คณะทำงานอาเซียนด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ (AWGNCB)

760 5 เม.ย. 2566

คณะทำงานอาเซียนด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ

(ASEAN Working Group on Nature Conservation and Biodiversity: AWGNCB)

 

 

  วัตถุประสงค์:

            1. เสริมสร้างความเข้มแข็งความร่วมมือในภูมิภาคในการคุ้มครอง (protect) ฟื้นฟู (restore) และส่งเสริมการใช้ทรัพยากรทางนิเวศวิทยาบนบกอย่างยั่งยืน ต่อสู้กับการกลายเป็นทะเลทราย หยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และหยุดยั้งและคืนสภาพของพื้นที่เสื่อมโทรม

            2. ส่งเสริมความร่วมมือในการคุ้มครอง ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์สิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อตอบสนองและรับมือกับความเสี่ยงทางมลพิษและภัยคุกคามต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมชายฝั่ง โดยเฉพาะบริเวณที่มีความเปราะบางทางระบบนิเวศ โดยนำแนวทางการจัดการที่ดีมาปฏิบัติ และสร้างเสริมความเข้มแข็งทางนโยบายในการแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากโครงการพัฒนาในพื้นที่ชายฝั่ง น่านน้ำสากลและข้ามพรมแดนอาทิ มลพิษ การเคลื่อนย้ายและลักลอบทิ้งสารและขยะอันตรายอย่างผิดกฎหมาย โดยใช้ประโยชน์จากสถาบันและข้อตกลงต่าง ๆ ที่มีอยู่ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับสากล

            3. ส่งเสริมนโยบาย การพัฒนาขีดความสามารถ และแนวการปฏิบัติที่ดีเพื่ออนุรักษ์ พัฒนา และการจัดการที่ยั่งยืนทางทะเล (marine) พื้นที่ชุ่มน้ำ (wetlands) ป่าพรุ (peatlands) ความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity) และทรัพยากรน้ำและดิน

            4. ส่งเสริมการสร้างขีดความสามารถอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีการจัดการระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

            5. ส่งเสริมความร่วมมือในการจัดการสิ่งแวดล้อมมุ่งสู่การใช้ระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยผ่านการศึกษาเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม การมีส่วนร่วมของชุมชน และการเผยแพร่สู่สาธารณะ

            6. เสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก และสนับสนุนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง
ตามข้อตกลงและแผนงานระหว่างประเทศ

            7. สนับสนุนการดำเนินงานอย่างเต็มที่ตามแผนยุทธศาสตร์ความหลากหลายทางชีวภาพ ค.ศ. 2011-2020 (Strategic Plan for Biodiversity 2011-2020) และเป้าหมายไอจิ (Aichi Targets)

 

  กลไกการดำเนินงาน:

          คณะทำงานอาเซียนด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ จัดตั้งขึ้นเพื่อกระชับความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน โดยจัดประชุมเป็นประจำทุกปีเพื่อพิจารณาและให้ข้อเสนอแนะทางวิชาการในการดำเนินโครงการด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพของภูมิภาคอาเซียน รวมถึงตรวจติดตามและพัฒนาแนวทางของอาเซียนต่อเวทีและข้อตกลงระหว่างประเทศและภูมิภาคด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ก่อนนำเสนอเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในการดำเนินงานต่อไป นอกจากนี้ คณะทำงานอาเซียนด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพยังทำหน้าที่เป็นหน่วยงานให้คำปรึกษาด้านเทคนิค (Technical advisory body) ให้กับศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (ASEAN Centre for Biodiversity: ACB)

 

 อุทยานมรดกอาเซียน (ASEAN Heritage Parks (AHP) Programme)

ASEAN Heritage Park are defined as

“protected area of high conservation importance, preserving in total a complete spectrum of representative ecosystems of the ASEAN region.”

 

           คำนิยามของอุทยานมรดกอาเซียน คือ “เขตพื้นที่คุ้มครองที่มีความสำคัญสูงด้านการอนุรักษ์และคงไว้ซึ่งตัวแทนระบบนิเวศของภูมิภาคอาเซียนไว้อย่างสมบูรณ์” เพื่อสร้างความตระหนัก ความภาคภูมิใจ ความพึงพอใจ ความสนุกสนานในการอนุรักษ์พื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยมรดกทางธรรมชาติของอาเซียน ตลอดจนสร้างเครือข่ายตัวแทนเขตพื้นที่คุ้มครอง สร้างเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในการคุ้มครองแหล่งมรดกธรรมชาติของตน

