratified) ต่ออนุสัญญาดังกล่าวทั้ง 4 ฉบับแล้ว ได้แก่
(1) อนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด
(2) อนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน
(4) อนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท
คณะทำงานอาเซียนด้านการจัดการสารเคมีและของเสีย (ASEAN Working Group on Chemical and Waste: AWGCW) ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2558 ภายหลังจากการเห็นชอบของเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม (ASEAN Senior Officials on the Environment: ASOEN) ให้เปลี่ยนชื่อและหน้าที่ของคณะทำงานอาเซียนว่าด้วยข้อตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อม (ASEAN Working Group on Multilateral Environmental Agreement: AWGMEA) ให้เป็นคณะทำงานอาเซียนด้านการจัดการสารเคมีและของเสีย (AWGCW) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคด้านการจัดการสารเคมีและของเสีย รวมถึงการดำเนินการตามข้อตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีและของเสีย
แผนยุทธศาสตร์อาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม (ASEAN Strategic Plan on Environment: ASPEN) ได้คาดการณ์ล่วงหน้าสำหรับ 10 ปี เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและการดำเนินการร่วมกันในการจัดการสารเคมีและของเสียที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศอาเซียน มุ่งเน้นไปที่แผนงาน 7 ด้าน ได้แก่ (1) การจัดการของเสียอันตรายและของเสียอื่น ๆ ที่กำหนดไว้ภายใต้อนุสัญญาบาเซล (2) ความร่วมมือในการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนของสารเคมีและของเสียอันตราย (3) การจัดการสารเคมีที่ดี (4) เทคโนโลยีการจัดการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสู่แนวทางการดำเนินงานอุตสาหกรรมสีเขียว (5) การดำเนินงานอาเซียนด้านการจัดการสารเคมีและของเสียในประชาคมโลก (6) การป้องกันอุบัติเหตุจากสารเคมีและของเสียอันตราย และการเตรียมความพร้อมและการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นและ (7) การแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนจากสารเคมีและของเสียอันตราย
ความสำเร็จ:
อาเซียนมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกตามหลักการของความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างกัน ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ให้คำมั่นเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกโดยการให้สัตยาบันข้อตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสารเคมีและของเสีย อาทิ อนุสัญญา BRS (บาเซิล-รอตเทอร์ดัม-สตอกโฮล์ม) อนุสัญญามินามาตะ และพิธีสารมอนทรีออล เป็นต้น ส่งผลให้ประเทศสมาชิกอาเซียนทุกประเทศต้องลดการใช้สารคลอโรฟลูออโรคาร์บอนที่ทำลายชั้นโอโซนลงอย่างมากให้น้อยกว่า 1,000 ตันต่อปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549
ความสำเร็จที่สำคัญ ภายใต้ AWGCW ได้แก่
(1) การแบ่งปันข้อมูลและประสบการณ์ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และการส่งเสริมการให้สัตยาบันและการสร้างขีดความสามารถเกี่ยวกับสารเคมีและของเสียที่เกี่ยวข้องตามข้อตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อม
(2) การส่งเสริมและพัฒนาเอกสารแสดงจุดยืนและปฏิญญาร่วมของอาเซียนในการประชุมเจรจาระหว่างประเทศของข้อตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง
(3) แบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการระดับชาติของสารเคมีและของเสียและการอัปเดตเกี่ยวกับการอภิปรายและความคืบหน้าของกระบวนการระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