 

           ปัจจุบันมีพื้นที่คุ้มครองที่ได้รับการรับรองเป็นอุทยานมรดกอาเซียน จำนวน 51 แห่ง โดยในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 33 เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบ (Endorsed) AHP ลำดับที่ 52 ถึง 55 ดังนี้ ลำดับที่ 52 อุทยานธรรมชาติ Pasonanca สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ลำดับที่ 53 อุทยานแห่งชาติ Con Dao สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ลำดับที่ 54 อุทยานธรรมชาติ Mt. Inayawan Range สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ และลำดับที่ 55 อุทยานแห่งชาติ Bach Ma สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และจะได้เสนอให้มีการรับรอง (Adoption) อุทยานมรดกอาเซียนดังกล่าวในการประชุมระดับรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอาเซียน ในปี พ.ศ. 2566 ต่อไป

 

อุทยานมรดกอาเซียนของประเทศไทย    ปัจจุบันมีจำนวนทั้งหมด 7 แห่ง ได้แก่

 

          1. อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้รับการรับรองเป็น AHP ลำดับที่ 10 เมื่อปี พ.ศ. 2527

          2. อุทยานแห่งชาติตะรุเตา ได้รับการรับรองเป็น AHP ลำดับที่ 11 เมื่อปี พ.ศ. 2527

          3. อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา หมู่เกาะสุรินทร์และหมู่เกาะสิมิลัน ได้รับการรับรองเป็น AHP ลำดับที่ 22 เมื่อปี พ.ศ. 2546

          4. อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้รับการรับรองเป็น AHP ลำดับที่ 23 เมื่อปี พ.ศ. 2546

          5. อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมและหมู่เกาะลิบง ได้รับการรับรองเป็น AHP ลำดับที่ 45 เมื่อปี พ.ศ. 2562

          6. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ได้รับการรับรองเป็น AHP ลำดับที่ 46 เมื่อปี พ.ศ. 2562

          7. อุทยานแห่งชาติเขาสก ได้รับการรับรองเป็น AHP ลำดับที่ 50 เมื่อปี พ.ศ. 2564

 

 

          ทั้งนี้ มีพื้นที่คุ้มครองที่อยู่ระหว่างการพิจารณาเป็นอุทยานมรดกอาเซียน ได้แก่

 

          1. พื้นที่คุ้มครองแห่งชาติ Phou Xieng Thong สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

          2. อุทยานแห่งชาติภูกระดึง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวและอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ราชอาณาจักรไทย

          3. เขตอนุรักษ์ธรรมชาติ Taninthayi สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

          4. อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอน ราชอาณาจักรไทย

          5. พื้นที่คุ้มครองแห่งชาติน้ำปุย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 

 

  โครงการ Biodiversity Conservation and Management of Protected Areas in ASEAN (BCAMP)

                โครงการมีเป้าหมายเพื่อ (a) ปรับปรุงประสิทธิภาพของการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและพื้นที่คุ้มครองในระดับพื้นที่ (b) พัฒนาและกระจายความรู้และหลักการพื้นฐานวิทยาศาสตร์ของการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่อุทยานมรดกอาเซียน (c) สร้างกระแสการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและการจัดการพื้นที่คุ้มครอง (d) สร้างเสริมขีดความสามารถของศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพอาเซียน เพื่อสนับสนุนวาระระดับภูมิภาคของอาเซียนและประเทศสมาชิกในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและการจัดการพื้นที่คุ้มครอง

                ประเทศไทยเข้าร่วมดำเนินโครงการ BCAMP ในระดับพื้นที่และระดับประเทศ พร้อมทั้งส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมกิจกรรมเสริมสร้างสมรรถนะในระดับภูมิภาค ตั้งแต่ พ.ศ. 2559 โดยโครงการฯ จะสิ้นสุดการดำเนินงานในเดือนมิถุนายน 2566

 

  โครงการศึกษาและประเมินมูลค่าความหลากหลายทางชีวภาพและการบริการจากระบบนิเวศในพื้นที่อนุรักษ์ ภายใต้โครงการ BCAMP

                โดยในปี พ.ศ. 2565 BCAMP ได้สนับสนุนการดำเนินงานของประเทศไทย อาทิ สนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติตะรุเตาและกลุ่มป่าตะวันออก สนับสนุนการเสนอขอขึ้นทะเบียบมรดกอาเซียนและสนับสนุนกิจกรรมการบูรณาการความหลากหลายเข้าสู่ภาคการเกษตร

 

  โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งภาคสถาบันให้กับหน่วยงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ระยะที่สอง (Institutional Strengthening of the Biodiversity Sector in ASEAN Phase II)

                โครงการมีเป้าหมายเพื่อ (a) ดำเนินงานสำคัญเร่งด่วนของแผนยุทธศาสตร์ของศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (ASEAN Centre for Biodiversity: ACB) (b) ใช้คู่มือการดำเนินงานของ AHP ในการตรวจติดตามและประเมินผลการดำเนินงานอุทยานมรดกอาเซียน (c) สร้างเงื่อนไขเพื่อใช้เป็นโครงร่างสนับสนุนสำหรับการต่อรอง (negotiations) ของภูมิภาคในข้อตกลงด้านความหลากหลายทางชีวภาพใหม่ ๆ และ (d) นำกระแสความหลากหลายทางชีวภาพเข้าสู่ภาคส่วนการพัฒนาที่เกี่ยวข้อง

 

  โครงการ ACB Small Grants Programme (SGP)

                 มีเป้าหมายในการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการคุ้มครองและจัดการความหลากหลายทางชีวภาพในแหล่งธรรมชาติให้สอดคล้องกับความต้องการพื้นฐานของประชากรในท้องถิ่นในภูมิภาคอาเซียน โดยสร้างความเข้มแข็งให้กับ ACB ในการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ โดยการปรับปรุงการจัดการในพื้นที่อุทยานมรดกอาเซียนในอินโดนีเซีย เมียนมาร์ และเวียดนาม

 

  การดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง:

               1. การจัดทำแผนปฏิบัติการอุทยานมรดกอาเซียนระดับภูมิภาค ค.ศ. 2023-2030 ปัจจุบันอยู่ระหว่างยกร่างแผนปฏิบัติการฯ

               2. การประชุมอุทยานมรดกอาเซียน ครั้งที่ 7 (Seventh ASEAN Heritage Park Conference AHP 7) ระหว่างวันที่ 10-13 ตุลาคม 2565 ณ เมืองจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย การประชุมจัดขึ้นทุก 3 ปี เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเสริมสร้างมิตรภาพและเครือข่ายระหว่างผู้จัดการอุทยานมรดกอาเซียนและสมาชิกคณะกรรมการแผนงาน AHP คณะทำงานอาเซียนด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและหุ้นส่วนต่าง ๆ โดยการประชุม AHP7 จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Healing Nature and People: the Role of AHPs in Ecosystem Protection and Pandemic Recovery”

               3. การบูรณาการความหลากหลายทางชีวภาพเข้าสู่ภาคการเกษตร โดยราชอาณาจักรไทยในฐานะประเทศผู้นำ (lead country) การบูรณาการดังกล่าวได้นำเสนอการดำเนินงานระดับประเทศและระดับภูมิภาค อาทิ โครงการศึกษาจัดทำแนวทางปฏิบัติที่ดีและตัวชี้วัดความหลากหลายทางชีวภาพในภาคการเกษตร ความร่วมมือระหว่างไทย ACB และหน่วยงานอื่น ๆ ในระดับภูมิภาค พร้อมทั้งนำเสนอแนวทางการดำเนินงานต่อไป

               4. ประเทศไทย โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำโครงการเตรียมความพร้อมในการขับเคลื่อนกลไกตามร่าง พ.ร.บ. ความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. ... เสร็จสิ้นแล้วในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

               5. โครงการ Integration of National Capital Accounting in Public and Decision-Making for Sustainable Landscapes ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF) จำนวน 2,000,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 เห็นชอบการลงนามข้อตกลงความร่วมมือของโครงการ และเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 เลขาธิการ สผ. ผู้แทนโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และผู้แทนสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยได้ลงนามความร่วมมือ และ สผ. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับโครงการ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2565

 

 โครงการด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพที่ประเทศไทยเตรียมเข้าร่วมการดำเนินงาน:

               1. โครงการ Improving Biodiversity Conservation of Wetlands and Migratory Waterbirds in the ASEAN Region-Phase II (เป็นโครงการภายใต้ Japan-ASEAN Integrated Fund: JAIF)

               2. โครงการภายใต้โปรแกรมงานความหลากหลายทางชีวภาพในเมืองและพื้นที่สีเขียว (ASEAN Work Programme on Urban Biodiversity and Greenery 2022-2032)

               3. โครงการ Halting Species Loss in the ASEAN: Developing a Conservation Action Plan for Threatened Vertebrate Species in ASEAN