(4) การดำเนินโครงการความร่วมมือของอาเซียน เช่น ASEAN‐UNEP International Environment Technology การศึกษาร่วมกันระดับภูมิภาคในการจัดการของเสีย ซึ่งแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2559 โดยมีรายงานผลการจัดการขยะทั่วไป ขยะอิเล็กทรอนิกส์ และขยะปรอท การศึกษาการจัดการขยะและรายการขยะปรอทดำเนินการโดยสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ในขณะที่การศึกษาขยะอิเล็กทรอนิกส์ดำเนินการโดย Basel Convention Resource Centre-Southeast Asia (BCRC-SEA) ซึ่งผลการศึกษาและข้อเสนอแนะของการศึกษานำมาใช้เป็นข้อมูลสำหรับการวางแผนและตัดสินใจเชิงนโยบายของประเทศสมาชิกอาเซียน
วัตถุประสงค์:
1. เพื่อเสริมสร้างการประสานงานระดับภูมิภาคและความร่วมมือในการจัดการกับปัญหาของเสียและสารเคมี รวมถึงการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายภายใต้ข้อตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง อาทิ อนุสัญญาบาเซิล ร็อตเตอร์ดัม สตอกโฮล์ม มินามาตะ และพิธีสารมอนทรีออล เป็นต้น รวมถึงส่งเสริมและพัฒนาระบบต่าง ๆ อาทิ ระบบการจำแนกประเภทและการติดฉลากสารเคมีที่เป็นระบบเดียวกันทั่วโลก (Globally Harmonised System of Classification and Labelling of Chemicals: GHS)
2. เพื่อให้บรรลุการจัดการสารเคมีและของเสียอันตรายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามกรอบความร่วมือระหว่างประเทศที่ตกลงร่วมกัน
3. เพื่อลดภัยคุกคามและผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นจากสารเคมีและของเสียอันตราย โดยส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาคในการป้องกันการลักลอบขนส่งสารเคมีอันตรายและของเสียข้ามแดนอย่างผิดกฎหมาย และเสริมสร้างศักยภาพแนวทางการจัดการที่ดีในการจัดการสารเคมีอันตราย และของเสียให้ดียิ่งขึ้น
วิธีการดำเนินการ:
คณะทำงานอาเซียนว่าด้วยการจัดการสารเคมีและของเสีย (AWGCW) เป็นหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบการดำเนินโครงการและกิจกรรมต่างๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ และ/หรือพันธมิตรจะได้รับการปรึกษาหารือและประสานงานสำหรับกิจกรรมข้ามภาคส่วนและข้ามเสาหลัก โดย AWGCW จะดูแลประเด็นการวางแผน ด้านเทคนิค และการนำไปปฏิบัติภายใต้ลำดับความสำคัญเชิงกลยุทธ์ ในขณะที่รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอาเซียนและเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมจะเป็นผู้กำหนดนโยบายและแนวทางเชิงกลยุทธ์สำหรับการทำงาน โดยประเทศผู้นำของแต่ละโครงการ/กิจกรรมจะพัฒนาข้อเสนอแผนการดำเนินงานโดยละเอียด ดำเนินกิจกรรมโดยประสานงานกับประเทศสมาชิกอาเซียนและสำนักเลขาธิการอาเซียน
พันธมิตรที่มีศักยภาพและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย:
กิจกรรมภายใต้ลำดับความสำคัญเชิงกลยุทธ์นี้สามารถดำเนินการผ่านความร่วมมือและความร่วมมือระดับภูมิภาคกับองค์กรที่ทำงานด้านการจัดการสารเคมีและของเสีย พันธมิตรหรือแพลตฟอร์มที่มีศักยภาพ ได้แก่ เวทีหารือการจัดการสารเคมีระดับภูมิภาคที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเคมีแห่งสวีเดน (Swedish Chemical Agency) เวทีหารือระดับภูมิภาคด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพโดยการสนับสนุนขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP) และศูนย์เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ (International Environment Technology Centre: IETC) รวมถึงการจัดเวทีหารือ 3Rs ในภูมิภาคเอเชีย
กิจกรรมสามารถดำเนินการผ่านความร่วมมือและการสนับสนุนจากคู่เจรจาของอาเซียน / หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา อาทิ ประเทศญี่ปุ่นและสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งปัจจุบันทั้งสองประเทศกำลังให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคและการเงินแก่ประเทศต่างๆ ในอาเซียน เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการจัดการสารเคมีและของเสีย เช่น POPs ตลอดจนการปฏิบัติตามอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีและของเสีย มีกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคม (CSO) ที่ทำงานเกี่ยวกับปัญหาสารเคมีและของเสียในภูมิภาค อาทิ GEF หรือ Regional Chemical Management Forum (เช่น Basel Action Network (BAN), Ban Toxics and Pesticide Action Network) เป็นต้น